ประวัติศาสตร์การแพทย์ไทย เมื่อความรู้ไร้พรมแดนกับยุคบุกเบิกของมิชชันนารีในสมัยอยุธยา

ช่วงนี้ต้องมุ่งมั่นทำการค้นคว้าวิจัยประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทยเพื่อทำงานใหญ่ ก็เลยได้โอกาสขุดค้นประวัติศาสตร์การแทย์และสุขภาพ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ซึ่งยังมีคนไทยทำวิจัยไว้ไม่มากนัก แต่ช่วงหลังก็มีงานศึกษาค้นคว้าดีๆออกมามากละครับ วันนี้เลยอยากเผยแพร่เรื่องการมาของมิชชันนารีจากตะวันตกยุคบุกเบิกในสมัยอยุธยา ว่าเข้ามามีส่วนในสยามทั้งในราชสำนักและชาวบ้านอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะมีการขาดช่วงไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา


ทัศนะของมิชชันนารีตะวันตกเกี่ยวกับวิชาแพทย์ของชาวสยาม
    

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา มิชชันนารีจากตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และมีบทบาทสำคัญมากในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิชชันนารีหลายคนได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวในราชสำนักและ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามไว้จำนวนหนึ่ง รวมถึงเรื่องของการแพทย์ สุขภาพ อาหารการกินต่างๆ ทำให้ทราบถึงทัศนะของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวสยามในเวลานั้น อาทิเช่น  


นิโคลาส์ แชรแวส (Nicholas Gervaise) ชาวฝรั่งเศสผู้อยู่ในคณะทูตของเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ได้พำนักอยู่ในสยามเป็นเวลา ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๒๘ ได้บันทึกเกี่ยวกับการแพทย์ของสยามว่า


“แพทย์ในประเทศสยามนั้น ก็เหมือนกับหมอบ้านนอกในประเทศเรา คือเป็นทั้งเภสัชกรและศัลยแพทย์ด้วย เขาปรุงน้ำมันทาและโอสถขึ้นเองตามประสงค์ โอสถเหล่านี้สรรพคุณครอบจักรวาล คือรักษาโรคได้ร้อยแปด มีการให้อดของแสลงเป็นประธาน แล้วให้ต้มน้ำอาบติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันเพื่อบำบัดอาการไข้ สำหรับโรคไขข้ออักเสบ เขานวดบริเวณที่มีอาการปวด แล้วเอาก้อนกรวดเผาไฟห่อผ้าประคบ การกอก (การดูดเอาเลือดออก) ก็ใช้สำหรับอาการโรคปวดหัวมัวตา โดยใช้การกอกด้วยเขาควาย เป็นที่น่าเสียดายว่าหมอเหล่านี้ไม่รู้จักอาการของโรคอย่างอื่นอีกเลย และโอสถของเขาก็ปรุงขึ้นโดยมิได้รับการศึกษาหรือผ่านทฤษฎีการปฏิบัติมาอย่างช่ำชองแล้วเลย เขามีความรู้ทางวิชาเคมีดีพอใช้ และการปรุงยาจะวิเศษขึ้นมาก ถ้าได้รู้สรรพคุณของต้นไม้ที่ใช้ทำยาดีกว่านี้ และสรรพคุณของสมุนไพรที่พบอยู่ในที่ทั่วไป”  


ซิมองต์ เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) เอกอัครราชทูตที่มีอำนาจเต็มของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งรับภารกิจเข้ามาทูลพระราชสาสน์เจริญสัมพันธ์ไมตรีอย่างเป็นทางการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขาได้พำนักอยู่ในอยุธยาราว ๓ เดือน ใน พ.ศ. ๒๒๓๐ แม้จะแค่ระยะเวลาสั้นๆ แต่เขาก็ได้เขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวของสยามในสมัยนั้นไว้มาก เป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาจนบัดนี้


สำหรับลาลูแบร์ เขาได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพของชาวสยามไว้มาก อาทิเช่น เขาเห็นว่าการแพทย์สยามในเวลานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับของตะวันตกแล้ว ดูเหมือนจะด้อยกว่ามาก เพราะแพทย์ไทยไม่มีความรู้เรื่องศัลยกรรมและกายวิภาค ไม่รู้เรื่องวิชาเคมี ชอบเชื่อถือโชคลางและไสยศาสตร์ ต้องพึ่งแพทย์ชาวยุโรปในการเจาะกระดูก เจาะกะโหลกศีรษะ การผ่าตัด เพื่อสูบเลือดที่เป็นพิษออก อีกทั้งชาวสยามไม่สนใจเรียนรู้เรื่องกายวิภาค เพราะจะไม่ผ่าศพผู้ตายหรือผ่าสัตว์ ไม่มีหลักในการปรุงยาหรือศึกษาสรรพคุณยาแต่ละชนิด ด้วยยึดถือตามตำราโบราณจึงไม่มีการปรับตำรับยาให้เหมาะกับโรค และคนสยามไม่นิยมดื่มของมึนเมา


นอกจากนี้ยังแสดงทัศนะเกี่ยวกับแพทย์จีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นว่า ตรวจผู้ป่วยด้วยการจับชีพจร (จับแมะ) ซึ่งในทัศนะของเขาแล้วเป็นการหลอกลวง ส่วนการรักษาอาการป่วยไข้มักใช้การเหยียบและการนวด ในการทำคลอดให้หญิงมีครรภ์ มักใช้วิธีให้เด็กขึ้นไปเหยียบเพื่อให้คลอดง่าย สำหรับวิธีการบำบัดรักษาโรคของแพทย์ไทยนั้น อาทิเช่น การเอาเลือดคั่งออกจากร่างกายจะใช้วิธีแทงเพื่อให้เลือดออก แตกต่างจากวิธีของแพทย์ตะวันตกที่จะใช้วิธีการคือให้ปลิงดูดเอา แพทย์ไทยใช้ยาระบายโดยไม่ได้กำหนดปริมาณอย่างเคร่งครัด หากมีอาการไข้ จะนิยมทำให้เหงื่อออก ด้วยการเข้ากระโจมอบตัว สำหรับยาที่ใช้ส่วนใหญ่ จะปรุงจากแร่และสมุนไพร มักเป็นยาร้อน ไม่รู้จักตัวยาที่ทำให้เย็น แต่จะนิยมการอาบน้ำเพื่อให้ตัวเย็นลง แล้วให้คนป่วยทานแต่ข้าวต้มเละๆ ส่วนเนื้อวัวจะถือเป็นของแสลง ถ้าคนไข้กินอาหารหนักได้ก็ให้กินเนื้อหมูจะดีกว่าอย่างอื่น เพราะสำหรับแพทย์ชาวตะวันตกจะไม่เชื่อเรื่องของแสลง    


ลาลูแบร์ ยังกล่าวถึงโรคและลักษณะนิสัยอันทำให้เกิดโรคของชาวสยามว่า ส่วนมากมีอายุไม่ยืนยาว  มีโรคติดต่อร้ายแรงหลายชนิด โรคระบาดที่ทำให้คนล้มตายกันมากที่สุดคือ โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ส่วนโรคที่เป็นบ่อยคือ โรคป่วง โรคบิด ไข้จับสั่น ปอดบวม ไอหวัดและหอบ โรคบวม ไขข้ออักเสบ โรคปวดตามข้อ โรคลมอัมพาต ลมบ้าหมู วัณโรคปอด และโรคปวดท้องมวนท้องทุกชนิด โรคมะเร็ง ฝีโพรงหนอง ทั้งหมดนี้ชาวสยามเป็นกันมาก ใน ๒๐ คน ๑๙ คนจะต้องเคยเป็น บางคนเป็นแผลผื่นตามเนื้อตัวถึง ๒ ใน ๓ แล้วยังมีความเชื่อว่า มีโรคที่เกิดจากคุณไสย และกามโรค แต่ไม่มีใครรู้ว่ากามโรคมีมานานแล้วหรือเพิ่งเป็นในสมัยนั้น



หมอหลวงฝรั่งคนแรกในสยาม

สำหรับแพทย์ชาวต่างชาติในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ส่วนมากเป็นแพทย์ชาวจีน แต่ก็มีชาวสยามและชาวพะโคบ้าง ต่อมาก็ได้ทรงรับ หมอโปมาร์ต (Paumart) ซึ่งเป็นมิชชันนารีเข้ามาเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ จึงถือว่าเป็นแพทย์หลวงตะวันตกคนแรก แล้วยังอ้างว่าพระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากกว่าแพทย์หลวงคนอื่นๆด้วย ยามเมื่อทรงประชวรแล้วต้องให้แพทย์หลวงตรวจดูพระอาการ แพทย์คนอื่นต้องแจ้งให้หมอโปมาร์ตทราบทุกวัน และยังทรงรับการถวายพระโอสถจากมือของหมอโปมาร์ตเองด้วย นอกจากนี้ยังมีแพทย์คนอื่นทำงานอยู่ในอยุธยาด้วย เป็นผลมาจากการที่แพทย์ตะวันตกได้เข้าสู่อยุธยาอย่างเป็นระบบในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการจัดตั้งสถานพยาบาลของมิชชันนารีอย่างจริงจัง


นอกจากหมอโปมาร์ตที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์หลวงชาวตะวันตกครั้งแรกแล้ว ในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๕ มีแพทย์ตะวันตกทำงานอยู่ในสยามรวม ๓ คน คือ โปมาร์ต ชาบองโด และ โบรเชอบอร์ด    


แล้วไม่เพียงแต่ชาวสยามเท่านั้น แต่พวกมิชชันนารีก็มีความเชื่อเรื่องน้ำเสกสำหรับช่วยบำบัดรักษาโรคด้วย เมื่อพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ประมุขมิซซังสยามคนแรก ได้สร้างโรงพยาบาลของบาทหลวงฝรั่งเศสขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๑๒ แล้วขยายกิจการต่อมา สังฆราชลาโนได้รักษาผู้ป่วยจำนวนมากโดยแจกยาให้คนไข้ เช่น น้ำมันและน้ำเสก ที่ปลุกเสกด้วยวิธีการที่กำหนดในหนังสือจารีต และประสบความสำเร็จมากในการรักษา  ทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน หรือแผลฝีเต็มร่างกาย ปวดท้อง ตาบอด หูหนวก ต่างมีอาการดีขึ้น จนถึงหายได้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นความสำเร็จของสังฆราชลาโนและคณะโดยที่พวกเขาไม่ได้คิดค่าตอบแทนใดๆ จึงทรงพระราชทานเก้าอี้ลงทองตัวหนึ่งที่คล้ายกับธรรมาสน์ของพระสังฆราชในศาสนาพุทธให้ด้วย


แพทย์ตะวันตกยุคหลังสมเด็จพระนารายณ์

มักมีความเข้าใจผิดกันว่าหลังจากพระเพทราชาได้ยึดอำนาจมาจากสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ความสัมพันธ์ที่มีกับบรรดาชาติตะวันตกก็สิ้นสุดลงไปด้วย แต่แท้จริงแล้วยังมีแพทย์ชาวตะวันตกรับราชการในอยุธยาต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าท้ายสระ นั่นคือเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๑๕ ได้มีศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสคือ ดาเนียล โบรเชอบอร์ด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ (VOC) ได้ถูกยืมตัวให้มาทำหน้าที่เป็นศัลยแพทย์ประจำราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์


ภายหลังจากการยึดอำนาจใน พ.ศ. ๒๒๓๑ ดาเนียล ก็ยังคงดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำอยู่ (โดยรับเงินเดือนจากทาง VOC) แล้วพระเพทราชาก็แต่งตั้งให้เป็น “ออกพระแพทยโอสถ” ดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำอยู่จนกระทั่งเสียชีวิตใน พ.ศ. ๒๒๔๐ ซึ่งเมื่อครั้งเดินทางมาที่อยุธยานั้น ดาเนียลได้แต่งงานกับหญิงชาวนครศรีธรรมราชแล้วพามาอยู่ด้วย มีบุตรด้วยกันคือ โมเสส โบรเชอร์บอร์ด ซึ่งลูกชายของเขาก็รับราชการเป็นศัลยแพทย์ในราชสำนักของพระเพทราชาต่อมาด้วย


ครั้งหนึ่ง ทางบริษัท VOC พยายามจะขอตัวโมเสส โบรเชอร์บอร์ด กลับไปที่ปัตตาเวีย แต่ทั้งดาเนียลและโมเสสต้องการอยู่ในอยุธยาต่อไป จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าพระยาพระคลัง จึงแก้ไขด้วยการส่งหนังสือถึงบริษัท VOC เพื่อแจ้งว่าบรรดาลูกครึ่งที่เกิดจากมารดาชาวสยามกับบิดาชาวตะวันตกนั้น จะไม่สามารถเดินทางออกนอกพระนครได้หากยังไม่ได้รับอนุญาตจากพระมหากษัตริย์ แล้วจึงแต่งตั้งให้โมเสส โบรเชอร์บอร์ด เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ มีตำแหน่งเป็น “ออกหลวงศรีสิทธิแพทย” ภายหลังดาเนียลได้เสียชีวิตลง โมเสสที่เป็นบุตรชายจึงได้เลื่อนขึ้นมารับตำแหน่ง “ออกพระแพทยโอสถ” แพทย์หลวงประจำพระองค์แทนที่บิดา เขามีบุตรกับหญิงชาวมอญอีกสองคน สืบทอดตำแหน่งแพทย์หลวงประจำราชสำนักมาถึงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ

อาจกล่าวว่า นี่คือการไม่ยอมส่งตัวลูกครึ่งไทยฝรั่งกลับไปให้บริษัทของพวกฝรั่งเป็นครั้งแรกในสยาม


การบันทึกวิชาแพทย์ตะวันตกในตำราพระโอสถพระนารายณ์

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ทรงมีดำริให้จัดทำตำราพระโอสถสืบทอดไว้ จึงได้เรียกกันว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” แต่ก็ไม่ได้แต่งไว้เพียงตำรับยาแผนไทยเท่านั้น เพราะแพทย์ผู้ร่วมแต่งตำราพระโอสถนี้มีมิชชันนารีชาวตะวันตกรวมอยู่ด้วย

เกี่ยวกับตำรับยานี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์คำนำในฉบับพิมพ์ครั้งแรก ก็ได้แสดงความประหลาดใจที่พบว่ามีตำราขี้ผึ้งรักษาบาดแผลของหมอฝรั่งประกอบด้วย จึงทรงอธิบายว่า ขี้ผึ้งนี้ พวกหมอฝรั่งพวกกุฎีจีนยังใช้รักษากันมาจนถึงสมัยของพระองค์ ตำรานี้นอกจากจะรวบรวมพระโอสถในสมัยพระนารายณ์แล้ว ยังรวบรวมพระโอสถในสมัยพระเจ้าท้ายสระเข้าไว้ด้วย รวมตำรายาทั้งสิ้น ๘๑ ตำรับ โดยบรรดาแพทย์ที่ร่วมแต่งตำรานี้รวมแล้วมี ๙ คน แยกเป็นหมอไทย ๕ คน และหมอหลวง ๔ คน ซึ่งในหมอทั้งหมดนี้ยังมีหมอชาวตะวันตกอยู่ด้วย ๒ คน คือ พระแพทย์โอสถฝรั่ง และ เมสีหมอฝรั่ง  ซึ่งทำให้เชื่อว่า ดาเนียล โบรเชอบอร์ด ซึ่งมีตำแหน่ง ออกพระแพทยโอสถ ก็คือ พระแพทย์โอสถฝรั่ง ส่วนบุตรชายของดาเนียลก็คือ โมเสส โบรเชอร์บอร์ด ก็คือ เมสีหมอฝรั่ง นั่นเอง


ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งถือกันว่าเป็นตำรับยาแผนไทยที่ได้รวบรวมความรู้และตำรับยาแผนไทยแต่โบราณสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้น จึงมีลักษณะผสมผสานทางเภสัชของแพทย์ตะวันตกอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้ฝิ่น สารส้ม ตะกั่ว และตำรายาของตะวันตกด้วย แม้ว่าสุดท้ายแล้วการแพทย์แบบตะวันตกจนเริ่มเสื่อมลงเพราะไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาตอนปลายและตะวันตกก็เริ่มถดถอยลงไป ก่อนจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จากการเข้ามาของคณะทูตของอังกฤษ โดยนายจอห์น ครอว์ฟอร์ด ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา การแพทย์ตะวันตกจึงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมในสังคมไทยอีกครั้ง แล้วก็มาถึงจุดสุดยอดจากการเข้ามาของ นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือที่คนไทยเรียกว่า "หมอปลัดเล" หรือ "หมอบรัดเลย์" ซึ่งจะเป็นเรื่องราวต่อไปครับ


ส่วนหนึ่งที่ประทับใจหลังจากค้นคว้าตำราพระโอสถพระนารายณ์จากต้นฉบับจริงก็คือ มีอะไรๆอยู่มาก ทั้งตำราแพทย์แผนไทยโบราณ แผนตะวันตก แผนจีน คือเรียกว่าสมัยก่อนเราเปิดรับมากในการผสมผสานความแตกต่างเข้าด้วยกันเพื่อผลประโยชน์ของผู้คน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่