ตื่นจากตาย..จากใจคนขายโลง(PART1)

จากประสบการณ์การทำธุรกิจเกี่ยวกับความตาย ทำให้มีเรื่องที่สะท้อนจากคนตายให้คนเป็นได้พิจารณาที่จะใช้ชีวิตอย่างผู้ที่มีความเข้าใจชีวิต โดยความตั้งใจแรกที่จะเก็บรวบรวมบทความเหล่านี้เอาไว้ทำเป็นหนังสือแจกในงานศพของผมเอง แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว กว่าจะถึงวันนั้น บทความที่เขียนไว้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเข้าใจความตายได้ไม่มากก็น้อย ผมพึ่งจะหัดเขียนบทความอาจจะไม่ดีมากเท่าที่ควร ฝากติชมด้วยนะครับ เริ่มเป็นบทๆกันเลย
     โลงศพเป็นเพียง Packaging
     กล่องไม้สี่เหลี่ยมที่ถูกเรียกชื่อว่า “โลง” คืออะไร ทำไมต้องใช้โลง และโลงทำหน้าที่อะไรกันแน่?  
     เมื่อถอดถอนความรู้สึกใดๆออกไป หากร่างกายมนุษย์ที่สามารถใช้งานได้นั้นเรียกว่า “ของดี” เพราะมันยังใช้งาน ทำกิจกรรมต่างๆได้ดีและไม่เน่าเสีย ในทางตรงกันข้าม ร่างกายมนุษย์ที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกแล้วหรือตายไปแล้วนั้น จะเรียกว่า “ของเสีย” ก็คงไม่ผิดอะไรเพราะมันใช้งานไม่ได้แล้ว เสื่อมสภาพแล้ว และหากไม่กระทำการใดๆ มันก็จะเสียและเน่าเหม็นสร้างความน่าเกลียดน่ากลัวให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่  แต่คำว่า “ของเสีย”นี้ มันค่อนข้างกระทบต่อความรู้สึกของคนเราและแลดูไร้คุณค่าเกินไป จึงเรียกซากของคนตายนี้ว่า “ศพ” (อ่านว่า สบ หรือ สะ-พะ) เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งก็แปลว่า ซาก หรือร่างกายคนตาย  และเป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ศพ” จะใช้กับซากของคนที่ตายเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะต่างจากการตายของสัตว์ ที่คนเราก็ยังใช้คำว่าซากสัตว์อย่างตรงตัว นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า คำว่า “ศพ” นี้เป็นคำที่ใช้แสดงความรู้สึกถึงความรัก ความผูกพัน และเป็นการยกย่องให้เกียรติต่อบุคคลผู้ที่ตายจากไปแล้วนั้น
มีศพจึงมีโลง ใช้โลงเพื่อใส่ศพ สองสิ่งที่ต้องใช้คู่กัน
      หากลองมาพิจารณาความหมายของคำ 3 คำที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ
1. โลง (น.) แปลว่า หีบสำหรับบรรจุศพ
2. หีบ (น.) แปลว่า ภาชนะที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม มีฝาปิด มีขนาดเล็กใหญ่และทำจากวัสดุแตกต่างกันตามการใช้งาน ใช้ประโยชน์ใน
     การบรรจุสิ่งของต่างๆ
3. ศพ (น.) แปลว่า ซากคนตาย หรือร่างกายคนตาย    
     โลงศพ หรือ หีบศพ เป็นคำนามที่ใช้เรียก ภาชนะหรือกล่องสี่เหลี่ยม มีขนาดค่อนข้างใหญ่มากพอที่จะสามารถบรรจุร่างกายของมนุษย์ที่ตายแล้วในท่านอน มีฝาปิดมิดชิด ส่วนมากนิยมทำจากไม้ คำว่า “โลง” เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกหีบที่บรรจุศพ” แม้จะไม่มีคำว่า “ศพ” ตามหลัง ก็ยังมีความชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่ต้องใช้บรรจุศพเท่านั้น คำว่าโลงศพ จึงให้ความรู้สึกที่แรง ชัดเจน ตรงประเด็น และน่ากลัวมากกว่าคำว่า “หีบศพ” ที่จะให้ความรู้สึกที่อ่อนลงมา เพราะคำว่า “หีบ” มีความหมายที่เป็นกลางนั่นก็คือ ภาชนะหรือกล่องขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุสิ่งต่างๆ ซึ่งคำนี้สามารถใช้กับสิ่งทั่วไปได้ เมื่อมีคำว่า “ศพ” ตามหลังเพื่อแสดงภาพที่ชัดเจนว่าต้องใช้คู่กับศพเช่นเดียวกับคำว่า โลงศพ  แต่ก็ยังให้ความรู้สึกที่อ่อนกว่า มีความสุภาพมากกว่า
     หากถอดความรู้สึกใดๆออกไป โลง ก็เป็นเพียง “บรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging” ชนิดหนึ่งที่ต้องมีความแข็งแรง สามารถบรรจุสิ่งที่ต้องการได้อย่างมิดชิด สามารถป้องกันความเสียหายของสิ่งที่บรรจุได้อย่างดี และมีความสวยงาม ในความเป็นจริงแล้วโลงศพก็เป็นเพียงกล่องขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากไม้ ไม้ก็เป็นไม้ธรรมดาที่หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้าง ถูกตัดแต่งและประกอบกันเป็นรูปร่างทรงสี่เหลี่ยมตามแบบ เมื่อแล้วเสร็จตกแต่งเรียบร้อย จากไม้กลายเป็นกล่องไม้ถูกตกแต่งเรียบร้อย แล้วจึงเรียกสิ่งที่แล้วเสร็จนี้ว่า “โลง” ดังนั้น เมื่อคิดย้อนกลับไปโลงก็คือกล่องไม้ที่ไม่ได้น่ากลัวเลย แต่ด้วยความรู้สึกที่มันเป็นของคู่กับศพหรือความตาย กล่องไม้ที่เรียกว่า“โลง” จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายอันน่าเกรงกลัวไปโดยปริยาย
     ขนาดของโลงศพทำไมถึงมีขนาดที่ไม่กว้างใหญ่หรือโอ่อ่ามากนัก นั่นเป็นเพราะโลงศพจะต้องได้รับการเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเพื่อประกอบพิธีกรรมจนกว่าจะแล้วเสร็จ หากโลงศพมีขนาดใหญ่เกินไป ย่อมไม่สะดวกในการขนย้าย รวมถึงความแข็งแรงของโลงศพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากเกิดการ”โลงแตก”ระหว่างการขนส่งศพ คงเป็นภาพที่น่ากลัวมากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นชินกับสภาพของศพที่ไม่น่ามองนัก โลงศพสำเร็จรูปที่ขายกันทั่วไป ขนาดของโลงศพมาตรฐานเป็นไปตามค่าความสูงเฉลี่ยของคนไทย มีบางกรณีพิเศษที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการ “สั่งตัดโลง” ขนาดพิเศษในกรณีที่ศพมีขนาดร่างกายที่สูงหรือใหญ่มากเกินไป ศพจึงต้องรอโลงไม่สามารถบรรจุลงโลงที่มีจำหน่ายทั่วไปได้ และน่าจะมีความเป็นไปได้ที่ขนาดของโลงศพสำเร็จรูปในประเทศไทยจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น อันเนื่องมาจากขนาดร่างกายของคนไทยที่มีความสูงใหญ่มากขึ้นประกอบกับกระแสการเข้ายิมเพื่อเพาะกายให้ใหญ่โตที่มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งปัญหาโรคอ้วนที่ไม่ได้มีผลเฉพาะปัญหาสุขภาพตอนที่ยังมีชีวิต เมื่อตายแล้วศพของคนอ้วนก็มีปัญหาในการจัดหาโลงมาบรรจุศพด้วยเช่นกัน
     ความสวยงามของโลงศพเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยพรางความรู้สึกที่โศกเศร้าเสียใจเพราะการตายจาก ความสวยงามนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่ยังอยู่ กล่าวคือ คนที่ตายผัสสะทุกอย่างได้ดับสิ้นแล้ว คนที่ยังอยู่จะกระทำอย่างไรต่อศพ ศพก็ไม่รู้สึกใดๆ แต่ความรู้สึกทั้งหมดจะมาอยู่ที่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่มองศพของคนที่รักอยู่อย่างโศกเศร้าเพราะความตายได้พรากบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว และหากในวาระสุดท้ายนั้นบุคคลอันเป็นที่รัก ได้นอนในอากัปกริยาอันสงบ  อยู่ในโลงอันถือเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่สวยงาม สมเกียรติที่ได้สร้างมาทั้งชีวิตก่อเกิดเป็นคุณค่าทางจิตใจให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ว่าได้กระทำการอันเหมาะสมและสวยงามนั้นอย่างที่สุดแล้ว หากจะพูดเป็นภาษาการตลาดย่อมจะสามารถกล่าวได้ว่า “บรรจุภัณฑ์ที่ดี ย่อมส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายในนั้นได้” ดังนั้นเมื่อมีเหตุแห่งความตาย ขอจงตั้งสติเพื่อพิจารณาว่าความตายได้มาเยือนอีกวาระหนึ่งแล้ว จงเลือกในสิ่งที่ตนไม่ได้ใช้ แต่คนใช้ไม่ได้ซื้อนี้ อย่างมีสติ เลือกโลงที่คิดว่าสวยงามที่สุด ตามงบประมาณที่มี เพื่อส่งบุคคลอันเป็นที่รักในวาระสุดท้ายนี้อย่างดีที่สุด
     ประโยชน์หลักของโลงศพคือการใช้ปกปิดความไม่น่าดูของศพที่แม้จะตกแต่งศพให้สวยงามเพียงใด แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นร่องรอยจากความตายนั้นเอาไว้ได้ สิ่งที่ตกแต่งอยู่ภายนอกโลงศพจะช่วยปิดกั้นความรู้สึกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆจนกว่าพิธีกรรมทางศาสนาจะแล้วเสร็จ การมองเห็นร่างกายของศพที่นอนนิ่ง แม้จะอยู่ภายใต้ผ้าที่คลุมกายตั้งแต่ศีรษะจรดปรายเท้าเอาไว้อย่างมิดชิด แต่มันก็ไม่สามารถสกัดกั้นความรู้สึกจากผัสสะทางตาที่ยังมองเห็นว่า ศพที่นอนอยู่นั้นคือร่างกายของคนที่เรารักที่ได้ตายไปแล้ว แต่เมื่อบรรจุศพลงโลง ผัสสะทางตาก็จะเห็นเพียงโลงที่มีศพอยู่ภายใน แม้จะรู้ว่าภายในนั้นเป็นศพของใคร แต่ก็สามารถสกัดกั้นความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจนั้นเอาไว้ได้ จากนั้นเมื่อพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเสร็จโลงก็จะถูกฝังหรือเผาตามแต่ความเชื่อทางศาสนา โลงศพก็จะหมดหน้าที่ไปพร้อมกับการปิดฉากชีวิตของผู้ที่ตายจากอย่างสมบูรณ์แบบ กายเนื้อได้สูญสลายไปตามดวงจิตที่ได้เดินทางล่วงหน้าไปแล้ว คงเหลือไว้แต่นามธรรมแห่งความดีงามที่ได้เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตที่จะเล่าขานกันต่อไปจนกว่าผู้คนจะลืมเลือนการเคยมีชีวิตอยู่ของคนๆนั้นไป
       ทำไมคนเราถึงกลัวโลง ทั้งที่โลงก็เป็นเพียงกล่องไม้ เหตุแห่งความกลัวนั้นเกิดจากจินตนาการ เพียงแค่มองเห็นโลงก็จินตนาการไปเห็นซากศพที่อยู่ภายโลงนั้นเสียแล้ว ยิ่งคนที่เคยเห็นภาพของศพทั้งจากศพจริงๆหรือภาพจากละครหรือหนังผี จินตนาการนั้นก็ยิ่งชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น จึงก่อเกิดเป็นความกลัวขึ้นมาทั้งที่ความจริงภายในโลงนั้นก็ว่างเปล่า เมื่อทำความเข้าใจและสกัดกั้นจินตนาการไม่ให้คิดมากเกินไปกว่าสิ่งที่เห็นก็จะเข้าใจความจริงว่า “โลง” ก็เป็นพียงกล่องไม้ที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุศพ มันจะจำเป็นต้องใช้ก็ต่อเมื่อมีศพ การเกลียดกลัวโลงศพ การจัดให้โลงเป็นสิ่งอัปมงคล หรือการไม่กล่าวถึงความตาย ก็ไม่ได้ช่วยให้หนีพ้นจากโลงศพไปได้ การใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ชีวิตเป็นศพช้าที่สุดต่างหากที่จะช่วยให้การต้องใช้โลงนั้นอยู่ห่างไกลออกไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่