[กระทู้วิทยานิพนธ์]แผนพัฒนาและค่าชดเชยผู้เล่นเยาวชน

ในฐานะลูกค้ารายใหญ่ของนักเตะเยาวชนหมดสัญญา หลายๆคนอาจงงว่า ปีก่อนลิเวอร์พูลก็ขึ้นโรงขึ้นศาลกับแดนนี อิงค์ ไปทีแล้ว ปีนี้ยังจะมีเรื่องกับโซลังเก้อีก นี่มันอะไรกัน

ดังนั้นขอต้อนรับเข้าสู่กระทู้วิทยานิพนธ์ ของแฟนบอลทีมที่คุณก็รู้ว่าใคร ว่าด้วย แผนการพัฒนาผู้เล่นชั้นเลิศ(Elite Player Performance Plan : EPPP) และกฏการย้ายของนักเตะเยาวชนครับ ยิ้ม

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แฟนบอลอังกฤษรู้กันดีว่าอังกฤษเป็นทีมที่ชื่อชั้นดังกว่าฝีเท้าเยอะ นักเตะค่าตัวแพง เงินเดือนสูง ฟอร์มไม่เอาอ่าว หลายปีนี้มานี้มีงานวิจัยบอกว่านักเตะอังกฤษเป็นตัวจริงในลีกบ้านเกิดน้อยกว่าชาติอื่นๆ(เช่นใน EPL นักเตะอังกฤษได้เวลารวมลงสนามราวๆ 38% เทียบกับ 51% ของนักเตะเยอรมันในบุนเดสลีก้า)

หลังจาก FA อังกฤษเค้นสมองแล้วเค้นสมองอีก(พร้อมๆกับหาทางขายลิขสิทธิ์ให้แพงขึ้น) ก็ได้ข้อสรุปเป็นแผน EPPP ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ข่าวว่าแผนนี้ FA ลอกมาจากเบลเยี่ยมกับเยอรมันแล้วแก้นิดแก้หน่อย แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปลอกอะไรมาจากใคร

ตามแผนนี้ เยาวชนจะถูกแบบเป็นสามรุ่นคือ รุ่นวางพื้นฐาน(U9-11) รุ่นเยาวชน(U12-U16) รุ่นพัฒนาอาชีพ(U17-21) ทางสมาคมจะจัดการหาเกมการเล่นให้ ในรูปแบบของลีค ส่วนการพัฒนา เป็นหน้าที่ของ Academy ซึ่งสมาคมเข้าไปควบคุมคุณภาพ(ต้องมีจำนวนโค้ช เงินลงทุน ฯลฯ ไม่ต่ำกว่าที่กำหนด)

Academy จะโดนแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 มีมาตรฐานสูงสุด ลงไปถึงกลุ่มที่ 4 ปัจจุบันอคาเดมี่ในกลุ่ม 1 มี 24 ทีมดังรูป
ทีมใน Academy แต่ละกลุ่มจะมีเกมการแข่งขันกับ Academy อื่นๆในกลุ่มเดียวกัน
สำหรับ Academy 1 FA จัดลีกเฉพาะให้เรียกว่า PL2 ซึ่งมี 2 ดิวิชั่น เลื่อนชั้นตกชั้นครั้งละสองทีม ดูผลการแข่งขันตามนี้ครับ
https://www.premierleague.com/tables?team=U21
(แมนยูนำขาด โหดมาก) ลีคแข่งปีที่แล้วปีแรก ดังนั้นคงยังวัดไม่ได้ว่า ทีมดิวิชั่นสองอ่อนกว่าดิวิชั่น 1 นะครับ คงต้องรออีก 2-3 ปี

ทีนี้เนื่องจาก Academy นั้นคลอบคลุมช่วงอายุกว้างมาก นักเตะเยาวชนปกติก็ไม่ได้ลงเอยกับทีมๆเดียวเสมอไป FA จึงวางมาตรการควบคุมขึ้นมา เพื่อชดเชยการเต๊าะเด็กจากทีมอื่นๆครับ

มาตรการนั้นคือทีมใหม่ที่ได้เด็กไปต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับ Academy ที่ปั้นขึ้นมา ตามตารางด้านล่าง


นั่นคือถ้านายกองทัพ ศิษย์มานอู อยู่กับ Academy Noname United มาตั้งแต่เก้าขวบ ก่อนเขาเฉดหัวทิ้งตอนอายุ 13 , Noname United จะได้เงินชดเชย 3000*2 + 12500*2 = 31,000 ปอนด์ จากทีมที่ยอมรับเขาไปเลี้ยงดู นอกจากนี้ถ้าบุญเสริมชะตาส่งเขาได้ลงเล่นในฟุตบอลอาชีพในอนาคต ก็จะได้ส่วนแบ่งเพิ่มอีกทั้งสิ้น 1.3 ล้านปอนด์(100 นัดใน EPL ลงไม่ถึง หรือลีกต่ำกว่าก็ลดลงไปตามส่วน) แต่ถ้าบุญญาวาสนาไม่ส่ง จำเป็นต้องย้ายทีมต่อๆไป ทีมต้นทางก็จะได้ส่วนแบ่ง 20% + 5% สำหรับทุกๆทอดถ้าย้ายภายในอังกฤษ

อ้าว ฟังดูก็ไม่มีปัญหานี่หว่า แล้วไหงลิเวอร์พูลปัญหาเยอะจัง?

ก็เพราะกฏข้อนี้บังคับใช้กับนักเตะอายุน้อยกว่า 24 ในส่วนของค่าชดเชยการฝึกซ้อม(ยังไม่เทิร์นโปร)เท่านั้น สำหรับการชดเชยกรณีของแดนนี่ อิงค์ และ โซลังเก้ นั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง

ในกรณีของโซลังเก้ นั้นนักเตะอายุน้อยกว่า 24 ปี ที่ปฏิเสธสัญญาอาชีพกับสโมสรเดิม เพื่อไปยังสโมสรใหม่ ต้องได้ค่าชดเชย ค่าชดเชยนี้สองทีมสามารถตกลงกันเอง หรือนำเรื่องเข้าสู่คณะตัดสินค่าชดเชย(PFCC) ของลีกก็ได้

PFCC ประกอบไปด้วย
1. ประธานกรรมการ
2. ตัวแทนจากฟุตบอลลีก (อาจเป็น EPL หรือ แชมเปี้ยนชิป)
3. ตัวแทนจากสมาคมนักเตะ
4. ตัวแทนจากสมาคม ผจก ทีม
ตัวแทนของทั้งสองสโมสรต้องชี้แจงว่าประเมินราคาผู้เล่นอย่างไร และ PFCC ก็จะตัดสินโดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้เล่น ผลงานและความสำคัญ ในทั้งสองทีม
ซึ่งตอนนี้สถิติแพงสุดของ PFCC ก็เหมือนจะเป็นอิงค์ครับ(6.5 ล้าน + 20% ของ กำไร หากขายต่อให้ทีมอื่น + โบนัสลงสนามไม่เกิน 1.5 ล้าน) และก็อาจโดนทำลายโดยโซลังเก้

อ้างอิงจาก :

https://en.wikipedia.org/wiki/Elite_Player_Performance_Plan
http://www.sufcacademy.com/a/elite-player-performance-plan-46984.html
http://playerscout.co.uk/football-development/football-academy-categories/
http://fullcontactlaw.co.uk/2016/11/compensation-players-24-mystery/
www.thefa.com/~/media/C2FB1444624F4367AA477A72D94B50BF.ashx
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่