[CR] สีที่มีชื่อลงท้ายว่า "ชิลด์" เป็นสีคุณภาพสูงจริงหรือ ?


รีวิวนี้ได้ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน จึงขอมาปรับปรุงเพิ่มเติม


     เดี๋ยวนี้ได้ยินบ่อยๆทั้งจาก ผู้รับเหมา, ช่างสี, ร้านค้าสี, พนักงานขาย / PC, เจ้าของบ้าน รวมทั้งกระทู้ต่างที่เกี่ยวข้องกับงานสี ใน pantip ที่พูดถึงอยู่เสมอว่า "สีตระกูลชิลด์"  >>  แล้วมันหมายถึง "สีอะไร" ?

     ก่อนอื่นมาดูคำแปล หรือความหมายของคำว่า "ชิลด์ / shield" กันก่อน
     
     cr. https:dict.longdo/search/shield


     จึงอยากมาเล่าเรื่องที่มา ที่ไป ของชื่อสีที่มักมีการลงท้ายว่า  " Shield "  เหล่านี้กัน  >>  สมัยเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน  สีสำหรับงานทาผิวปูน-คอนกรีตนั้น  จะเป็น "สีน้ำพลาสติก"  หรือ  สีน้ำโพลีไวนิลอะซิเตต (Polyvinyl Acetate Emulsion / PVAc)  โดยบางครั้งช่างก็เรียกกันย่อๆว่า "สีน้ำ" บ้าง  "สีพลาสติก" บ้าง

      ซึ่งส่วนประกอบของเนื้อกาว หรือ ฟิล์มสี (Resin) จะประกอบด้วยสารอะครีลิค (Acrylic) กับ ไวนิล (Vinyl) ร่วมกัน  สีชนิดนี้ทนต่อสภาวะอากาศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศเราได้ดีพอสมควร แต่ก็ไม่ยาวนานนัก  เพราะโซนบ้านเราประกอบทั้งรังสี UV ที่รุนแรง และมีฝน & ความชื้นสูงมาก  จะมีอายุงานสีประมาณ 3-6 ปี (แล้วแต่เกรด / ยี่ห้อ),  โดยผู้นำตลาดบนสมัยนั้นก็จะเป็นสียี่ห้อต่างประเทศเป็นหลัก (และเป็นค่านิยมคนยุคสมัยนั้น)  อาทิ  ICI, Sissons, Sinclair, Sherwin Williams, Pammastic, Sigma, Dimet  โดยจะมีสีคนไทยอยู่บ้างก็คือยี่ห้อ  >  Captain (แต่ก็ต้องแฝงเนียนเป็นสี ตปท.ไปในสื่อโฆษณา & บน Catalog) เป็นต้น  

              
                 
     หมายเหตุ : บทความ / รีวิวนี้ จะเน้นเฉพาะสีภายนอกเป็นหลัก   


      ต่อมาราว 35-40 ปีก่อน สถาปนิกได้พยายามถามหา และคัดเลือกหาสีที่มีคุณภาพคงทนมากขึ้น  ก็มีบริษัทผู้ผลิตจำหน่ายสีบางราย  อาทิ  ICI (Dulux), Jotun  และ  TOA  ก็แนะนำให้มาเลือกใช้  "สีน้ำมันคลอรีเนเต็ดรับเบอร์"  หรือ  Chlorinated Rubber  ที่เนื้อกาว / ฟิล์มสีทำมาจาก คลอรีน กับ สารโพลีโอลิฟิน  เป็นสีสูตรน้ำมัน  ฟิล์มสีมีความยืดหยุ่นเล็กน้อย ทนต่อสภาพความเป็นด่างของปูนได้ดี ทนทานต่อสารเคมีได้ดี  โดยนิยมใช้ในงานสีอุตสาหกรรม  แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในสีทาอาคาร  >>  แต่ด้วยมีราคาสูง ประกอบทั้งเป็นสีสูตรน้ำมัน (Solvent Based) จึงไม่ค่อยนิยมแพร่หลายนัก รวมทั้งมีข้อจำกัดบางอย่าง  >>  สีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหม่น (สีงาช้าง)  และสีสดหรือสีเข้มจะเพี้ยน & ซีดจางเร็ว
หมายเหตุ : ปัจจุบันสีประเภทนี้ ก็ยังคงมีนิยมใช้ในงานสีอุตสาหกรรมอยู่บ้าง

      ต่อมาก็มาสู่ยุค "สีน้ำอะครีลิค"  >>  ด้วยความก้าวหน้าของวงการปิโตรเคมี  ที่สามารถสกัดเคมีภัณฑ์ต่างๆออกมาได้มากขึ้น นำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบผลิตวัสดุต่างๆ รวมทั้ง "สารอะครีลิค 100%"  ทำให้มีการเปลี่ยนโฉมวัสดุต่างๆมากมาย  อาทิ  เลนซ์แว่นตา สมัยก่อนเป็นกระจก ซึ่งตกแล้วมักแตกหรือร้าวต้องไปทำใหม่เสมอๆ  หรือโคมไฟหน้า / ไฟท้ายรถยนต์สมัยก่อนก็ล้วนแต่เป็นแก้วทั้งสิ้น  แต่ปัจจุบันก็เป็นอะครีลิคกันหมดแล้ว . . . . รวมทั้งวงการสีก็เช่นเดียวกัน ที่สามารถใช้เนื้อกาว ฟิล์มสี (Resin) ที่ทำมาจากสารอะครีลิค 100% ได้   ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการป้องกันด่างในปูน-คอนกรีตได้ดี  ให้ยึดเกาะได้ดี  และทนรังสี UV ได้ดีกว่าสีน้ำพลาสติกยุคก่อนค่อนข้างมาก  รวมทั้งมีการพัฒนาสาร "ผงสี" หรือ Pigment ก็พัฒนาดีตามมาด้วย จึงเกิด "สีน้ำอะครีลิค 100%" (Pure Acrylic Emulsion) ขึ้นมา


     ในประเทศไทย ในปั พศ.2522 ผู้ผลิตจำหน่ายสีที่พัฒนาและทำการตลาดสีน้ำอะคริลิคอย่างจริงจัง คือ  TOA ที่เป็นสีเกรดกลางๆในยุคนั้น  โดยทำการตลาดแบบที่เน้นผลิตภัณฑ์ในชื่อ Supershield  โดยไม่อิงหรือสื่อไปในยี่ห้อ TOA  ซึ่งที่กระป๋องหรือบน Catalog แทบจะสังเกตุไม่เห็น Logo ของ TOA เลย  ด้วยต้องการล้างภาพสีเกรดล่างของตนเองออกไป ซึ่งก็คล้ายกับการตลาดของ TOYOTA กับ LEXUS  (ขณะที่ ICI และ Sherwin Williams มีสินค้าประเภทนี้แต่ก็ไม่ทำตลาด  คงยังเน้นไปทำตลาดสี Chlorinated Rubber อยู่)

      TOA  :  ใช้ชื่อ Supershield Acrylsilk 10  >>  ที่รับประกันคุณภาพ 10 ปีเป็นรายแรก (เลข 10)  มีฟิล์มสีเนียนประดุลไหม (silk)
      ICI  :  ใช้ชื่อ Dulux Weathershield
      Sherwin Williams  :  ใช้ชื่อ Kem Latex

      และต่อมาอีก 1-2 ปี ก็มียี่ห้อ Captain ออกผลิตภัณฑ์ Parashield (ปัจจุบันคือ Parashield CoolMax) และ ยี่ห้อ Pammastic : Pammacrylic Shield ตามออกมา  >>  จะเห็นได้ว่าแต่ละรายก็มีคำว่า " Shield "  ลงท้ายชื่อผลิตภัณฑ์ของตนเองพ่วงด้วยเสมอ (แต่ยี่ห้อ ตปท. คงใช้ชื่อตามบริษัทแม่อยู่ อาทิ Sherwin Williams : Kem Latex)

         

     ซึ่ง " สีทีโอเอ ซุปเปอร์ชิลด์ " ถือเป็นเรือธงที่ทำให้ยี่ห้อ TOA ของคนไทยก้าวขึ้นสู่สีเกรดบน และเริ่มได้รับการยอมรับในวงการก่อสร้าง และยอดขายค่อยๆขยับขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งของไทย  โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศถึง 48% (ในปี 2559) จนทิ้งห่างจากอันดับ 2, 3, 4 และ 5 ค่อนข้างมาก  และยังขยายตัวไปในตลาด Asian อีก 9 ประเทศ  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
     ที่มา  :  http://www.toagroup.com/about-us/TOA-history     

     ด้วยบทพิสูจน์ของสีอะครีลิค 100% อาคารนับร้อย . . . นับพันโครงการ  อาทิ  Centeral Plaza  และ  Hyatt Central Plaza Hotel (ชื่อสมัยนั้น) ห้าแยกลาดพร้าว ที่สีทนทานมานานร่วม 30 ปี จนหมดสัมปทานกับ รฟท. (ประมาณปี 2557)  ก็ไม่เคยมีการ Renovate งานสีเลย >> จนเมื่อมีการต่อสัมปทานเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จึงมีการปรับปรุงทาสีกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็เลือกใช้ TOA Supershield เช่นเดิม (รวมทั้งงานโครงการต่างๆของ Central Pattana)  รวมทั้งตึกใบหยกทาวเวอร์ 1 และ 2

     
     "เส้นทางหลากสี" เถ้าแก่ TOA  >>  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


      ดังนั้น จึงเป็นความเชื่อว่า หากสีรุ่นใดมีชื่อ "ชิลด์ / Shield"  คือสีอะครีลิค 100%  จะมีคุณภาพสูงกว่าสีน้ำพลาสติกรุ่นเดิมๆ  >>  คล้ายๆสมัยก่อนในวงการรถยนต์ ที่รถรุ่นใดมีระบบ กระจกไฟฟ้า, Central Lock, ABS, Air Bag ถือว่าเป็นรถเกรดดี (เริ่มแรกมีแต่ในรถยุโรป)  แต่หลักคิดนี้คงมาใช้ในปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว เพราะ  City, Jazz, Vios หรือ Yaris ก็มีสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว  แต่อย่างไรก็ตามรถยุโรปหรือญี่ปุ่นรุ่น Top ก็จะต้องเสริมสร้างประสิทธิภาพพิเศษต่างๆเพื่มขึ้นมาตลอดเวลา

       ตั้งแต่นั้นมา บริษัทผู้ผลิตสีต่างๆก็ออกผลิตภัณฑ์สีน้ำอะครีลิค  โดยมีพ่วงชื่อ "Shield" กับสินค้าตัวเองเสมอ (แม้แต่สี Jotun ที่ออกผลิตภัณฑ์เกรดนี้ภายหลัง ถึงจะเป็นสี ตปท. ก็มาเล่นชื่อแบบนี้ คือ "Jotashield")  อาทิ  CIC : Homeshield, Delta : Delta Shield, Nippon Paint : Color Shield, Beger : Synotex Shield เป็นต้น  เพื่อที่จะสร้างภาพพจน์สินค้าของตนเองให้เป็นที่ยอมรับในตลาดบนๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวก็เยอะ  >>  จนปัจจุบันมีสีที่ลงท้ายด้วย "ชิลด์ / Shield" มากมายหลายสิบหลายร้อยยี่ห้อ  อาทิ  Hybrid Shield, Turbo Shield, Future Shield, Beauty Shield, Smart Shield, Power Shield, NanoPro Shield, Lobster Shield (กุ้งล็อบสเตอร์ ก็มากับเขาด้วย)  และอื่นๆอีกมากมาย  >>  จึงมีสีอะครีลิคภายนอก "ตระกูลชิลด์"  ราคาตั้งแต่ 1,000 ต้นๆจนถึง 4,000 กว่าบาท / ถังใหญ่ (18.9 ลิตร)
(ปัจจุบันแทบไม่มีสีน้ำพลาสติกหลงเหลืออยู่ในตลาดแล้ว ล้วนเป็นสีอะครีลิค 100% แทบทั้งสิ้น)     

      รวมทั้งในยี่ห้อเดียวกัน ก็อาจจะมีสีที่ลงท้ายชื่อด้วย "ชิลด์" หลายรุ่นด้วย  ดังนั้นอย่าได้เพียงบอกช่างสีหรือร้านค้าขายสีว่าต้องการ "สีตระกูลชิลด์" เพราะอาจจะไม่ได้สีพรีเมี่ยมเกรดตามที่ต้องการครับ อาทิ

     TOA  :  Supershield  >>  Extra Shield  >>  Shield 1 Nano

     ICI  :  Dulux Weathershield Flexx  >>  Dulux Weathershield Ultima  >>  Dulux Pentalite Shield

     Captain  :  Parashield CoolMax  >>  Shield Plus  >>  Repaint TriShield  >>  Waxy Shield

     Pammastic  :  Dirt Shield  >>  Pammacrylic Shield  >>  Permoshield

     Nippon Paint  :  Colorshield  >>  Triple Shield  >>  NeoShield  >> Vinilex HybridShield

     Beger  :  Begershield  >>  Synotex Shield  >>  Begercool UV Shield  >>  NanoPro Shield


หวังว่า สมาชิก pantip คงเข้าใจที่มาที่ไปของ "สีตระกูลชิลด์" และเข้าใจการเลือกซื้อ  เลือกใช้สีกันมากขึ้นนะครับ
หากไม่แน่ใจว่า "สียี่ห้อต่างประเทศ น่าจะดีกว่าสียี่ห้อคนไทย" จริงหรือไม่? แนะนำอ่านกระทู้ที่ http://ppantip.com/topic/34465357

หรือต้องการความรู้ "เกร็ดความรู้ สีทาบ้าน" แนะนำอ่านที่  https://ppantip.com/topic/36068171


ดังนั้นปัจจุบันจะใช้ความเชื่อที่ว่า สีที่มีคำว่า "ชิลด์" พ่วงท้าย จะเป็นสีพรีเมี่ยมเกรด คงจะไม่ได้เสียแล้ว
ชื่อสินค้า:   สีทาบ้าน
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่