VTE-QTC-ECF ประสานพลังผงาดที่เมียนมาร์ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าขนาด 220 MW-เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ Q1/61วินเทจฯ

กระทู้ข่าว
           บริษัทจดทะเบียนไทยผงาดในเมียนมาร์ VTE-QTC-ECF โดยเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 220 เมกะวัตต์ ของบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP ที่เมืองมินบู รัฐมาเกวย ประเทศเมียนมาร์  โดย ECF ถือหุ้นร้อยละ 20 และ QTC ถือหุ้นร้อยละ 15 ส่วน VTE รับโชคสองชั้นเป็นทั้งผู้ถือหุ้นร้อยละ 12 และได้งานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งโครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,387 ล้านบาท ผู้บริหารสุดปลื้มเพราะเป็นรายแรกของไทยที่คว้างานเมกะโปรเจ็กโซลาร์ฟาร์มในเมียนมาร์ ประเมินจะเริ่มการจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 1/2561 ชี้ส่งผลดีต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น เหตุจะสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวจากสัญญาขายไฟฟ้านานถึง 30 ปี อีกทั้งเปิดประตูสู่การต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะโครงการด้านพลังงานในเมียนมาร์ และประเทศอื่นๆ ต่อไป
          นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (VTE) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) มีบริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทยเข้าร่วมถือหุ้นด้วยกันสามบริษัทคือ บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ  บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค  หรือ ECF ถือหุ้นร้อยละ 20 บริษัท คิวทีซีโกลบอลพาวเวอร์ จํากัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี หรือ QTC ถือหุ้นร้อยละ 15 และ บมจ.วินเทจ วิศวกรรม ถือหุ้นร้อยละ 12 สำหรับผู้ถือหุ้นที่เหลือคือ Noble Planet Pte. Ltd.(สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 5 และ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. (สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 48
           ทั้งนี้ GEP มีบริษัทย่อย 1 แห่ง ถือหุ้น 100% คือ บริษัท จีอีพี (เมียนมาร์) จำกัด (GEP-Myanmar) เป็นบริษัทสัญชาติเมียนมาร์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement เค้าล้อเล่นPA) กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ Ministry of Electricity and Energy ของเมียนมาร์ โดย EPGE จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทติย์ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 220 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดที่ 170 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ที่ 0.1275 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยไฟฟ้า ตลอดอายุสัญญาของ PPA
           โครงการผลิตไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 4 เฟส รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น220 เมกะวัตต์  อัตราการรับซื้อสูงสุด 170 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่ม COD ได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
         “สำหรับ VTE เหมือนกับได้รับโชคสองชั้นในโปรเจ็กนี้ เพราะนอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 12 แล้ว ยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 292.62 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,080.76 ล้านบาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 34.45 บาท ต่อเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 31มีนาคม 2560) และถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งเพราะนี่คืองานที่เป็นเมกะโปรเจ็กของเมียนมาร์ และวินเทจฯ คือผู้ประกอบการจากประเทศไทยรายแรกที่ได้ทำงานใหญ่ขนาดนี้  ซึ่งจะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้างยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตได้มากกว่าเดิม"
         นายศุภศิษฏ์ กล่าวต่อในช่วงท้ายว่าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนที่เมียนมาร์ จะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น คือนอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจเพื่อให้การเติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้อีกด้วย เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรที่มั่นคง




By Share2Trade
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่