ปูพื้นประวัติศาสตร์คริสตศาสนาในญี่ปุ่นก่อนชมภาพยนตร์ SILENCE / ศรัทธาไม่เงียบ

(จริง ๆ เขียนบทความนี้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว แต่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์เลยขอนำมาลงไว้ที่นี่โดยดัดแปลงแก้ไขข้อมูลบางส่วนค่ะ)

ภาพยนตร์เรื่อง Silence/ศรัทธาไม่เงียบ เข้าฉายอยู่ในไทยวันนี้เป็นวันแรก ภาพยนต์เรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์เรื่อง 沈黙 (Chinmoku) หรือ Silence ของนักเขียนนวนิยายชาวญี่ปุ่นที่เป็นคาทอลิก เอ็นโด ชูซากุ (遠藤周作) กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี่ (Martin Scorsese)

ในเรื่องเป็นเหตุการณ์ในญี่ปุ่นช่วงคริสตศวรรษที่ 17 บาทหลวงเฟอร์เรร่า (เลียม นีสัน) เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่ประเทศญี่ปุ่น และต่อมาส่งจดหมายมายังบ้านคณะที่มาเก๊าว่าได้ประกาศทิ้งศาสนาแล้ว บาทหลวงโรดิเกซ (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) และ บาทหลวงการูเป้ (อดัม ไดรเวอร์) ผู้เป็นศิษย์จึงลักลอบเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเบียดเบียนศาสนาเพื่อพิสูจน์ความจริง

อย่างไรก็ตามเนื้อเรื่องไม่ได้ปูพื้นถึงการเข้ามาของศาสนาคริสต์ในประเทศญี่ปุ่น และเหตุใดศาสนาคริสต์จึงกลายเป็นศาสนานอกรีตในสายตาผู้ปกครองจนต้องกวาดล้างให้สิ้น จากที่เราได้ศึกษาด้วยตนเองจึงขอนำมาแบ่งปันเพื่อจะได้เข้าในบริบทของเนื้อเรื่องมากขึ้นไว้ ณ ที่นี้


ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เผยแผ่เข้าสู่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในราวปี 1549 ที่ยังอยู่ช่วงยุคสงครามกลางเมือง โดยบาทหลวงฟรังซิสเซเวียร์ (Francis Xavier) แห่งคณะเยซูอิตที่มีโปรตุเกสเป็นผู้สนับสนุนได้ขึ้นฝั่งที่คาโกชิม่าและเริ่มเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นเริ่มมีบาทหลวงและภารดาจากคณะอื่น ๆ เช่น คณะฟรังซิสกันและคณะโดมินิกันที่มีสเปนเป็นผู้สนับสนุนเข้าไปแพร่ธรรมด้วย มีผู้เข้ารับศีลล้างบาปมากมายนับแสนคนไดเมียวผู้ครองเขตต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ การที่ผู้ปกครองยอมให้มีการเผยแพร่ศาสนา ส่วนหนึ่งด้วยผลประโยชน์ที่ได้จากชาติตะวันตกที่มีบาทหลวงเป็นคนกลางช่วยเจรจาด้านการค้าและอาวุธยุทโธปกรณ์ ศาสนาคริสต์ในยุคนั้นรุ่งเรืองมากมีการสร้างวิทยาลัยเตรียมบาทหลวงในหลายพื้นที่ของคิวชู


ภาพนักบุญฟรังซิสเซเวียร์


ต่อมาเมื่อการปกครองเปลี่ยนมือไปยังโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (豊臣秀吉) ผู้รวมประเทศให้เป็นหนึ่งซึ่งเริ่มมองว่า ศาสนาคริสต์อาจเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองในภายหน้าจึงได้ออกคำสั่งขับไล่บาทหลวงคาทอลิกในปี 1587 เรียกว่า "บาเตเรนทซึยโฮเร" (伴天連追放令 บาเตเร็น มาจากภาษาโปรตุเกส Padre แปลว่าคุณพ่อ, บาทหลวง) เพื่อควบคุมกิจกรรมการเผยแพร่ศาสนา แต่เนื่องจากยังมีผลประโยชน์ทางการค้ากับชาติตะวันตกอยู่คำสั่งนี้จึงไม่ได้บังคับใช้อย่างรุนแรงนัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เรือ San Felipe ที่เดินทางจากมะนิลาไปยังเม็กซิโกถูกพายุพัดเสียหายและเกยตื้นที่ชายฝั่งญี่ปุ่นในปี 1596 เจ้าหน้าที่รัฐบาลพบสินค้าและปืนใหญ่จำนวนมากจึงยึดไว้ บาทหลวงบนเรือพยายามเจรจาช่วยเหลือกัปปิตันให้ได้สินค้าคืน แต่มีผู้ยุยงบอกฮิเดโยชิว่าทั้งอาวุธที่พบและกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ทั้งปวงมีการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกอยู่เบื้องหลัง ฮิเดโยชิจึงออกประกาศบังคับห้ามประชาชนนับถือศาสนาคริสต์อีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม 1596 และนำมาซึ่งการจับกุมบาทหลวง ภราดาที่อยู่บนเรือและคริสตังในพื้นที่เกียวโตและโอซาก้ารวม 26 คน ในจำนวนนี้มีเด็กอายุเพียง 12 ปีรวมอยู่ด้วย ทุกคนถูกเฉือนใบหูและบังคับให้เดินเท้าท่ามกลางความหนาวเย็นเป็นระยะทางนับพันกิโลเมตรจากเกียวโตไปยังเนินนิชิซากะที่นางาซากิ พวกเขาถูกประหารบนไม้กางเขนในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1597 ภายหลังทั้ง 26 คนได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญมรณสักขีแห่งญี่ปุ่น


ภาพเหตุการณ์ประหาร 26 นักบุญมรณสักขีแห่งญี่ปุ่นที่เนินนิชิซากะ เมืองนางาซากิ


โทโยโทมิ ฮิเดโยชิเสียชีวิตลงในปี 1598 และเกิดสงครามชิงอำนาจขึ้นอีกครั้ง ชัยชนะตกเป็นของโตกุกาวะ อิเอยาสึในสงครามชี้ขาดที่ทุ่งเซกิงาฮาระ อิเอยาสึขึ้นเป็นโชกุนและยังคงนโยบายต่อต้านศาสนาคริสต์โดยออกคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ (禁教令) มีผลทั่วประเทศในปี 1614 หลังจากนั้น เมื่ออิเอยาสึเสียชีวิตลงในอีกสองปีถัดมา ฮิเดะทาดะผู้เป็นบุตรชายสืบอำนาจแทนและดำเนินนโยบายอย่างเฉียบขาด มีการตรวจสอบและกวาดล้างผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่ไม่ยอมทิ้งศาสนามากมาย

ในยุคสมัยของอิเอมิตสึ โชกุนรุ่นที่สามของตระกูลโตกุกาวะ มีเหตุการณ์สำคัญคือ กบฏชิมาบาระ (島原の乱) ที่ชาวนาคริสตังในพื้นที่ชิมาบาระ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนางาซากิ) และอามาคุสะ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดคุมาโมโต้) ที่ทุกข์ทรมานจากการถูกเบียดเบียนศาสนาและขูดรีดภาษีร่วมกันก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลขึ้นในช่วงปลายปี 1637 โดยมีอามาคุสะ ชิโร่ โทคิซาดะ (天草四郎時貞) วัย 16 ปีเป็นผู้นำ การต่อสู้ของกลุ่มกบฏกับกองทัพผสมของรัฐบาลสิ้นสุดลง ณ ซากปราสาทฮาระในต้นปี 1638 สมาชิกกลุ่มกบฏทั้งชายหญิงเด็กคนชราทั้ง 37,000 คนตายสิ้น นอกจากนี้อิเอมิตสึทยอยดำเนินนโยบายปิดประเทศ (鎖国) สืบต่อจากบิดาและสำเร็จในปี 1639 เช่น จำกัดการทำการค้ากับชาติตะวันตกเหลือเพียงฮอลันดาชาติเดียวที่เดะจิมะที่นางาซากิ เนรเทศลูกครึ่งระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวโปรตุเกส ห้ามชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศ และห้ามบาทหลวงต่างชาติเข้าประเทศ เป็นต้น



รูปปั้นอามาคุสะ ชิโร่ที่ซากปราสาทฮาระ ปัจจุบันอยู่ในเมืองมินามิชิมาบาระ


ด้วยศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนานอกรีตและมีการบังคับให้ทุกครัวเรือนขึ้นทะเบียนสังกัดวัดพุทธในพื้นที่ สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องเข้าพิธีเอะบุมิ (絵踏み) โดยเหยียบแผ่นโลหะรูปพระคริสต์หรือพระแม่มารีย์ที่เรียกว่า ฟุมิเอะ (踏み絵) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านทุกปี คริสตังที่ยังคงความเชื่อศรัทธาไว้อยู่หลายครอบครัวหลบหนีไปอยู่ในที่ห่างไกล เช่น เกาะฮิราโดะ เกาะโกโต้ และแสดงตนเบื้องหน้าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่เบื้องหลังยังคงรักษาความเชื่อและทำพิธีกรรมอย่างลับ ๆ คนเหล่านี้เรียกกันว่า คริสตังลับ (潜伏キリシタン / 隠れキリシタン)


แผ่นฟุมิเอะที่ทำเป็นรูปพระคริสต์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์คริสตังเมืองฮิราโดะ

คริสตังลับดัดแปลงวัตถุบูชา บทสวด พิธีกรรม คำเรียกขานให้คล้ายกับของพุทธเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้รูปปั้นพระโพธิสัตว์หญิงอุ้มทารกของศาสนาพุทธแทนพระแม่มารีย์และพระบุตรเรียกว่า "มาเรียคันนง" (マリア観音) การแปลงบทสวดสรรเสริญพระเจ้า "โอราโช" (おらしょ) ให้ฟังคล้ายพระสูตร การเปลี่ยนคำเรียกขานเช่น "ซันตะมารุยะ" (さんたまるや) แทนพระแม่มารีย์ ไปจนถึงการสร้างหิ้งลับหรือห้องลับสำหรับทำพิธี แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น


ภาพมาเรียคันนง (หรือมาริยะคันนง) ถ่ายจากพิพิธภัณฑ์คริสตังเมืองฮิราโดะ


การหลบซ่อนนี้ดำเนินต่อเนื่องสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นเป็นเวลานานเกือบ 230 ปีโดยไร้คำชี้แนะจากบาทหลวงจากพระศาสนจักรคาทอลิกจนกลายเป็นธรรมเนียมสืบทอดในครอบครัว เมื่อมีการเปิดประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าและมีการสร้างโบสถ์เพื่อรองรับกิจกรรมทางศาสนา  คริสตังลับกลุ่มหนึ่งจากหมู่บ้านอุราคามิได้แสดงตัวต่อคุณพ่อชาวฝรั่งเศสที่โบสถ์โออุระที่นางาซากิในปี 1865 จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ไปถึงยุโรปและวาติกันว่ายังมีคริสตังหลงเหลืออยู่ในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาด้วยแรงกดดันจากชาติตะวันตกญี่ปุ่นจึงยกเลิกคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ในปี 1873 และประชาชนได้รับอิสรภาพในการนับถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญในปี 1889 เป็นอันสิ้นสุดความทุกข์ยากของคริสตังชาวญี่ปุ่นที่กล่าวกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างหลายหมื่นคน


ภาพสลักนูนต่ำแสดงเหตุการณ์คริสตังลับแสดงตัวที่โบสถ์โออุระ เมืองนางาซากิ ในปี 1865



เนื้อหาสรุปคร่าว ๆ ของประวัติศาสตร์คริสตศาสนาในประเทศญี่ปุ่นเป็นดังข้างต้น จริง ๆ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก หากมีโอกาสจะอธิบายเพิ่มเติม ขอบคุณค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่