[SR] สีที่มีชื่อลงท้ายว่า "ชิลด์" เป็นสีเกรดดีจริงหรือ ?


รีวิวนี้ได้ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน จึงขอมาปรับปรุงเพิ่มเติม


     เดี๋ยวนี้ได้ยินบ่อยๆทั้งจาก ผู้รับเหมา, ช่างสี, ร้านค้าสี, พนักงานขาย/PC, เจ้าของบ้าน รวมทั้ง post ใน pantip ที่พูดถึงอยู่เสมอว่า "สีตระกูลชิลด์" >> แล้วมันหมายถึง "สีอะไร" ?

ความหมายของคำว่า "ชิลด์ / shield" [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


      จึงอยากมาเล่าเรื่องที่มา / ที่ไป ของชื่อสีที่มักมีการลงท้ายว่า  "Shield"  เหล่านี้กัน  >>  สมัยเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน  สีสำหรับงานทาผิวปูน-คอนกรีตนั้น  จะเป็น "สีน้ำพลาสติก" หรือ สีน้ำโพลีไวนิลอะซิเตต (Polyvinyl Acetate Emulsion / PVAc)  โดยบางครั้งช่างก็เรียกกันย่อๆว่า "สีน้ำ" บ้าง  "สีพลาสติก" บ้าง

      ซึ่งส่วนประกอบของเนื้อกาว / ฟิล์มสี (Resin) จะประกอบด้วยสารอะครีลิค (Acrylic) กับ ไวนิล (Vinyl) ร่วมกัน  สีชนิดนี้ทนต่อสภาวะอากาศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศเราได้ดีพอสมควร แต่ก็ไม่ยาวนานนัก  เพราะโซนบ้านเราประกอบทั้งรังสี UV ที่รุนแรง และมีฝน & ความชื้นสูงมาก  จะมีอายุงานสีประมาณ 3-6 ปี (แล้วแต่เกรด / ยี่ห้อ),  โดยผู้นำตลาดบนสมัยนั้นก็จะเป็นสียี่ห้อต่างประเทศเป็นหลัก (และเป็นค่านิยมคนยุคนั้น)  อาทิ  ICI, Sissons, Sinclair, Sherwin Williams, Pammastic, Sigma และ จะมีสีคนไทยอยู่บ้างก็ยี่ห้อ  >  Captain (แต่ก็ต้องแฝงเนียนเป็นสี ตปท.ไปในสื่อโฆษณา & บน Catalog) เป็นต้น  

  
หมายเหตุ : บทความ / รีวิวนี้ จะเน้นเฉพาะสีภายนอกเป็นหลัก   

      ต่อมาราว 35-40 ปีก่อน สถาปนิกได้พยายามถามหา / คัดเลือกหาสีที่มีคุณภาพคงทนมากขึ้น  ก็มีบริษัทผู้ผลิตจำหน่ายสีบางราย  อาทิ  ICI (Dulux), Jotun  และ  TOA  ก็แนะนำให้มาเลือกใช้  "สีน้ำมันคลอรีเนเต็ดรับเบอร์" หรือ Chlorinated Rubber  ที่เนื้อกาว / ฟิล์มสีทำมาจาก คลอรีน กับ สารโพลีโอลิฟิน ฟิล์มสีมีความยืดหยุ่นเล็กน้อย ทนต่อสภาพความเป็นด่างของปูนได้ดี ทนทานต่อสารเคมีได้ดี  โดยนิยมใช้ในงานสุอุตสาหกกรรม แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในสีทาอาคาร  >>  แต่ด้วยมีราคาสูง ประกอบทั้งเป็นสีสูตรน้ำมัน (Solvent Based) จึงไม่ค่อยนิยมแพร่หลายนัก รวมทั้งมีข้อจำกัดบางอย่าง >> สีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหม่น (สีงาช้าง) และสีสดหรือสีเข้มจะเพี้ยน/ซีดจางเร็ว
หมายเหตุ : ปัจจุบันสีประเภทนี้ ก็ยังคงมีนิยมใช้ในงานสีอุตสาหกรรมอยู่บ้าง

      ต่อมาก็มาสู่ยุค "สีน้ำอะครีลิค"  >>  ด้วยความก้าวหน้าของวงการปิโตรเลี่ยม ที่สามารถสกัดเคมีภัณฑ์ต่างๆออกมาได้มากขึ้น นำไปใช้การออกแบบผลิตวัสดุต่างๆ รวมทั้ง "สารอะครีลิค 100%"  ทำให้มีการเปลี่ยนโฉมวัสดุต่างๆมากมาย  อาทิ  เลนซ์แว่นตา สมัยก่อนเป็นกระจก ซึ่งตกแล้วแตกต้องไปทำใหม่เสมอๆ  หรือโคมไฟหน้า/ไฟท้ายรถยนต์สมัยก่อนก็ล้วนแต่เป็นแก้วทั้งสิ้น  แต่ปัจจุบันก็เป็นอะครีลิคกันหมดแล้ว
รวมทั้งวงการสีก็เช่นเดียวกัน ที่สามารถใช้เนื้อกาว / ฟิล์มสี (Resin) ที่ทำมาจากสารอะครีลิค 100% ได้   ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการป้องกันด่างในปูน-คอนกรีตได้ดี  ให้ยึดเกาะได้ดี  และทนรังสี UV ได้ดีกว่าสีน้ำพลาสติกยุคก่อนค่อนข้างมาก  รวมทั้งมีการพัฒนาสาร "ผงสี" หรือ Pigment ก็พัฒนาดีตามมาด้วย จึงเกิด "สีน้ำอะครีลิค 100%" (Pure Acrylic Emulsion) ขึ้นมา


     ในประเทศไทย ผู้ผลิตจำหน่ายสีที่พัฒนาและทำการตลาดสีน้ำอะคริลิคอย่างจริงจัง คือ  TOA ที่เป็นสีเกรดกลางๆในยุคนั้น (ขณะที่ ICI และ Sherwin Williams มีสินค้าชนิดนี้แต่ก็ไม่ทำตลาด  คงยังไปทำตลาดสี Chlorinated Rubber อยู่)
      TOA  :  ใช้ชื่อ Supershield Acrylsilk 10 >> ที่รับประกันคุณภาพ 10 ปีเป็นรายแรก (เลข 10) มีฟิล์มสีเนียนประดุลไหม (silk)
      ICI  :  ใช้ชื่อ Dulux Weathershield
      Sherwin Williams  :  ใช้ชื่อ Kem Latex

      และต่อมาอีก 1-2 ปี ก็มียี่ห้อ Captain ออกผลิตภัณฑ์ Parashield (ปัจจุบันคือ Parashield CoolMax) และ ยี่ห้อ Pammastic : Pammacrylic Shield ตามออกมา  >>  จะเห็นได้ว่าแต่ละรายก็มีคำว่า "Shield"  ลงท้ายชื่อผลิตภัณฑ์ของตนเองพ่วงด้วยเสมอ (แต่ยี่ห้อ ตปท. คงใช้ชื่อตามบริษัทแม่อยู่ อาทิ Sherwin Williams : Kem Latex)

            

     ซึ่ง "สีทีโอเอ ซุปเปอร์ชิลด์" ถือเป็นเรือธงที่ทำให้ยี่ห้อ TOA ของคนไทยก้าวขึ้นสู่สีเกรดบน และเริ่มได้รับการยอมรับและยอดขายเป็นอันดับหนึ่งของไทย จนทิ้งห่างจากอันดับ 2, 3, 4 และ 5 ค่อนข้างมาก  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

     ด้วยบทพิสูจน์ของอาคารนับร้อย / นับพันโครงการ อาทิ Centeral Plaza และ Hyatt Central Plaza Hotel (ชื่อสมัยนั้น) ห้าแยกลาดพร้าว ที่สีทนทานมานานร่วม 30 ปี จนหมดสัมปทานกับ รฟท. (ประมาณปี 2557)  ก็ไม่เคยมีการ Renovate เลย >> จนเมื่อมีการต่อสัมปทานเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จึงมีการปรับปรุงทาสีกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็เลือกใช้ TOA Supershield เช่นเดิม (รวมทั้งงานโครงการต่างๆของ Central Pattana)  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

"เส้นทางหลากสี" เถ้าแก่ TOA  >> [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้     


     ดังนั้น จึงเป็นความเชื่อว่า หากสีรุ่นใดมีชื่อ "ชิลด์ / Shield"  คือสีอะครีลิค 100%  จะมีคุณภาพสูงกว่าสีน้ำพลาสติกรุ่นเดิมๆ >> คล้ายๆสมัยก่อนในวงการรถยนต์ ที่รถรุ่นใดมีระบบ กระจกไฟฟ้า, Central Lock, ABS, Air Bag ถือว่าเป็นรถเกรดดี (เริ่มแรกมีแต่ในรถยุโรป) แต่หลักคิดนี้คงมาใช้ในปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว เพราะ City, Jazz, Vios หรือ Yaris ก็มีสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว  แต่อย่างไรก็ตามรถยุโรปหรือญี่ปุ่นรุ่น Top ก็จะต้องเสริมสร้างประสิทธิภาพพิเศษต่างๆเพื่มขึ้นมาตลอดเวลา

       ตั้งแต่นั้นมา บริษัทผู้ผลิตสีต่างๆก็ออกผลิตภัณฑ์สีน้ำอะครีลิค  โดยมีพ่วงชื่อ "Shield" กับสินค้าตัวเองเสมอ (แม้แต่สี Jotun ที่ออกผลิตภัณฑ์เกรดนี้ภายหลัง ถึงจะเป็นสี ตปท. ก็มาเล่นชื่อแบบนี้ คือ "Jotashield")  อาทิ  CIC : Homeshield, Delta : Delta Shield, Nippon Paint : Color Shield, Beger : Synotex Shield เป็นต้น  เพื่อที่จะสร้างภาพพจน์สินค้าของตนเองให้เป็นที่ยอมรับในตลาดบนๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวก็เยอะ  >>  จนปัจจุบันมีสีที่ลงท้ายด้วย "ชิลด์ / Shield" มากมายหลายสิบหลายร้อยยี่ห้อ  อาทิ  Hybrid Shield, Turbo Shield, Future Shield, Beauty Shield, Smart Shield, Power Shield, NanoPro Shield, Lobster Shield (กุ้งล็อบสเตอร์ ก็มากับเขาด้วย)  และอื่นๆอีกมากมาย  >>  จึงมีสีอะครีลิคภายนอก "ตระกูลชิลด์"  ราคาตั้งแต่ 1,000 ต้นๆจนถึง 4,000 กว่าบาท / ถังใหญ่
(ปัจจุบันแทบไม่มีสีน้ำพลาสติกหลงเหลืออยู่ในตลาดแล้ว ล้วนเป็นสีอะครีลิค 100% ทั้งสิ้น)


ดังนั้นปัจจุบันจะใช้ความเชื่อที่ว่า สีที่มีคำว่า "ชิลด์" พ่วงท้าย จะเป็นสีพรีเมี่ยมเกรด คงจะไม่ได้เสียแล้ว


      รวมทั้งในยี่ห้อเดียวกัน ก็อาจจะมีสีที่ลงท้ายชื่อด้วย "ชิลด์" หลายรุ่นด้วย ดังนั้นอย่าได้เพียงบอกช่างสีหรือร้านค้าขายสีว่าต้องการ "สีตระกูลชิลด์" เพราะอาจจะไม่ได้สีพรีเมี่ยมเกรดตามที่ต้องการครับ อาทิ
     TOA  :  Supershield  >>  Extra Shield  >>  Shield 1 Nano

     ICI  :  Dulux Weathershield Flexx  >>  Dulux Weathershield Ultima  >>  Dulux Pentalite Shield

     Captain  :  Parashield CoolMax  >>  Shield Plus  >>  Repaint TriShield  >>  Waxy Shield

     Pammastic  :  Dirt Shield  >>  Pammacrylic Shield  >>  Permoshield

     Nippon Paint  :  Colorshield  >>  Triple Shield  >>  NeoShield  >> Vinilex HybridShield

     Beger  :  Begershield  >>  Synotex Shield  >>  Begercool UV Shield  >>  NanoPro Shield


หวังว่า สมาชิก pantip คงเข้าใจที่มาที่ไปของ "สีตระกูลชิลด์" และเข้าใจการเลือกซื้อ / เลือกใช้สีกันมากขึ้นนะครับ
หากไม่แน่ใจว่า "สียี่ห้อต่างประเทศ น่าจะดีกว่าสียี่ห้อคนไทย" จริงหรือไม่? แนะนำอ่านกระทู้ที่ http://ppantip.com/topic/34465357

หรือต้องการความรู้ "เกร็ดความรู้ สีทาบ้าน" แนะนำอ่านที่  https://ppantip.com/topic/36068171
ชื่อสินค้า:   สีทาบ้าน
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่