เปลี่ยนปัญหาเป็นธุรกิจ : ไอเดียที่จะทำให้อุตฯ ฟาร์มไก่ ไม่ต้องฆ่าลูกเจี๊ยบปีละ 4 พันล้านตัว

เป็นวิธีคิดเเละทำในเเบบอิสราเอล ที่น่าสนใจมากครับ

http://www.workpointtv.com/news/46609


ปัญหา' เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ ใหญ่บ้างเล็กบ้างคละเคล้ากันไป หลายคนเลือกหลีกเลี่ยง หลายคนเลือกหาทางแก้ และก็มีอีกหลายคนที่พยายามเปลี่ยนมันให้เป็นธุรกิจซะเลย อย่างการถือกำเนิดเกิดขึ้นของeggXYt บริษัท start-up น้องใหม่แห่งประเทศอิสราเอล ที่เกิดจากคำถามที่ว่า “เราจะสามารถรู้เพศลูกเจี๊ยบตั้งแต่เป็นตัวอ่อนได้อย่างไร ?

แล้วการรู้เพศลูกเจี๊ยบตั้งแต่เป็นตัวอ่อน สำคัญอย่างไรล่ะ ?

บอกเลยว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงไก่ เพราะเชื่อไหมว่า แค่ไม่สามารถหาคำตอบตรงนี้ได้ ในแต่ละปีจึงจำต้องฆ่าลูกเจี๊ยบกว่า 4,000,000,000 (สี่พันล้าน) ตัวเลยเชียว !!!

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เพราะในอุตสาหกรรมฟาร์มไก่ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กทั่วโลก จะสามารถรู้เพศของลูกเจี๊ยบหลังจากฟักไข่ 21 วัน หรือเมื่อพวกมันออกจากไข่แล้วนั่นเอง ซึ่งลูกเจี๊ยบเหล่านั้นจะถูกวางบนสายพาน โดยมีเจ้าหน้าที่ทำการแยกเพศ เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกมัน

ถ้าเป็นตัวเมียก็รอดไป แต่ถ้าเป็นเพศผู้ มันจะถูกโยนลงในเครื่องบดขนาดใหญ่ พวกมันจึงต้องตายทั้งเป็น หลังจากเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียงประเดี๋ยวเดียว ซึ่งจากสถิติมีลูกเจี๊ยบตัวผู้จำนวนสูงถึง 50% เท่ากับว่า ฟาร์มต้องกำจัดลูกเจี๊ยบทิ้งครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่ฟักเป็นตัวออกมา !!!

แล้ววันหนึ่ง ปัญหานี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาถกระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์ ด้านประสาทวิทยา บุคลิกสุดเนิร์ด นามว่า เยฮูดา เอลแรม (Yehuda Elram) กับเพื่อน กำลังทานอาหารร่วมกัน (มื้อนั้นต้องมีเมนูไก่ หรือไข่แน่ๆ) ทำให้เอลแรมเกิดสงสัยว่า “ทำอย่างไร จึงจะสามารถรู้เพศลูกเจี๊ยบตั้งแต่เป็นตัวอ่อนได้ ?”


และจากปัญหานี้ ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถแยกเพศลูกเจี๊ยบได้ตั้งแต่พวกมันยังเป็นตัวอ่อน นำไปสู่ธุรกิจที่เขากับศาสตราจารย์เดเนียล ออฟเฟน (Prof. Daniel Offen) ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นในชื่อบริษัทว่า eggXYt โดยเอลแรมได้อธิบายนวัตกรรมที่เขาคิดค้นนี้ให้กับ กานท์กลอน รักธรรม หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ มีนัดกับณัฏฐา ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปสัมภาษณ์ว่า

“อุปกรณ์นี้เราเรียกว่า คนเฝ้าประตู เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ในอุตสาหกรรมฟาร์มไก่ เพราะปัจจุบันนี้การแยกเพศไก่ เกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายของการฟักไข่ ที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 21 วัน ถึงจะรู้ว่าลูกเจี๊ยบที่ฟักออกมาเป็นเพศใด แต่อุปกรณ์ของผมจะตัดขั้นตอนเหล่านี้ไป เพราะสามารถตรวจเพศของลูกเจี๊ยบได้ก่อนเข้าตู้ฟัก เมื่อพบว่าเป็นตัวเมีย ก็นำเข้าตู้ฟัก แต่ถ้าเป็นเพศผู้ก็จะคัดออก เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป เช่นอุตสาหกรรมปศุสัตว์ หรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์อื่นๆ

“นวัตกรรมนี้นอกจากทำให้เราไม่ต้องฆ่าลูกเจี๊ยบแล้ว ยังไม่ต้องเสียทรัพยากรและเงินทุนไปกับการฟักไข่ตัวผู้ ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าด้วยการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ นี่จึงเป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาดังกล่าว”

โดยรายละเอียดวิธีการแยกเพศตัวอ่อน เอลแรมบอกว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะถือว่าเป็นความลับทางธุรกิจที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา แต่เขามั่นใจว่า ถ้าเครื่องมือนี้เสร็จสมบูรณ์เมื่อใด จะเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมฟาร์มไก่ทั่วโลก เพราะมันช่วยแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครแก้ได้มาก่อน อีกทั้งช่วยประหยัดต้นทุน และช่วยชีวิตลูกเจี๊ยบได้มากมายมหาศาล


ซึ่งเอลแรมได้กล่าวว่า สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เขาและเพื่อนคิดค้นเครื่องมือแยกเพศตัวอ่อนขึ้นมา ไม่ใช่เพราะต้องการมีรายได้จากการขายเทคโนโลยี แต่เพราะมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาสำคัญของโลกใบนี้

“ผมและเพื่อน คือ ศาสตาจารย์เดเนียล ออฟเฟนต้องการที่จะซ่อมแซมโลกใบนี้ โดยการสร้างสิ่งที่เห็นผลชัดเจน... ที่จะคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่โลกเผชิญมานาน เพื่อไม่ต้องตื่นมาตอนเช้าแล้วเจอปัญหาซ้ำซาก และเมื่อเราเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ จะต้องมีอุปสรรคที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในที่สุด”

และข้างต้นก็คือตัวอย่างในการมองปัญหาในมุมใหม่ เปลี่ยนให้มันเป็นธุรกิจซะเลย ที่ไม่เพียงจะสร้างเม็ดเงินมหาศาล แต่ยังเป็นการคิดค้นนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง ที่สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสิ่งขึ้นอยู่ที่มุมมอง...

สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหา แต่สิ่งเดียวกันนั้นอีกคนกลับมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ และคนประเภทหลังนี่แหละ มักจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ดังเรื่องราวของ โธมัส เอดิสัน หลังจากทดลองวิธีต่างๆ  ในการประดิษฐ์หลอดไฟนับครั้งไม่ถ้วน ก็ยังไม่สำเร็จเสียที จนหลายคนเรียกสิ่งที่เขากำลังเผชิญว่า 'ความล้มเหลว' แต่เอดิสันกลับกล่าวว่า

“มันไม่ใช่ความล้มเหลว 1,000 ครั้ง แต่เป็นการค้นพบวิธีที่ที่ใช้ไม่ได้ผล1,000วิธี ต่างหากเล่า”



บทความโดย ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม

success lectures : บทเรียนความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากความสำเร็จเสมอไป

thank you : รายการ 'มีนัดกับณัฏฐา : นัดนี้กับสตาร์ตอัพ : ไขความลับธุรกิจยุคใหม่ จากอิสราเอลถึงไทย' (ThaiPBS) , www.eggxyt.com , www.thedodo.com
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่