ใครเกิดทัน ..... การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 (SEAP GAMES) ในปี พุทธศักราช 2510

การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 (SEAP GAMES - SOUTH EAST ASIA PENINSULAR GAMES) ในปี พุทธศักราช 2510 ที่ประเทศไทย เป็นการแข่งขันครั้งที่คนไทยปิติยินดีมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาเรือใบ ประเภท OK DINGHY โดยมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงเข้าร่วมการแข่งขันด้วยในเรือประเภทเดียวกัน




รายพระนามที่ปรากฏในเอกสาร ทะเบียนการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ซึ่งในช่อง Birth Place ระบุสถานที่ว่า Boston และมีรายพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภานุเดช และชื่อของ หม่อมราชวงศ์ สมชนก กฤดากร พล.ร.อ. มจ. กาฬวรรณดิส ดิสกุล พล.อ.อ. ทวี จุลทรัพย์ น.อ. อำนาจ นาคสวัสดิ์  น.ต. สันติภาพ หมู่มิ่ง และ ดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ อยู่ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือ เวคา 2 ใบเรือ หมายเลข TH27 ส่วน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงเรือเวคา 1 ใบเรือ หมายเลข TH 18


ผลการแข่งขันนั้นปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าหญิงทรงมีคะแนนเท่ากันคือ – 6 คะแนน อันดับที่ 2 RAZALI BIN LAZIM (มาเลเซีย) – 32.4 คะแนน ที่ 3 AUNG GYI (พม่า) – 35.4 คะแนน ที่ 4 YAW KIN (พม่า) – 40.4 คะแนน ที่ 5 SYED MOHD BIN SYED YAHAYA (มาเลเซีย) – 45.4 คะแนน

เนื่องจากตำแหน่งที่ 1 นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงทรงมีคะแนนเท่ากัน คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ผู้แทนจากสหพันธ์เรือใบแห่งนานาชาติ และ ผู้แทนชาติที่เข้าร่วมแข่งขันอันประกอบด้วย พลเรือเอกศิริ กระจ่างเนตร ประธานที่ประชุม มร.โจนาธาน แซมซัน ผู้แทนสหพันธ์เรือใบแข่งนานาชาติ มร.เดวิด สัน จากมาเลเซีย มร.พอล วีเบน และ มร.ฮัน ทุน จากพม่า จึงได้เปิดประชุมกันขึ้น

คณะกรรมการชุดนี้ได้ใช้เวลาประชุมอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงตกลงพร้อมกันถวายชัยชนะอันดับที่ 1แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง ทรงได้รับเหรียญทองเรือใบประเภท โอ.เค.ทั้งสองพระองค์ ส่วนตำแหน่งที่ 2 เหรียญเงินได้แก่ ลาซาริ แห่งมาเลเซีย และ ที่ 3 ยัน ขิ่น แห่งพม่า

มีการมอบเหรียญรางวัลในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งวันนั้นได้กลายเป็นวันประวัติศาสตร์วงการกีฬาของประเทศไทย และ ถูกกำหนดให้เป็นวันกีฬาแห่งชาติมาจนถึงปัจจุบัน

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คลิปการแข่งขันและการถวายเหรียญรางวัล


ในการแข่งขันครั้งนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขัน โดยคณะกรรมการประมวลผลและสถิติ ได้จัดทำเอกสารทะเบียนการแข่งขันกีฬาออกเผยแพร่และแจกจ่ายให้ประเทศสมาชิก โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดทำ ซึ่งในปีพุทธศักราช 2510 นั้น ประเทศไทยพึ่งนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจการต่างๆได้เพียง 4 ปี โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2506 เครื่องคอมพิวเตอร์ที่นำเข้ามาเป็นครั้งแรกคือ เครื่อง IBM 1620 ( ราคาในขณะนั้นประมาณสองล้านบาทเศษ ) ซึ่งติดตั้งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2507  เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่สอง ได้แก่ “เมนเฟรมคอมพิวเตอร์” IBM 1401 ( มูลค่าประมาณแปดล้านบาท ) ติดตั้งที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมีหน่วยงานเอกชนเช่นธนาคารได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในระยะนั้นเช่นกัน แต่มีจำนวนไม่กี่เครื่อง

จึงสันนิษฐานว่า ทะเบียนการแข่งขันเล่มที่นำมาให้ชมนี้ จะพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ของคอมพิวเตอร์หนึ่งในสองเครื่องแรกของประเทศไทย และเมื่อดูจากตัวอักษรที่พิมพ์แล้ว น่าจะเป็นเครื่องพิมพ์แบบที่เรียกว่า Line Printer ซึ่งนิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ในยุคแรกๆ โดยมีตัวพิมพ์คล้ายตัวพิมพ์ดีด และสามารถพิมพ์ได้รวดเร็วมาก

ทะเบียนการแข่งขันเล่มนี้มีหลายส่วน ส่วนที่นำมาให้ชมนี้เรียงตามชนิดของกีฬา และมีรายชื่อของนักกีฬาทุกชาติทุกท่านที่เข้าร่วมการแข่งขัน ส่วนรายพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ในหน้าที่ 63 ของเล่ม ส่วนรายพระนามที่นำมาใหชมในภาพแรก เป็นการเรียงตามประเทศของนักกีฬา ซึ่งจะระบุสถานที่เกิดและวันเดือนปีเกิดไว้ด้วย

ในทะเบียนนี้ มีชื่อของนักกีฬาไทยที่โด่งดังหลายท่าน ซึ่งได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนั้นด้วย เช่น ชัยยะ สุขจินดา นักยกน้ำหนัก ปรีดา จุลละมณฑล นักจักรยาน อาณัติ รัตนพล นักกรีฑา ยรรยงค์ ณ.หนองคาย เชาวน์ อ่อนเอี่ยม นักฟุตบอลล์  พล.ต.ต. รังสิต ญาโณทัย นักยิงปืน เป็นต้น

นักกีฬาทุกชาติและทุกท่านเหล่านี้ ถือว่าได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬา ที่มีนักกีฬาเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงร่วมการแข่งขันด้วย จึงได้นำเสนอไว้เพื่อเป็นเกียรติยศตราบชั่วกาลปาวสาน

----------------------------------------------------------------------------------------------
กระทู้เรื่องเก่าของ อิสิ

สมุด เทอดธรรม
https://ppantip.com/topic/32250934

สูจิบัตรของโรงภาพยนต์กรุงเกษม เมื่อครั้งเปิดกิจการ
https://ppantip.com/topic/31251819

100 ปีชาตกาล ฑัต เอกฑัต
https://ppantip.com/topic/31473906

๑๐๐ ปีชาตกาล ของผู้เปิดตำนาน "โก๋หลังวัง" เซียวก๊ก - บัณฑูร องค์วิศิษฐ์
https://ppantip.com/topic/36613249

ใครเกิดทัน ..... หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗
https://ppantip.com/topic/36575697

ใครเกิดทัน ..... ทองคำแท่ง บาทละ 425 บาท
https://ppantip.com/topic/36595821

ใครเกิดทัน ..... พิมพ์ไทย หนังสือพิมพ์รายวันเช้า ฉบับแรกของไทย
https://ppantip.com/topic/36631299

ใครเกิดทัน ..... อาภัสรา หงสกุล ได้เป็นนางสาวไทย
https://ppantip.com/topic/36655193

ใครเกิดทัน ..... สี่ผู้บุกเบิก จตุรเทพแห่งวงการยานยนต์ไทย The Four Pioneers
https://ppantip.com/topic/36678220

ใครเกิดทัน ..... แดนดารา นิตยสารบันเทิง แมวเก้าชีวิตแห่งวงการ
https://ppantip.com/topic/36723087

ใครเกิดทัน ..... วันเฉลิมพระชนม์พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว
https://ppantip.com/topic/36756777
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่