ส่องอานุภาพฮาร์พูน "อาวุธปล่อยนำวิถี" 900 ล้านบาท ที่ไทยสั่งซื้อ

กระทู้ข่าว

มารู้จักอานุภาพ ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ หลังราชนาวีไทยรับแล้วว่าสั่งซื้อ "อาวุธปล่อยนำวิถี" ชนิดนี้ ด้านโบอิ้งบอกผลิตมาแล้วหลายรุ่นในรอบ 40 ปี รวมกันกว่า 7,500 ลูก ใช้กับ กองทัพสหรัฐฯ และอีก 29 ชาติ
โบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตขีปนาวุธฮาร์พูนและคู่สัญญาของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่าขีปนาวุธชนิดนี้ใช้ทั้งระบบการนำทิศทางแบบแอคทีฟ เรดาร์ ซึ่งทำให้ขีปนาวุธสามารถหาเป้าหมายด้วยตัวเอง รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ และระบบจับสัญญาณการเคลื่อนที่และหมุนตัวซึ่งทำงานร่วมกับระบบจีพีเอสในการค้นหาเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ สามาถติดตั้งได้บนฐานยิงทั้งทางบก ทางน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ
ข้อมูลของบริษัทโบอิงเมื่อปีที่แล้วระบุว่า อาวุธปล่อยนำวิถีชนิดนี้ ถูกติดตั้งในเรือกว่า 600 ลำ, เรือดำน้ำ 180 ลำ, เครื่องบิน 12 ชนิด และ ยาพาพนะทางบกหลายประเภท

ข้อมูลทั่วไปของ ฮาร์พูนบล็อคทู
ความยาว    182.2 นิ้วสำหรับยิงจากเรือ และ 151.1 นิ้ว สำหรับยิงจากเครื่องบิน
เส้นผ่าศูนย์กลาง    13.5 นิ้ว
ระยะยิง    มากกว่า67 ไมล์ทะเล (124กิโลเมตร)
ฐานยิง    ได้ทั้ง ทางบก เรือ อากาศ และใต้น้ำ
- ทางเรือ    ติดตั้งได้บนเรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือฟริเกต
- เครื่องบิน    เอฟ/เอ-18, เอฟ-15, เอฟ-16 ,เอฟ-27, เอฟ-50, พี-3, เอส-3
- เรือดำน้ำ    ได้หลายประเภท ติดตั้งในเรือดำน้ำของกองทัพเรือ 9 ชาติ ไม่รวมสหรัฐฯ
- ชายฝั่ง    ติดตั้งได้บนรถบรรทุกหลากชนิด
ที่มา: Boeing
    
พล.ร.อ. จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ แถลงเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) ว่า การจัดซื้อ "อาวุธปล่อยนำวิถี" ฮาร์พูนบล็อกทู เป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามโครงการต่อเรือฟริเกตตั้งแต่ปี 2557 ที่ไทยลงนามข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ในการต่อเรือหลวงท่าจีน โดยจะมีแพ็กเกจต่อระบบเรือ ระบบเครื่องจักร เครื่องยนต์ ระบบการรบ และอาวุธต่างๆ
"การซื้อฮาร์พูนเราเคยจัดซื้อมาตั้งนานแล้ว เอามาใช้ในเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีมาตลอด ชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ต่อไปก็จะมีชุดที่ 4 เอามาติดตั้งเพิ่มในเรือหลวงตรัง ดังนั้นผมขอย้ำว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ กองทัพเรือมีความโปร่งใสและเป็นไปตามวงรอบ เรียกง่ายๆ ว่าจัดซื้อเป็นแพ็กเกจในการจัดหาตามช่วงเวลาเท่านั้นเอง" โฆษกกองทัพเรือกล่าว



ไทยโพสต์ รายงานวันนี้ว่า ก่อนหน้านี้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการจัดซื้อฮาร์พูน โดยยืนยันว่าฮาร์พูนของเดิมมีการใช้งานอยู่นานแล้ว
ในเอกสารเผยแพร่ของกองทัพเรือไทย เมื่อวันอาทิตย์ระบุว่าการการจัดหาฮาร์พูนบล็อกทู อยู่ในโครงการเสริมสร้างกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นอมภัณฑ์ (อ่านว่า อัม-มะ-พัน แปลว่า ระเบิด และเครื่องกระสุน) สำหรับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ ซึ่งจะเข้าประจำการในปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้ อมภัณฑ์ดังกล่าวมีเทคโนโลยีและคุณค่าทางยุทธการสูง จำเป็นต้องจัดหาโดยวิธี FMS (Foreign Military Sales) ผ่านรัฐบาลสหรัฐฯ จัดหาตามโครงการเสริมสร้างกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2560 (ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2562) โดยการจัดหาโดยวิธี FMS ในครั้งนี้ มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 872,587,800 บาท หรือประมาณ 24,931,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ


แผนการจัดหาแบ่งออกเป็น 1.ผูกพันงบประมาณปี 2559-2561 จัดหาลูกจริง 2 ลูก หัวฝึก 1 หัว ซึ่งจัดหาแล้ว 2.ผูกพันงบประมาณปี 2560-2562 จัดหาลูกจริง 7 ลูก ลูกฝึก 1 ลูก (ตัวลูกพร้อมติดตั้งหัวฝึก) อยู่ระหว่างการจัดหา ซึ่งจำนวนลูกจริงที่ลดจากความต้องการ 7 ลูกเหลือตัดหาได้ 5 ลูกนั้น (ตามการแถลงข่าวของสหรัฐอเมริกา) มาจากการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา http://www.bbc.com/thai/thailand-40916089?ocid=socialflow_facebook
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่