ดูโหมโรงแล้วมีข้อสงสัยดังนี้ครับ

1.เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ทรงมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับจังหวัดราชบุรีครับ
2.เจ้านายของขุนอินที่ทรงประลองระนาดกับเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์คือเจ้านายพระองค์ใดครับ
3.เหตุใด พันโทวีระจึงไม่จับท่านครูครับ
4.แม่โชติคือชาววังเช่นเดียวกับแม่พลอยในสี่แผ่นดินใช่มั้ยครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง เป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยได้ "แรงบันดาลใจ" จากเค้าโครงเหตุการณ์และประวัติของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่มีการเปลี่ยนชื่อบุคคล  หรือเสริมแต่งเหตุการณ์ต่างๆ เพื่ออรรถรสในการรับชม ไม่ใช่สารคดีประวัตืศาสตร์ ดังนั้นก็คิดไว้ก่อนว่าตัวละครที่มีในหนังอาจจะมีบทบาทไม่ตรงกับในประวัติศาสตร์ครับ

ตัวละครที่เป็นสมเด็จเจ้านายของศร ซึ่งในหนังไม่ได้ออกพระนามว่าคือสมเด็จวังบูรพาฯ (ในรายชื่อนักแสดงใช้ชื่อว่า สมเด็จฯ)  ก็มีการแต่งตัวแบบเก่า ไว้ผมทรงมหาดไทยที่พ้นสมัย  เป็นการดีไซน์ตัวละครให้ดูโดดเด่นเฉยๆ  ดังนั้นเรื่องเจ้านายของขุนอินที่ดูมีศักดิ์สูงกว่าสมเด็จวังบูรพาในหนัง (ซึ่งในรายชื่อนักแสดงใช้ชื่อว่า สมเด็จฯ เหมือนกัน) ก็ไม่จำเป็นว่าต้องตรงกับในประวัติศาสตร์ครับ


แต่เหตุการณ์ในภาพยนตร์หลายตอนอ้างอิงจากประวัติจริงของหลวงประเดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครับ อย่างเช่น เรื่องที่นายศรกลัวต้องประชันระนาดกับนายแช่ม (ต้นแบบของตัวละคร “ขุนอิน‘) จนหนีออกจากวัง และภายหลังกลับมาจึงถูกสมเด็จวังบูรพาฯ กริ้วจนเอาปี่ชวาตีหัวแตก  และมีการประชันเชิดต่อตัวจนนายแช่ม เกิดอาการ "มือตาย" จนลูกวงต้องช่วยกันแกะไม้ระนาดออกจากมือ



สำหรับคำถามที่ถามมา

1. ใน พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสถ้ำเขางูเมืองราชบุรี จึงมีการเร่งก่อสร้างทางหลวงเชื่อมต่อระหว่างราชบุรีกับบางกอกให้ทันเสด็จ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พระอิสริยยศในเวลานั้น) ทรงเป็นแม่กองคุมงานก่อสร้างทางในคราวนั้น  ซึ่งในเวลานั้นก็ทรงเสาะหานักปี่พาทย์ฝีมือดีมาประจำวงของพระองค์ด้วย

พอทรงทราบว่านายศรลูกครูสินตีระนาดดี ชนะประชันมามากมายในเขตนี้จึงทรงขอดูตัว ขุนราชปุการ (เชย) จึงเป็นผู้นำตัวนายศรจากบ้านที่สมุทรสงครามมาราชบุรีเพื่อเข้าเฝ้า และได้ตีระนาดให้ทอดพระเนตร พอตีถึงเดี่ยวกราวในยังไม่ทันจบเพลง ก็ถอดพระธำมรงค์ประทาน แล้วรับสั่งถามเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีว่า "เด็กคนนี้ลูกใคร" เจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ จึงให้เบิกตัวครูสินเข้าเฝ้า จึงทรงมีรับสั่งขอตัวนายศรจากครูสินเพื่อไปเป็นมหาดเล็กในวัง นายศรจึงได้ตามเสด็จไปวังบูรพาในคราวนั้นครับ


2. ขุนอิน เป็นตัวละครสมมติที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งมีประวัติว่าเป็นผู้มีฝีมือทางระนาดเอกเป็นเลิศ ตีเสียงไหวจ้าไม่มีใครสู้ได้ เคยประชันระนาดกับจางวางศรใน พ.ศ. 2443 โดยขณะนั้นนายแช่มมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเสนาะดุริยางค์ อายุได้ 34 ปี  ส่วนนายศรอายุได้ 19 ปี

ผู้อุปถัมภ์ของนายแช่มคือ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) แห่งวังบ้านหม้อ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกรมมหรสพ  ในเวลานั้นวังบ้านหม้อเป็นที่ทำการของกรมมหรสพ จึงเป็นแหล่งรวมของคนดนตรีและคนละครที่มีฝีมือจำนวนมาก วงปี่พาทย์วังบ้านหม้อจึงเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น และนายแช่มเองก็เป็นคนดนตรีสังกัดกรมพิณพาทย์หลวงที่เป็นกรมย่อยที่ขึ้นกับกรมมหรสพอีกต่อหนึ่งครับ

แต่ในหนังเปลี่ยนเจ้านายของขุนอินเป็นตัวละครสมมติที่เป็นเจ้านายระดับสูง (รายชื่อนักแสดงเรียกว่า "สมเด็จฯ") ตามประวัติศาสตร์ พระราชวงศ์ที่สมเด็จวังบูรพาฯ จะทรงแสดงออกด้วยความเคารพนบนอบอย่างในหนังควรมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ


3. หนังทำเป็นปลายเปิดให้คนดูลองไปคิดเองครับ แต่เข้าใจว่าเพราะดนตรีที่ท่านครูเล่นนั้นสื่อความนัยบางอย่างให้พันโทวีระตระหนักได้ถึงความรู้สึกอัดตั้นตันใจของคนดนตรีในเวลานั้น จนพันโทวีระเข้าใจและยอมปล่อยวางในที่สุด

เพลงที่เล่นมีชื่อว่า "แสนคำนึง" เป็นเพลงที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะแต่งในยุค "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ซึ่งในเวลานั้นมีประกาศห้ามเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิด และรัฐบาลเห็นว่าชื่อเพลงไทยที่มีคำนำหน้าว่าลาว แขก พม่า ฯลฯ ไม่ถูกตามวัฒนธรรมไทย จึงให้ตัดทิ้งหมด คนดนตรีไม่สามารถเล่นดนตรีได้ จะแอบเล่นในบ้านก็ไม่ได้เพราะมีความผิด หลวงประดิษฐ์ไพเราะจึงแต่งเพลงนี้ขึ้นเพื่อเป็นการระบายความคับอกคับใจที่มีการห้ามเล่นดนตรีไทยในสมัยนั้นครับ


4. แม่โชติ  ในหนังก็ดูเหมือนจะเป็นชาววัง แต่ต่างจากแม่พลอยคือแม่พลอยอยู่วังหลวง แม่โชติอยู่วังบูรพาภิรมย์

ตามประวัติจริง แม่โชติเป็นบุตรีคนโตของพันโท พระประมวญประมาณผล (พันธุ์ หุราพันธุ์) สมุห์บัญชีกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีบ้านอยู่ละแวกหน้าวังบูรพาฯ เวลาจางวางศรจะออกจากวังไปอาบน้ำที่ท่าน้ำริมคลองโอ่งอ่างหน้าวังก็จะผ่านบ้านของแม่โชติเสมอ แม่โชติเองก็มีญาติอยู่ในวังบูรพาฯ และเคยเข้ามาฟังการบรรเลงดนตรีในวังด้วย ภายหลังทั้งสองก็มีความรักต่อกัน สมเด็จวังบูรพาฯ ทรงทราบจึงทรงเป็นพระธุระสู่ขอและจัดงานแต่งงานประทานให้จางวางศรกับแม่โชติครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่