ทำไม....กรุงเทพถึงส่งเสริมเจ้านายสายเวียงจันทน์มากกว่าหลวงพระบาง?

จะเห็นว่าช่วงยุค 100 ปีหลังของลาวนั้น เวียงจันทน์แยกเขี้ยวยิงฟันใส่ ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเรามาตลอด คอยเป็นหูเป็นตาคาบข่าวภายในของเราไปแจ้งอังวะมั่ง , โจมตีหัวเมืองใต้อาณัติเรามั่ง, จนกระทั่งเราจัดกองทัพไปกวาดล้างปราบปรามจนราบคาบไปทีหนึ่ง

แต่ทำไมทั้งที่เวียงจันทน์ท้าตีท้าต่อยกับเราขนาดนี้ แต่กลับกลายเป็นว่า ภายหลังราชสำนักกรุงเทพกลับโปรเจ้านายสายเวียงจันทน์เอามากๆ ทั้งที่ก่อเรื่องถึงขั้นทำสงครามกัน ตั้งแต่รุ่นพ่อของเจ้าอนุวงศ์
ตรงกันข้ามกับหลวงพระบางซึ่งสงบเสงี่ยมเป็นมิตรกับพวกเราโดยดีมาตลอด ขนาดสงครามเวียงจันทน์-ธนบุรี เมืองหลวงพระบางยังจัดกองทัพมาสมทบกับเราตีเวียงจันทร์แท้ๆ  แต่การณ์กลับกลายเป็นเสมือนว่า(ช่วงก่อนจะเกิดเหตุการณ์กบฎเจ้าอนุ) ทางกรุงเทพให้ความสำคัญแก่สายเวียงจันทน์มาก ส่วนเจ้านายสายหลวงพระบางกลับด้อยฐานะกว่า และ ไม่ได้รับความไว้วางใจจากกรุงเทพเท่ากับเจ้านายสายเวียงจันทน์
เวลามีคดีเรื่องฟ้องร้องกัน มักจะเห็นฝั่งหลวงพระบางก็เหมือนจะเสียเปรียบแพ้คดีมากกว่า

ตามที่จริง มันน่าจะสลับฐานะกันว่า กรุงเทพน่าจะโปรหลวงพระบางมากกว่า เพราะ เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมากกว่า อริอย่างเวียงจันทน์
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
อยู่ที่ขั้วอำนาจในกรุงเทพ "หนุนหลัง" ครับ

- ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงพระบางได้รับความสำคัญมากกว่าเวียงจันทน์ เพราะหลวงพระบางมีส่วนช่วยสำคัญในการตีเวียงจันทน์และสถาปนาอำนาจสยามเหนือดินแดนล้านช้าง จากการที่เจ้าสุริยวงษา เจ้านครหลวงพระบางส่งกองทัพถึง ๓,๐๐๐ คน ลงมาช่วยสยามตีขนาบทัพเจ้าศิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ศัตรูคู่แค้นตลอดกาล

- แต่เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพ ไล่เลี่ยกับการสิ้นพระชนม์ของเจ้าสุริวงษา ซึ่งมีเจ้าอนุรุทธะขึ้นเป็นนครหลวงพระบางแทน ในขณะที่ฝ่ายเวียงจันทน์ เจ้านันทเสนโอรสเจ้าสิริบุญสารขึ้นเป็นเจ้านครเวียงจันทน์ เจ้านันทเสนนั้นได้รับการหนุนหลังจากราชสำนักกรุงเทพและเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้านันทเสนจึงวางแผนจะแก้แค้นหลวงพระบาง โดยมีศุภอักษรถึงราชสำนักกรุงเทพว่าหลวงพระบางแอบติดต่อกับพระเจ้าปดุงและรับทูตพม่ามาถึงหลวงพระบาง ทางกรุงเทพจึง 'ไฟเขียว' ให้เวียงจันทน์ตีหลวงพระบาง รบอยู่เดือนเศษจนตีเมืองแตก จับเจ้าอนุรุทธะกับเจ้าอุปราชนาคะ และเจ้าหลายหลวงพระบางใส่กรงแห่มากรุงเทพ

- หลวงพระบางร้างอยู่ ๔ ปีเศษ เจ้าเมืองชัยซึ่งเป็นเมืองขึ้นหลวงพระบาง จึงไปเฝ้าเจ้าฟ้าเชียงรุ่งแห่งสิบสิงปันนา ซึ่งสืบวงศ์ไทลื้อกับเจ้านายหลวงพระบาง ให้ช่วยเจ้านครหลวงพระบางโดยการส่งทูตไปราชสำนักปักกิ่งขออภัยโทษให้หลวงพระบาง (ราชสำนักปักกิ่งน่าจะให้ข้าหลวงมณฑลยูนหนานเป็นคนจัดการ เพราพงศาวดารหลวงพระบางบอกว่า "...พระเจ้าปักกิ่ง ๆ ทรงทราบแล้ว จึงมีรับสั่งทรงแต่งให้ฮ่อพระยาศรีป่องว้องเมืองเชียงรุ้ง สั่งให้แต่งพระยาสิณะพรมพร้อมกันถือเอาพิณลายจูมยีนกับสิ่งของมงคลเครื่องราชบรรณาการ มาทางเมืองน่านลงเรือที่ท่าแฝกล่องมาถึงกรุงเทพมหานคร พึ่งเจ้าพระยาสมุหนายก นำขึ้นเฝ้ากราบบังคมทูล แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ขอพระราชทานพระเจ้าร่มขาว เจ้าอุปราชเจ้านายบุตร หลานขึ้นไปตั้งบ้านเมืองให้เหมือนเช่นแต่ก่อน สมเด็จพระพทุธเจ้า อยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงทราบแล้ว จึงทรงปราไสด้วยราชทูตา นุทูตตามทางขัติยบุราณราชประเพณี แล้วมีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ทรงพระเมตตา ชุบเลี้ยงพระเจ้าร่มขาวแลเจ้าอุปราชให้อยู่ตามเดิม แล้วจึงทรงพระดำรัสโปรดให้ส่งขึ้นไปตั้งเมืองหลวงพระบาง กับทรงสั่งให้มีศุภอักษรขึ้นไปยังเมืองเวียงจันท์ ให้ส่งครอบครัวคืนขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง แล้วทรงพระราชทานสิ่งของให้ฮ่อพระยาศรีป่องว้อง พระยาสิณะพรมตามสมควร พระเจ้าร่มขาวแลเจ้าอุปราชนาคะเจ้านาย บุตรหลานฮ่อพระยาศรีป่องว้อง พระยาสิณะพรม ก็พร้อมกันถวายบังคมลากลับไปเมืองหลวงพระบาง..."   * ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ บอกเพียงว่าพระราชทานโทษเจ้านครหลวงพระบาง แต่ไม่ปรากฎเหตุที่พระราชทานโทษ น่าจะมีเค้าอยู่ไม่น้อย)

- เจ้าอนุรุทธ ตอนลงมาอยู่กรุงเทพก็ไปสร้างสัมพันธภาพกับขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ของสยามมาก เมื่อกลับมาครองหลวงพระบางอีกครั้ง แผนการณ์แก้แค้นเจ้านันทเสนก็เกิดขึ้นทันที โดยใช้ความสัมพันธ์ที่สร้างไว้ตอนอยู่กรุงเทพ เจ้าอนุรุทธจึงมีใบศุภอักษรลงมาฟ้องกรุงเทพว่า เจ้านันทเสนร่วมกับพระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนม ซ่องสุมผู้คนด้วยการไปกวดต้อนพวกไทดำและไทแดงตอนเหนือเวียดนามมาไว้ในเขตเวียงจันทน์จำนวนมาก และแอบติดต่อกับราชสำนักเว้ของเวียดนาม (คดีเดียวกับที่เจ้าอนุรุทธเคยโดน) ทางกรุงเทพซึ่งเริ่มระแวงเจ้านันทเสนมาบ้างแล้ว จึงนำเจ้านันทเสนและพระบรมราชามากักไว้ที่กรุงเทพ และตั้งเจ้าอินทวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าเวียงจันทน์แทน

- เจ้าอินทวงศ์ เจ้านครเวียงจันทน์องค์ใหม่ มีพระธิดาองค์หนึ่งเป็นเจ้ามารดาในรัชกาลที่ ๑ คือ เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพวดี (พระราชชายาในรัชกาลที่ ๒) ทำให้สายสัมพันธ์ของเจ้าอินทวงศ์กับราชสำนักกรุงเทพมีความแน่นแฟ้นอย่างมาก ทำให้สมัยนี้ เวียงจันทน์มีความสำคัญมากกว่าหลวงพระบาง บวกกับการสิ้นรัชกาลเจ้าอนุรุทธ และบารมีของเจ้ามังธาตุราช เจ้านครหลวงพระบางองค์ใหม่มีไม่เท่าเจ้าอนุรุทธพระบิดา

- เจ้าอนุวงศ์ พระอนุชาเจ้าอินทวงศ์ มาอยู่กรุงเทพตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถึงปลายรัชกาลที่ ๑ ได้ขึ้นครองเวียงจันทน์แทนพระเชษฐา เจ้าอนุวงศ์มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มอำนาจของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) กรมหมื่นศักดิพลเสพ และกรมหมื่นรักษ์รณเรศ แน่นอนว่าอำนาจเจ้าอนุวงศ์นั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเข้าสมัยรัชกาลที่ ๒ เพราะกลุ่มอำนาจของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เข้ามากุมอำนาจเกือบจะเด็ดขาดในรัชกาลนี้ จึงขั้นตั้งเจ้าราชบุตร (โย้) โอรสเจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองเป็นเจ้านครจำปาสักแทนเชื้อพระวงศ์เจ้าสร้อยศรีสมุทร แบบค้านสายตาของสภาขุนนาง

อำนาจของเจ้านายประเทศราช มักจะอิงแอบราชสำนักที่กรุงเทพเสมอครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่