ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า

พุทธวจน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันมี
สิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างไร สิกขา คือ อภิสมาจาร
เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว สิกขา คือ อภิสมาจารเราบัญญัติแล้ว
แก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่
เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด
ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ด้วยประการนั้นๆ
             อีกประการหนึ่ง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวก
ทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง สิกขาอันเป็นเบื้องต้น
แห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดย
ประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด
ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วย
ประการนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างไร ธรรมทั้งหลาย
เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดย
ประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์
โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรมทั้งหมดนั้นอันสาวกพิจารณา
ด้วยปัญญา ด้วยประการนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด
อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างไร ธรรมทั้งหลาย
เราแสดงแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการ
ทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรมทั้งหมดนั้นเป็นธรรมอันวิมุตติถูกต้อง
แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างไร สติอันภิกษุ
ตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญอภิสมาจาริกสิกขาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้
บริบูรณ์ หรือว่า จักอนุเคราะห์อภิสมาจาริกสิกขาอันบริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญา
ในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญ
สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่าจัก
อนุเคราะห์สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาใน
ฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักพิจารณาธรรม
ที่เราไม่ได้พิจารณาแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เรา
พิจารณาแล้วได้ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายใน
ทีเดียวว่า เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้องด้วยวิมุตติ หรือว่า จักอนุเคราะห์
ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่เรากล่าวว่า เราอยู่
ประพฤติพรหมจรรย์อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น
มีสติเป็นอธิปไตย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว ฯ
             [๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้ ๔ อย่าง
เป็นไฉน คือ เปตไสยา (นอนอย่างคนตาย) ๑ กามโภคีไสยา (นอนอย่าง
คนบริโภคกาม) ๑ สีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) ๑ ตถาคตไสยา (นอนอย่าง
ตถาคต) ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เปตไสยาเป็นไฉน คนตายโดยมากนอนหงาย
นี้เราเรียกว่าเปตไสยา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กามโภคีไสยาเป็นไฉน คนบริโภคกามโดยมากนอน
ตะแคงข้างซ้าย นี้เราเรียกว่ากามโภคีไสยา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหไสยาเป็นไฉน สีหมฤคราชย่อมสำเร็จการนอน
ข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเลื่อมเท้า สอดหางเข้าในระหว่างโคนขา มันตื่นขึ้นแล้ว
ยืดกายเบื้องหน้าแล้ว เหลียวดูกายเบื้องหลัง ถ้ามันเห็นความผิดแปลกหรือความ
ละปรกติแห่งกาย มันย่อมเสียใจด้วยเหตุนั้น ถ้ามันไม่เห็นอะไรผิดปรกติ มันย่อม
ดีใจด้วยเหตุนั้น นี้เราเรียกว่าสีหไสยา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตถาคตไสยาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน นี้เราเรียกว่าตถาคตไสยา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวก
เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกพุทธะ ๑
สาวกของพระตถาคต ๑ พระเจ้าจักรพรรดิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูปารหบุคคล
๔ จำพวกนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เจริญแห่งปัญญา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัปปุริสสังเสวะ การคบ
สัปบุรุษ ๑ สัทธรรมสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑ โยนิโสมนสิการ ทำไว้
ในใจโดยแยบคาย ๑ ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่ง
ปัญญา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ เป็นธรรมมีอุปการะมาก
แก่มนุษย์ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัปปุริสสังเสวะ ๑ สัทธรรมสวนะ
๑ โยนิโสมนสิการ ๑ ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔
ประการนี้แล เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์ ฯ
              ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระอริยะ ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าเห็น ๑ ความเป็นผู้
กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ ๑
ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันไม่ใช่ของ
พระอริยะ ๔ ประการนี้แล ฯ
              ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้
ฟังว่าไม่ได้ฟัง ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ ๑ ความเป็น
ผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการ
นี้แล ฯ
              ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระอริยะ ๔ ประการ
นี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น ๑ ความ
เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ ๑
ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระ-
*อริยะ ๔ ประการนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้ ๔ ประการ
เป็นไฉน คือ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าได้เห็น ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้
ฟังว่าได้ฟัง ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าได้ทราบ ๑ ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่
ได้รู้ว่าได้รู้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้แล ฯ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่