...แก่นแท้ศาสนา การสวดมนต์ ฝึกฝน ภาวนา...

...แก่นแท้ศาสนา การสวดมนต์ ฝึกฝน ภาวนา...



"แก่นแท้ศาสนา
การสวดมนต์ ฝึกฝน ภาวนา
คือวิชา เบื้องต้น ชนชาวพุทธ
ระลึกคุณ พระพุทธองค์ ทรงบริสุทธิ์
เปรียบประดุจ ดั่งแก้วใส ไร้มลทิน"


คำว่า "สวด" เป็นกิริยาของการท่องที่เป็นทำนอง เป็นจังหวะ
        คำว่า "มนต์" สำหรับชาวพุทธก็คือคำเทศน์ หรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
        คำว่า "สวดมนต์" จึงเป็นเรื่องของการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
        สวดมนต์ไปก็ได้ความรู้และความเข้าใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้น แล้วแน่นอนว่าความสบายใจย่อมเกิดขึ้นมาด้วย
        เกิดขึ้นมาจากอานุภาพของธรรมะที่เราสวด และเกิดขึ้นเพราะเรารำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
        ยิ่งกว่านั้นในขณะที่กำลังสวดมนต์ใจก็เป็นสมาธิ แต่เป็นสมาธิในระดับตื้น ไม่ได้เป็นสมาธิในระดับลึกเท่าไร แต่ว่าก็ให้คุณประโยชน์กับใจของเราได้ในระดับหนึ่ง คือให้ความชุ่มชื่นใจ ให้ความเบิกบานใจ แล้วก็ได้ความปลื้มปีติที่ว่าเราได้ทบทวนคำสอนธรรมะของสมเด็จพ่อของเรา
        ด้วยเหตุที่การสวดมนต์สามารถนำความปลื้มปีติใจ นำสมาธิมาให้ในระดับตื้น ท่านจึงได้อุปมาว่าการสวดมนต์เหมือนอย่างกับยาทา ซึ่งยาทาชนิดนี้ ไม่ใช่ยาทาแบบยาหม่องธรรมดา ๆ แต่ว่าทาแล้วทะลุถึงใจเลยทีเดียว
        ส่วนคำว่า "ภาวนา" หมายถึง การทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง ชนิดนั่งสมาธิกันเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือบางทีทำต่อเนื่องเป็นเดือน เป็นปีกันทีเดียว
        หรือเอาเป็นว่าสำหรับนักทำสมาธิโดยทั่ว ๆ ไปแบบชาวโลก ทำสมาธิกันแต่ละครั้งก็ประมาณ ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๔๕ นาที เป็นอย่างน้อย ใจก็ดื่มด่ำหยุดนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายภายในตัว
        การที่ใจหยุดนิ่งลงไปอย่างนั้น เพราะว่าขณะที่ทำสมาธิเราหลับตา จึงไม่มีภาพอะไรมารบกวนนัยน์ตา แล้วใจก็รวมอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อเป็นอย่างนี้ใจจึงหยุดนิ่งได้สนิทกว่าการสวดมนต์
        เมื่อใจหยุดใจนิ่งได้สนิทกว่าการสวดมนต์ ความชุ่มชื่นที่เกิดภายในก็ตาม ความสว่างที่เกิดภายในก็ตาม ย่อมมีมากกว่าการที่สวดมนต์
        ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำได้ถูกส่วนจริง ๆ การเห็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ในขณะที่ทำภาวนานี่เอง ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้อุปมาการทำภาวนาอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่องนี้ว่าเหมือนอย่างกับยากิน คือสามารถแก้ไข้ แก้ปวดได้มากกว่ายาทา
        แต่อย่างไรก็ตาม เราอย่าไปคิดเปรียบว่าอะไรดีกว่าอะไรเลย เพราะว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่เราจะต้องท่อง เมื่อท่องแล้วก็นำมาตรอง นำมาใช้เป็นหลักในการทำภาวนา
        เมื่อการสวดก็มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นยาทาประเภทที่ทาแล้วเข้าไปถึงใจ ส่วนการทำสมาธิก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน
        ตามวัดวาอารามต่าง ๆ พระท่านตื่นกันตั้งแต่ตี ๔ เพื่อลุกขึ้นมาสวดมนต์ ทบทวนคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สวดมนต์กันเป็นชั่วโมงทีเดียว เสร็จแล้วท่านก็ทำสมาธิของท่านต่อ
        เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อทราบประโยชน์กันอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้พวกเรา แม้อยู่ที่บ้านอย่างน้อยก็ต้องสวดมนต์ก่อนนอน แล้วถ้าตอนเช้าก่อนไปทำงานได้สวดอีกสักรอบหนึ่งก็ยิ่งดี
        และที่ขาดไม่ได้คือต้องทำสมาธิ เพื่อใจจะได้ใสเต็มที่ เพราะถ้าคืนนี้นอนหลับไปแล้ว ไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีก ก็จะได้ละโลกไปด้วยใจใส ๆ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกันว่า ผู้ที่ละโลกไปขณะใจใสย่อมมีสวรรค์หรือสุคติเป็นที่ไป
        แต่ว่าถ้าหลับไปแล้ว เช้าก็ยังได้ตื่นขึ้นมาดูดวงอาทิตย์อีก ก็จะตื่นขึ้นมาด้วยใจใส ๆ พร้อมกับความคิดที่สร้างสรรค์ จิตใจที่เบิกบาน เมื่อเป็นอย่างนี้อนาคตของเราย่อมดีแน่ ๆ เลย
        เพราะฉะนั้น ต้องทั้งสวดมนต์ ทั้งภาวนา ควบคู่กันไป อย่าได้ขาดแม้สักวันทีเดียว

http://www.kalyanamitra.org/th/uniboon_detail.php?page=1169
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่