"ไม้เรียวสร้างคน" คนแบบไหนที่สร้างจากไม้เรียว ลงโทษหรือทารุณกรรม?

จากข่าวที่ออกมาในช่วงระยะเวลาไม่นานนี้ (จริงๆ ก็มีข่าวในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง)
คือ ภาพที่นักเรียนถูกครูลงโทษจนเป็นแผลหนัก ต้องเข้ารับการรักษา
อาทิ http://news.sanook.com/2852462/

ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อลงโทษได้เพียง 4 ข้อ
คือ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน, ตัดคะแนนความประพฤติ, ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ไม่มีข้ออนุญาตให้ ครูตีนักเรียนได้ แถมมีข้อ (6) ที่ห้ามลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง กลั่นแกล้ง (รวมง่ายๆ คือ นอกจากจะไม่อนุญาตยังห้ามอีก)
แต่ในทางปฏิบัติ ผมก็ยังยอมรับการตีได้ในระดับหนึ่ง แบบปกติและมีเหตุมีผล

แต่สิ่งที่น่ากังวลในระยะต่อมา คือ Comment ของผู้ใช้ Facebook ตามเพจต่างๆ ที่จะเห็นหลายคน ด่า เด็กและผู้ปกครอง
ว่าปกป้องเกิน พ่อแม่รังแกฉัน ไข่ในหิน และยกตัวอย่างประสบการณ์ของตนเองที่ "เคย" โดนมาหนักกว่า

หากจำกันได้ เมื่อไม่นานนัก พันทิป เคยมีกระทู้ เกี่ยวกับการโดนลงโทษจากครอบครัวในวัยเด็ก
https://ppantip.com/topic/35141085

ซึ่งเป็นที่น่าตกใจมากว่า เยาวชนไทยเติบโตมาด้วยความรุนแรง และหลายข้อเกินกว่าการลงโทษแต่ไปถึงขั้น ทารุณกรรมแล้ว
และที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก คือ หลายคนยอมรับได้ที่ถูกกระทำรุนแรง และรู้สึกเป็นบุญคุณที่โดนกระทำ

หนึ่งในวลีฮิตที่หลายคนมอบความชอบธรรมแก่ฝ่ายที่ครูใช้การลงโทษด้วยการตี คือ ไม้เรียวสร้างคนมานักต่อนัก

แล้วคนแบบใดกันที่ถูกสร้างมาโดยไม้เรียว
ประเทศไทยมีระบบการศึกษาแบบตะวันตก เริ่มครั้งแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ก่อนการศึกษาของไทยจะแบ่งออกเป็น
ชายให้อยู่วัด ให้พระเป็นคนสอน หญิงให้อยู่บ้าน ศึกษางานบ้านงานเรือน
ก่อนที่ระบบการศึกษาแบบตะวันตกจะแพร่หลายทดแทนการศึกษาแบบเก่า จนเป็นภาพคุ้นชินของทุกคน
ไม่รู้เหมือนกันว่า ไม้เรียว ถือกำเนิดมานานแค่ไหน นับจากสมัยเรียนในวัดเลยหรือเปล่า ครั้งหนึ่ง "ศึกษาภัณฑ์" เคยมีไม้เรียวจำหน่าย ด้วยการมองว่าไม่ใชสิ่งผิดที่ครูจะตีนักเรียน

จนมาถึงช่วงประมาณปี 2540 ที่มีการปรับปรุงการศึกษาครั้งใหญ่ ที่ผมจำได้ คือ การนำระบบ Child Center เข้ามา พร้อมกับการออกกฏกระทรวงยกเลิกโทษตีเด็กออกไป และไม้เรียวได้หายไปจากสินค้าที่ได้รับความชอบธรรม แต่...ในทางปฏิบัติ ผมว่าก็มีใช้กันบ้างแหละ

ความน่ากลัวที่ผมรู้สึกได้จาก Comment ต่างๆ ใน Facebook คือ หลายคนแยกแยะไม่ออกว่าที่เป็นข่าว ไม่ใช่เพราะเป็นการถูกลงโทษ หากแต่เป็นการลงโทษที่รุนแรง จนเข้าขั้นทารุณกรรม การตีจนเกิดแผลเป็น การลงโทษจนนักเรียนเจ็บป่วย การลงโทษจนเกิดความหวาดกลัว มันมากกว่าการลงโทษไปแล้ว ผิดไปจากรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายความผิดอาญาไปแล้ว

แต่... หลาย Comment มากที่ไม่มองเช่นนี้ หากแต่มองว่า ถ้านักเรียนไม่ทำผิด ก็ไม่โดนลงโทษ และบอกว่าตัวเองก็เคยโดน
ผมว่ามันน่าจะตอบคำถามได้แล้วนะ คนแบบที่ถูกสร้างจากไม้เรียว "หลายคน" ยังแยกแยะ "ลงโทษกับทารุณกรรม" ไม่ออกเลย
แถมยังติดใน "บุญคุณของอาชีพครู" "ห้ามคิด ห้ามแย้ง ห้ามต่อต้าน" ผมว่ามันไม่ใช่เป้าหมายที่ควรจะเป็นแล้ว
ครูก็เป็นคน ครูก็ทำผิดพลาดได้ ครูที่ทำผิดพลาดนักเรียนก็ต่อต้านได้ อย่างมีเหตุและมีผล

หลายคนแย้งว่า การลงโทษเป็นการสอนให้อยู่ในกฏระเบียบของสังคม
น่าเศร้าไหมครับ กฏโรงเรียนอยู่เหนือกฏหมาย แถมคนที่สอนให้เคารพกฏกำลังไม่เคารพกฏไปในขณะเดียวกัน
(ถ้าโรงเรียนยังคงตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย กฏหมายไทยไม่อนุญาตให้ครูลงโทษนักเรียนอย่างรุนแรง)

หลายคนแย้งว่า เพราะไม่มีการลงโทษสังคมถึงเลวร้าย
กฏยกเลิกการตีเด็ก ออกมาในช่วง 2540 เด็กที่เริ่มได้รับการไม่ตี นับ Generation คือ X เป็นต้นมา
ส่วน Baby Boom น่าจะผ่านการลงโทษด้วยการตีมาแล้วทั้งนั้น
ผมว่าหลายคนน่าจะเห็นแล้ว สังคมไทยไม่ได้เพิ่งจะไม่เคารพกฏในช่วง 20 ปีนี้หรอก ดังนั้นการที่โรงเรียนตีเด็กหรือไม่ ผลมันมากน้อยแค่ไหน
ผมว่าคุณมีคำตอบในใจแล้ว

อยากจะพูดถึงในมุมของจิตวิทยาของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ให้ละเอียด แต่เรียบเรียงออกมาไม่ได้ดีอย่างที่คิด
แต่ขอกล่าวสั้นๆ การที่เด็กได้รับการใช้ความรุนแรงเพื่อปกปิดบางสิ่ง เด็กจะเรียนรู้ที่จะใช้ความรุนแรงมากขึ้น

สุดท้าย ผมเห็นบางสิ่งที่มันดูต่างแต่มาคล้ายกัน นั้นคือประเด็น "รับน้อง"

"ตอนเด็กก็เคยโดนครูลงโทษเลย ยังผ่านมาได้"
"รุ่นพี่มันบ้า มันเคยโดนเค้าทำ เลยมาทำต่อกับรุ่นน้อง"
สองประโยคนี้ คนเดียวกันพูด!!!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่