รายงานสรุปจากหัวหน้าสำหรับคนที่กังวลเรื่อง "มะเร็งต่อมมูลหมาก"

สืบเนื่องจากที่เล็กได้เคยลงใน Pantip เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 และได้รับการติดต่อมาหาเล็กเพื่อพูดคุย และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเล็กได้เล่าเรื่องราวของทุกท่านที่มีความกังวลให้กับเจ้านายฟัง ท่านจึงอยากจะสรุปข้อมูลต่างๆ นี้มาเพื่อให้ลงใน Pantip นี้อีกครั้ง สำหรับคนไข้และญาติของคนไข้ที่มีความกังวล เมื่อค่า PSA เกินมาตรฐาน 4 หลังจากการตรวจเลือดแล้ว เจ้านายได้สรุปให้ทราบเพิ่มเติมว่า
จากการค้นคว้าทราบมาว่า ล่าสุดการแพทย์ที่สหรัฐฯ เห็นว่าการวัดหา PSA ไม่เหมือนการวัดความดันโลหิต จึงไม่จำเป็นต้องเป็นรายการที่ต้องตรวจทุกครั้งไป ทั้งนี้ให้เป็นดุลยพินิจของนายแพทย์แต่ละราย
อีกทั้งค่า PSA นั้นมิได้ให้ข้อสรุปว่า จะเป็นมะเร็งที่ทำลายชีวิตคนไข้ทุกรายไป เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากเติบโตช้ากว่ามะเร็งประเภทอื่นๆ แม้แต่ผู้ที่ไม่รักษานั้น มีมากรายที่จะเสียชีวิตจากโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับต่อมลูกหมากโดยตรง (สถิติได้สรุปไว้ว่าชนผิวดำมีโอกาสสูงกว่าชนชาติอื่น และชนชาติในเอเชียอยู่ในประเทศที่รั้งท้าย) ตัวอย่างคือ พี่ชายของท่านวัด PSA ได้ในระดับมากกว่า 20 เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน ในขณะที่ท่านขณะนั้นวัดได้ 12 และได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดออกตามที่ได้เคยเรียนให้ทราบ ในขณะที่พี่ชายของท่านปล่อยไปโดยไมได้ทำอะไรเลย วันนี้ค่า PSA ของพี่ชายวัดได้ 15 แต่พี่ชายท่านเฝ้าระวังและกังวลอยู่ตลอดเวลา (อายุตอนนี้ 80 กว่าแล้ว)
อย่างไรก็ดี น้อยท่านที่จะกล้าปล่อยไปโดยไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเป็นการชั่งน้ำหนักที่ลำบากหน่อยหาก PSA สูงกว่ากำหนด ส่วนใหญ่การรักษาก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่จะแนะนำแต่ละท่านว่าจะรอบรู้และละเอียดเพียงใดและความกล้าของคนไข้ด้วย เจ้านายจึงรวบรวมวิธีการรักษาเท่าที่จะพอทราบมาดังนี้ :-
ทางเลือกที่ 1) การผ่าตัด (Robotic Radical Prostatectomy) หรือผ่าตัดแบบไม่ใช้หุ่นยนต์ (ต่างกันคือรายหนึ่งเจ็บน้อยอีกแบบหนึ่งเจ็บมากกว่า) เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็ติดตามว่าค่า PSA จะลดลงเพียงใด ส่วนใหญ่จะเหลือ 0.0…. และก็จะให้ติดตามต่อไปทุกๆ 3 เดือนในปีแรกๆ แต่หากวัดได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว เช่น จาก 0.1 เป็น 0.2 นั้น ก็ส่อให้เห็นว่าเนื้อร้ายยังตัดไม่หมด ดังเช่นเจ้านายที่ตกอยู่ในกรณีนี้ จึงเข้าทำการรักษาโดยการฉายแสงต่อไปเมื่อสามปีที่แล้ว และปัจจุบันทำการตรวจเช็คเลือดอยู่ตลอดเวลาทุกสามเดือน ผลยังเป็นที่น่าพอใจมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว (เริ่มฉายแสงเดือนเมษายน 2557) ปัจจุบันกลับไปหาคุณหมอรังสีทุก 6 เดือนแล้ว
การฉายแสง คือ ดื่มน้ำมากๆ ขณะนั่งรอเพื่อฉายแสง ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 นาที และไม่มีผลข้างเคียงอื่นใด และผมบนศีรษะไม่ร่วง
ประสบการณ์จากการฉายแสง ทำการฉายแสงต่อเนื่องเป็นเวลา 35 วัน ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ไม่มีผลร้ายใดๆ โดยขั้นตอนคือจะให้ดื่มน้ำปริมาณเป็นลิตร และต้องกลั้นปัสสาวะไว้ เพื่อทำการฉายแสงเป็นเวลา 2 นาที แต่ไม่มีผลกระทบในเรื่องผมร่วงดังที่ส่วนใหญ่จะกังวลกัน
ข้อเสียจากการผ่าตัดออกมีสองอย่างคือ ปัสสาวะจะเล็ดรอดออกมาเล็กน้อย และความรู้สึกทางเพศจะด้อยลงบ้าง ซึ่งพี่ชายของเจ้านายไม่ได้รับผลทางนี้ คุณภาพชีวิตน่าจะดีกว่า แต่ก็ไม่น่าจะดีกว่ามากนักเพราะกังวลอยู่ตลอด ส่วนเจ้านายมีความรู้สึกสบายใจในปัจจุบัน
ทางเลือกที่ 2) การฝังแร่ (Brachytherapy) มีคุณหมอไทยท่านหนึ่งอยู่ต่างประเทศ แต่กลับมาเพื่อบริการนี้เป็นครั้งๆ และเคยโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อแสดงสรรพคุณว่าไม่มีผลข้างเคียง และเจ้านายได้เคยสอบถามคุณหมอด้านรังสีที่ประจำอยู่ในไทยก็ได้กล่าวไว้ท่านก็มีบริการด้านนี้ด้วย
การฝังแร่นั้น จากความคิดเห็นของแพทย์ที่ช่ำชองด้านผ่าตัดว่าหากฝังแร่แล้ว จะไม่สามารถผ่าตัดทีหลังได้อีก แต่จากการศึกษาจาก Google แล้วมีแพทย์บางท่านได้กล่าวว่า ยังสามารถจะผ่าตัดได้อีก หากเนื้อร้ายยังค้างอยู่
ข้อเสีย คือ ห้ามเข้าใกล้เด็กในระยะแรกหลังทำการฝังแร่แล้ว ข้อดี คือ ไม่มีผลข้างเคียง
ทางเลือกที่ 3) ไม่ต้องทำอะไรเลยและเฝ้าดู (Watchful Waiting & Active Surveillance) ซึ่งเป็นทางเลือกของพี่ชาย แต่ก็มีความกังวลด้านจิตใจ ซึ่งหากตัวเนื้อร้าย ไม่ลามเข้ากระดูกความเสี่ยงคงน้อย
ทางเลือกที่ 4) การให้ยาเคมีบำบัด (Hormone therapy) เจ้านายไม่มีความรู้ด้านนี้
ทางเลือกที่ 5) ให้ยาทานเกี่ยวกับฮอร์โมน เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยแพทย์จะทำการลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก เจ้านายก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้
ทางเลือกที่ 6) อื่นๆ เช่น แพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) เจ้านายไม่มีความรู้ด้านนี้

สรุป เมื่อเจ้านายมีความรู้เพียงจากมีประสบการณ์โดยตรงเท่านั้น ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ ที่เขียนมาเป็นการให้ความรู้ต่อผู้อ่านให้ทราบถึงประสบการณ์ที่ได้รับมา เผื่อสำหรับผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนและเป็นคนไข้รายใหม่ เจ้านายจึงอยากจะช่วยให้คนไข้ได้ทราบว่าทางเลือกมีหลายอย่าง จึงแนะนำให้ปรึกษาคุณหมอหลายๆ ท่าน เจ้านายของเล็กบอกว่า เมื่อมองย้อนหลังแล้ว ถ้ามีโอกาสเลือกอีกครั้ง คงเลือกแบบฝังแร่ เนื่องจาก ไม่มีผลร้ายตามข้อ 1. เพราะเนื่องจากที่สงสัยเนื้อร้ายนั้น เมื่อทำ Biopsy แบบสุ่มบนต่อมลูกหมากแล้ว อยู่บริเวณขอบๆ ของต่อมลูกหมาก การผ่าตัดมีโอกาสที่จะผ่าตัดออกไม่หมดได้ ขณะที่ฝังแร่นั้น มีโอกาสที่จะซึมเข้าไปในต่อมลูกหมากทุกแห่ง
ทั้งนี้ เพราะมาทราบว่าความกังวลมีมากพอสมควรเมื่อได้ทราบถึงผล PSA เกินมาตรฐาน ซึ่งเขียนมาเพื่อให้คนไข้และญาติกังวลน้อยลงเมื่อพบผลว่าออกมาทางนี้ จึงอยากจะแชร์ความรู้กับผู้ที่ตกอยู่ในข่ายการเริ่มต้นกังวล
การปรึกษาคุณหมอที่ใกล้ชิดถึงวิธีการที่เหมาะสม หากไปปรึกษานายแพทย์ที่ช่ำชองด้านการผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยเฉพาะเขาก็จะแนะนำให้ผ่าตัด ดังนั้นจึงสมควรปรึกษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านอื่นด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่