เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้หนีออกบวชกลางคืนกับนายฉันนะ หากออกบวชกลางวัน ต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดา

และเสด็จออกบวชเพราะเรื่องการเมือง ?

ผมเคยพูดกับเพื่อนๆ หลายคนว่า คนที่ศึกษาพุทธศาสนา ถ้ามีภูมิหลังเป็นนักประวัติศาสตร์แล้วจะศึกษาได้ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าคนที่บวชเรียนนักธรรมบาลีโดยตรงอย่างผมแน่นอน
เหตุผลหรือครับ ศาสดาใดก็ตาม จะบัญญัติหลักคำสอนหรือคิดค้นเทคนิคการสอนไปแนวไหน อย่างไร แบ๊กกราวนด์ของศาสดานั้นมีส่วนในการกำหนดไม่น้อย

ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อ เมื่อพระองค์ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นแล้ว พระองค์มอบอำนาจทางการปกครองให้พระสงฆ์จัดการกันเอง การตัดสินปัญหาต่างๆ พระพุทธองค์มิได้เป็นผู้บงการหรือชี้นำ พระสงฆ์ตัดสินกันเอง โดยระบบ "ถือเสียงข้างมาก"
หรือที่ภาษาเทคนิคเขาเรียกว่า เยภุยยสิกา

สังฆกรรมของสงฆ์จึงดำเนินไปโดยระบบประชาธิปไตย ไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่มีเผด็จการ
เช่น ใครจะเข้ามาบวช อุปัชฌาย์ จะใช้สิทธิ์รับเข้ามาเอง โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระสงฆ์ทั้งหมดไม่ได้
ผู้ที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ ก็จะสรุปเอาง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นวิธีปกครองแบบประชาธิปไตยพระพุทธศาสนาเท่านั้นมีการปกครองแบบประชาธิปไตยก่อนใครทั้งหมด

แต่ถ้ามองจากสายตาของนักประวัติศาสตร์ เราก็จะทราบว่า ระบบเยภุยยสิกาของพระพุทธเจ้า พระองค์มิได้คิดค้นมาจากไหน พระองค์ก็เอามาจากภูมิหลังที่พระองค์เคยประสบพบเห็นอยู่ก่อนเสด็จออกบรรพชานั่นเอง

อินเดียสมัยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ภูมิภาคแถบเชิงเขาหิมาลัยมีกลุ่มหรือเผ่าชนที่มีระบบการปกครองไม่เหมือนเผ่าอื่นจำนวนหนึ่ง เท่าที่นักประวัติศาสตร์ยืนยันก็มี พวกลิจฉวีแห่งไพศาลี มัลละ แห่งปาวาและกุสินารา ศากยะแห่งกบิลพัสดุ์ โกลิยะแห่งเทวทหะ พวกนี้จะเลือกตั้งผู้ปกครองขึ้นมาโดยการลงคะแนนเสียงรัฐสภา ซึ่งเรียกกันสมัยนันว่า "สัณฐาคาร"

คนที่ได้รับเลือกตั้งโดยผ่านเสียงข้างมาก เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า "กษัตริย์" กษัตริย์จะบริหารประเทศโดยทางรัฐสภา มีปัญหาอะไรจะต้องหารือวินิจฉัยในสภา เสียงข้างมากออกมาอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้นและกษัตริย์มีเทอม (มากน้อยแล้วแต่กำหนด) หมดเทอมแล้วก็เลือกตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ทำหน้าที่สืบต่อไป
ไม่ใช่ว่า กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาด ในความหมายที่เราเข้าใจกัน กษัตริย์ปกครองศากยะสมัยนั้นชื่อ สุทโธทนะ
สุทโธทนะได้รับเลือกให้เป็นประมุขชาวศากยะ มีเทอมหรือกำหนดเวลาหมดเทอมคนอื่นก็ขึ้นมาแทน คนที่ขึ้นมาแทนอาจมิใช่เจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของท่านก็ได้

เพราะเขามิได้ใช้ระบบสืบรัชทายาทอย่างที่เราเข้าใจกัน ที่เราเรียนพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า พอเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ โหรทำนายว่า ถ้าพระกุมารเสด็จออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก แต่ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระจักรพรรดิมีแสนยานุภาพมากมายไพศาลนั้น ไม่แน่เสมอไป หรอกครับ เจ้าชายสิทธัตถะท่านอาจไม่ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ต่อจากสุทโธทนะเลยก็ได้
เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อมองในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ขอมองต่อไปอีกสาเหตุให้พระองค์ออกบวช ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะชี้ข้อเท็จจริงออกมาดังนี้ครับ

1. เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้เสด็จหนีออกบวชเวลากลางคืนโดยที่ใครๆ ไม่รู้เห็นเหมือนดังที่พุทธประวัติเขียนกัน
2. เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบวชเพราะแรงผลักดันทางการเมือง

ทั้งสองข้อนี้ออกจะกลับ "ตาลปัตร" กับที่เคยรู้เคยเรียนมา บางท่านคงจะรับไม่ได้ ไม่เป็นไรครับ รับไม่ได้ก็อย่ารับ
แต่ขอเรียนว่า ข้อสรุปข้างต้นนี้ผมมิได้นั่งเทียนเขียนเอาเองนะครับ มีหลักฐานอ้างอิงอย่างหนักแน่นเชียวแหละ (อ่านจบ จะรู้เอง ผมได้หลักฐานมาจากไหน)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่