ทฤษฎีความทรงจำระดับเซลล์

ความทรงจำระดับเซลล์เป็นแนวความคิดที่ว่าเซลล์ร่างกายมนุษย์สามารถเก็บข้อมูลบุคลิกภาพรสนิยมและอดีตของเรา ซึ่งเป็นอิสระจากรหัสทางพันธุกรรมหรือเซลล์สมอง เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์มานาน อย่างในอดีตคนโบราณหลายเผ่าที่มีความเชื่อว่าถ้ากินหัวใจของศัตรูที่กล้าหาญที่เสียชีวิตในสนามรบจะได้รับความเข้มแข็งกล้าหาญมาสู่ตน หรือการกินอวัยวะต่างๆของสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมเช่นความมีอายุยืนหรือความคึกคักทางเพศ  แม้ทุกวันนี้บางคนคิดว่าการกินสมองจะทำให้พวกเขาฉลาดขึ้น


แนวความคิดเกี่ยวกับความทรงจำระดับเซลล์ไม่ได้มีจุดเริ่มจากทางวิทยาศาสตร์แต่ปรากฏในภาพยนตร์มาก่อน เช่นเรื่อง Les Mains d'Orlac (1920) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักเปียโนที่สูญเสียมือจากอุบัติเหตุและได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนมือจากฆาตกร  หลังจากนี้ก็มีภาพยนตร์แนวนี้ออกมาอีกหลายเรื่อง แม้แต่ในไทยก็มีภาพยนตร์ทำนองนี้ถูกสร้างขึ้นซึ่งต่อมาถูกนำไปรีเมคเป็นหนังฮอลลีวูดในชื่อ The Eye ซึ่งเป็นเรื่องของหญิงนักดนตรีตาบอดที่ได้รับพลังพิเศษจากการเปลี่ยนดวงตาจากหญิงซึ่งมีพลังในการมองเห็นสิ่งลี้ลับ


การเปลี่ยนหัวใจและความทรงจำระดับเซลล์
ปรากฎการณ์ความทรงจำระดับเซลล์ไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะวิทยาศาสตร์แบบ 100% แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จำนวนมากให้การสนับสนุนทฤษฎีนี้ แนวความคิดที่ว่าพฤติกรรมและอารมณ์จากคนหนึ่งสามารถถ่ายทอดไปยังอีกคนหนึ่งผ่านอวัยวะที่ได้รับการเปลี่ยนถ่าย ซึ่งความทรงจำที่ซับซ้อนถูกเก็บในใยประสาทของอวัยวะที่ได้รับบริจาค
การเปลี่ยนถ่ายหัวใจถูกระบุว่ามีสถิติสูงสุดในการโอนย้ายความทรงจำระหว่างผู้ป่วยมากที่สุด การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Quality of Life Research นักวิจัยได้สัมภาษณ์คนไข้ 47 รายในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายหัวใจในช่วง 2 ปี นักวิจัยพบว่า 79%ของคนไข้ไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพหลังการเปลี่ยนหัวใจ 15% รายงานว่ามีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ และ 6% ยืนยันว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในบุคลิกภาพซึ่งเป็นผลจากหัวใจใหม่ที่ได้รับมา

ที่ School of Nursing ที่ University of Hawaii ใน Honolulu, นักวิจัยได้พยายามประเมินการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะกับประวัติของผู้บริจาค นักวิจัยได้โฟกัสไปที่คนไข้ 10 รายซึ่งได้รับการเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งพบว่า 2 ใน 5 ของผู้ได้รับการเปลี่ยนหัวใจมีความสัมพันธ์กับประวัติของผู้บริจาค การศึกษาได้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอาหาร เพลง ศิลปะ รสนิยมทางเพศ และความชอบทางอาชีพ ผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งได้รับการเปลี่ยนถ่ายหัวใจจากชายที่ถูกยิงที่ใบหน้าได้รายงานถึงความฝันในการเห็นประกายไฟพุ่งตรงมาที่ใบหน้า
นอกจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ มันยังมีกรณีในชีวิตจริงหลายเรื่องที่สนับสนุนทฤษฎีความทรงจำระดับเซลล์ Claire Sylvia ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจจากเด็กชายวัย 18 ปีที่ตายจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ ได้รายงานถึงความอยากเบียร์และนักเก็ตไก่หลังการผ่าตัดทั้งที่ไม่เคยชอบมาก่อน และยังมักมีความฝันถึงคนที่ชื่อว่า Tim L. ซึ่ง Sylvia พบว่าผู้บริจาคอวัยวะให้เธอชื่อว่า Tim และชอบอาหารที่เธออยาก เรื่องเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือของเธอที่ชื่อ A Change of Heart.


การเปลี่ยนถ่ายตับและกรุ๊ปเลือด
กรณีศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ได้สนับสนุนความเป็นไปได้ของความทรงจำระดับเซลล์ เด็กหญิงชาวออสเตรเลียที่ชื่อ Demi-Lee Brennan ได้มีกรุ๊ปเลือดที่เปลี่ยนไปหลังจากได้รับการเปลี่ยนตับจากผู้บริจาค หลังจากการเปลี่ยนถ่ายแล้ว 9 เดือน แพทย์ได้พบว่ากรุ๊ปเลือดของคนไข้เปลี่ยนไป เด็กหญิงได้รับระบบภูมิคุ้มกันจากผู้บริจาคเป็นผลจากสเต็มเซลล์ของตับใหม่ที่ได้รับมาซึ่งไปเปลี่ยนแปลงไขกระดูกของเธอ และระบบภูมิคุ้มกันของเธอก็ถูกสวิทซ์ให้ไปเป็นแบบเดียวกับของผู้บริจาค


ร่องรอยของความทรงจำสามารถคงอยู่ในเซลล์ของร่างกายได้หรือไม่
เมื่อความทรงจำสูญหาย มันหายไปตลอดกาลหรือไม่ นักวิจัยส่วนใหญ่ตอบว่า ใช่ แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ได้ชี้ว่า ความทรงจำที่สูญหายอาจคงอยู่ในนิวคลีอัสของเซลล์ ซึ่งอาจสามารถเรียกคืนได้หรือสร้างขึ้นใหม่ได้
ทฤษฎีล่าสุดที่ได้รับการยอมรับจากนักประสาทวิทยาระบุว่า หน่วยความจำระยะยาวอาศัยอยู่ที่ไซแนปส์ ซึ่งเป็นที่ว่างซึ่งแรงกระตุ้นจะส่งผ่านจากเซลล์ประสาทอันหนึ่งไปยังอีกอันหนึ่ง ความทรงจำสุดท้ายขึ้นอยู่กับเครือข่ายอันเข้มแข็งของโครงข่ายประสาท ความทรงจำจะอ่อนแอหรือจางหายไปหากไซแนปส์ลดระดับลง


การศึกษาชิ้นใหม่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ได้ศึกษา เซลล์ประสาทของปลิงทะเลในจานเลี้ยงเซลล์ ในช่วงหลายวันที่เซลล์ประสาทสร้างไซแนปส์จำนวนหนึ่ง  นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้สารนำประสาท serotonin ให้กับเซลล์ประสาทเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างไซแนปส์จำนวนมาก ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่สิ่งมีชีวิตก่อสร้างหน่วยความจำระยะยาว เมื่อพวกเขายับยั้งเอนไซม์ที่สร้างความจำและตรวจดูเซลล์ประสาทหลังจากผ่านไป 48 ชั่วโมง จำนวนของ ไซแนปส์ก็กลับไปเป็นจำนวนเริ่มต้น แต่มันไม่ได้เป็นไซแนปส์แบบเดียวกันกับอันที่เป็นมาก่อน บางส่วนของตัวดั้งเดิมและอันใหม่ได้หวนกลับไปสร้างไซแนปส์ด้วยจำนวนที่แน่นอนกับที่เคยเป็นของเซลล์เริ่มต้น
การค้นพบสร้างความแปลกใจเพราะว่าเซลล์ประสาท “รู้” จำนวนไซแนปส์ที่จะก่อสร้างได้อย่างไร ซึ่งหมายความว่ามันมีการเข้ารหัสของสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญของความจำเก็บไว้ในที่ใดที่หนึ่ง นักวิจัยยังได้ทดลองการทดลองคล้ายๆกันกับปลิงทะเลที่มีชีวิตซึ่งพบว่าหน่วยความจำระยะยาวอาจถูกลบออกทั้งหมด (เมื่อวัดโดยซากยุบของมันถูกทำลาย) และสร้างขึ้นใหม่ได้โดยมีการกระตุ้นเล็ก ๆ อีกครั้งซึ่งแสดงว่ามีข้อมูลบางอย่างถูกจดจำและเก็บไว้ในตัวของเซลล์ประสาท


สรุป ความทรงจำระดับเซลล์เป็นเรื่องเก่าแก่โบร่ำโบราณ จึงถูกมองว่าเหลวไหล เป็นเพียงความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ก็มีรายงานทางการแพทย์บันทึกไว้ตรงกันทั่วโลกถึงประสบการณ์ของผู้รับอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพไปตามบุคลิกภาพของผู้บริจาคอวัยวะ และบางกรณีก็ยังได้รับการถ่ายทอดความทรงจำที่ซับซ้อนมาอีกด้วย ซึ่งก็มีแนวคิดมากมายเกิดมาเพื่ออธิบายความเป็นไปได้ของปรากฎการณ์เหล่านี้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่ๆเริ่มแสดงถึงความเป็นไปได้ของทฤษฎีความทรงจำระดับเซลล์ว่าอาจเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ แต่ศาสตร์ด้านนี้ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ซึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับในฐานะทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์ไม่ใช่เป็นแค่วิทยาศาสตร์เทียมก็คงต้องใช้เวลาค้นคว้าวิจัยอีกนาน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราอาจเข้าใจความหมายของชีวิตดีขึ้นกว่านี้เป็นแน่

ที่มา
http://skepdic.com/cellular.html
http://www.medicaldaily.com/can-organ-transplant-change-recipients-personality-cell-memory-theory-affirms-yes-247498
https://www.scientificamerican.com/article/could-memory-traces-exist-in-cell-bodies/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่