ประวัติศาสตร์อันโชกโชนของ Château de Chambord เพชรเม็ดงามแห่งลุ่มแม่น้ำลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส

วันนี้เราจะพาไปเที่ยว Château de Chambord กันค่ะ…

Château de Chambord เป็นชาโตว์ที่ถูกยกย่องให้เป็นที่หนึ่งของบรรดาชาโตว์ทั้งหมดทั้งมวลในลุ่มแม่น้ำลัวร์แห่งประเทศฝรั่งเศส คือ ใหญ่ที่สุด อลังการที่สุด และน่าสงสารที่สุด Chambord มีความเป็นมาและความพิเศษอย่างไร เราไปเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ประวัติความเป็นมา

Château de Chambord ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1519 ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 เพราะพระองค์อยากได้กระต๊อบล่าสัตว์ ปราสาท Chambord ออกแบบโดยใคร ไม่มีระบุแน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าจะสถาปนิกหลายๆ คนช่วยกันออกแบบ แต่หนึ่งในทีมผู้ออกแบบซึ่งทำให้ปราสาท Chambord สวยงามมีชื่อเสียงก็คือ Leonardo da Vinci ผู้วาดภาพโมนาลิซ่าอันโด่งดังนั่นเอง หลังจากเริ่มต้นสร้างปราสาทไป 3 ปี ก็เกิดสงครามอิตาเลี่ยนขึ้น ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและล่าช้า นอกจากนี้การก่อสร้างฐานรากยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้ผ่านไป 5 ปี การก่อสร้างก็ยังไปไม่ถึงไหน มีแค่กำแพงเลยดินขึ้นมาหน่อยเท่านั้นเอง

การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่ทันจะเสร็จสมบูรณ์ดี ในปี ค.ศ. 1547 พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 ก็ทรงหัวใจวายและเสด็จสวรรคตไปซะก่อน ทำให้การก่อสร้างหยุดลงตรงแค่นั้น รวมเวลาก่อสร้างทั้งหมดเป็น 28 ปี (คือถ้าพระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 ไม่สวรรคตไปซะก่อน การก่อสร้างก็คงจะดำเนินต่อไป)

พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 ใช้เวลาทั้งหมดรวมกันเพียงประมาณ 7 สัปดาห์เท่านั้นในการอยู่ที่ Château de Chambord (คิดดูนะคะ ใช้เวลาสร้าง 28 ปีและใช้เงินมหาศาล แต่อยู่แค่ 7 สัปดาห์ แล้วจะสร้างเพื่อ!?) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะพระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 ต้องการเพียงกระต๊อบสำหรับล่าสัตว์ Château de Chambord เลยมีหน้าที่แค่นั้น คือเอาไว้ให้พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 มาพักชั่วครั้งชั่วคราว ครั้งละไม่กี่วันเพื่อล่าสัตว์ พอล่าสัตว์จนพอใจแล้ว ก็ไปอยู่ที่วังอื่นที่สบายกว่า Chambord เพราะ Chambord ถูกออกแบบให้มีเพดานสูง หน้าต่างใหญ่ (รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนที่เหมาะกับอากาศร้อนชื้น แต่ไม่เหมาะกับสภาพอากาศที่หนาวชื้นของฝรั่งเศสตอนบน) ทำให้การทำความร้อนเป็นไปได้ยากและสิ้นเปลือง นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ก็มีแต่ป่ากว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีอาหารการกิน ไม่มีบ้านเรือนของผู้คน ทำให้การกินอยู่ไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร ทุกครั้งที่พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 ไปล่าสัตว์ ก็จะขนบริวารประมาณ 2,000 คนและเสบียงติดไปด้วยทุกครั้ง เรียกว่าขนกันไปเป็นกองทัพเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้ว ก็ยังขนเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดไปด้วย เพราะปราสาทภายใน Chambord นั้นไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย จึงเป็นแค่ห้องใหญ่ๆ โล่งๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์เลยสักชิ้น ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดที่ถูกนำมาใช้ชั่วคราวในปราสาท Chambord ในช่วงที่พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 เสด็จมาจะมีความพิเศษคือ สามารถพับเก็บหรือถอดประกอบได้ เพื่อความสะดวกในการขนส่งนั่นเอง

หลังจากที่พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 สวรรคต ปราสาท Chambord ก็ถูกทิ้งร้างทันที (ครั้งที่ 1) เพราะกษัตริย์ฝรั่งเศสองค์ต่อๆ มาไม่มีใครสนใจอยากได้หรืออยากมาอยู่ที่ Chambord เลย ปราสาทจึงทรุดโทรมลง จนกระทั่งเกือบร้อยปีผ่านไป Gaston d’Orléans พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 เริ่มเห็นคุณค่าของ Chambord และทำการบูรณะซ่อมแซม พระเจ้าหลุยส์ที่ 8 จึงยก Château de Chambord ให้เป็นของ Gaston d’Orléans ในปี ค.ศ. 1639

ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มหาราช พระองค์เกิดอยากได้ Chambord เป็นกระต๊อบล่าสัตว์ขึ้นมาบ้าง จึงสั่งให้มีการซ่อมแซมและเอาเฟอร์นิเจอร์เข้าไปตกแต่งในส่วนห้องพักของพระราชา และทรงไปนอนค้างที่ Château de Chambord อยู่บ่อยครั้งเพื่อล่าสัตว์ แต่พอมาถึงปี ค.ศ. 1685 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็เบื่อและทิ้งให้ Chambord ร้างอีกเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลานานถึง 40 ปีด้วยกัน จนในปี ค.ศ. 1725 อดีตกษัตริย์โปแลนด์ Stanislas Leszczyński พ่อตาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็ย้ายเข้ามาอยู่ใน Chambord ถึง 8 ปีด้วยกัน
ในปี ค.ศ. 1745 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ยก Chambord ให้เป็นของ Maurice de Saxe แม่ทัพของฝรั่งเศส ซึ่งเขาใช้ Château de Chambord เป็นฐานทัพและเป็นศูนย์บัญชาการทางทหาร แต่ยังไม่ทันไร แค่ 5 ปีให้หลัง Maurice de Saxe ก็มาตายไปซะก่อน ปราสาท Chambord เลยถูกทิ้งร้างเป็นรอบที่ 3

สงสาร Chambord จังเลย โดนทิ้งมา 3 รอบแล้ว แต่ความเศร้ายังไม่จบ นอกจากโดนทิ้ง แล้วยังโดนอะไรที่หนักกว่านี้อีกด้วยค่ะ

ในปี ค.ศ. 1792 รัฐบาลที่ได้จากการปฏิวัติฝรั่งเศสได้สั่งให้คนไปรื้อเฟอร์นิเจอร์และทุกสิ่งทุกอย่างในปราสาท Chambord ที่พอจะเปลี่ยนเป็นเงินได้ไปขายให้หมด ชิ้นส่วนที่เป็นไม้ชิ้นเล็กๆ ที่ไม่มีราคาก็ถูกเผาเพื่อทำความร้อนให้กับปราสาทในช่วงที่มีการขายเลหลังนั่นแหละ พอขายทุกอย่างที่ขายได้จนไม่เหลืออะไรแล้ว ปราสาท Chambord ก็ถูกทิ้งร้างอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4
เวลาผ่านไปจนมาถึงในสมัย Napoleon Bonaparte ในปี ค.ศ. 1809 นโปเลียนก็ยกปราสาท Chambord ให้กับลูกน้องชื่อ Louis Alexandre Berthier ซึ่งเป็นนายพลคนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นานนาย Louis Alexandre Berthier ก็ตายลง เมียหม้ายของเขาจึงขออนุญาตขายปราสาท Chambord เพราะมันใหญ่เกินไปและดูแลยาก นี่เป็นการถูกทิ้งครั้งที่ 5 ของ Chambord
ในปี ค.ศ. 1821 มีการระดมทุนเพื่อซื้อปราสาท Chambord ให้กับ Duke of Bordeaux (หรือ Henri V หรือ Comte de Chambord เป็นหลานปู่ของพระเจ้าชาร์ลที่ 10) ในช่วงนั้น ทั้งปู่และหลานพยายามจะบูรณะซ่อมแซม Chambord ที่ทรุดโทรมลงมากให้กลับมาสวยอีกครั้ง แต่ความพยายามนั้นก็มีอุปสรรคเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองของฝรั่งเศสในช่วงนั้น ก็เลยไม่มีโอกาสได้ซ่อมซักที จนมาถึงปี ค.ศ. 1870 เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมัน (Franco-Prussian War) และในตอนนั้นเองที่ Chambord ถูกใช้เป็นโรงพยาบาลภาคสนามสำหรับทหารที่บาดเจ็บในสงคราม ในช่วงนั้น มีนายทหารหลายร้อยคนตายลงที่ Château de Chambord และวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้นก็ยังไม่ไปไหน ยังคงวนเวียนและปรากฏตัวให้นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่เห็นอยู่เรื่อยไป บางคนก็ได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดทรมานของเหล่าวิญญาณทหาร บางคนก็พบเห็นคนแต่งชุดทหารโบราณเดินแว้บทะลุกำแพงไปมาภายในปราสาท ปราสาท Chambord จึงจัดเป็นสถานที่สุดหลอนแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสเลยล่ะค่ะ
Chambord ถูกใช้เป็นโรงพยาบาลอยู่ 1 ปี และหลังจากนั้น Comte de Chambord ก็มีโอกาสได้กลับมาอยู่และเริ่มทำการซ่อมแซม Chambord อีกครั้ง มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เกิดขึ้น และ Comte de Chambord ก็เปิดปราสาทให้ประชาชนได้เข้าชม แต่ยังจะไม่ทันไร ท่านก็มาตายไปเสียก่อนในปี ค.ศ. 1883 หลังจากนั้น Chambord ก็ตกเป็นของลูกหลาน โดยที่ลูกหลานก็พยายามจะสานต่อการซ่อมแซม (ปราสาทมันใหญ่ จึงต้องซ่อมกันยาวนาน) แต่นั่นก็อีก…ยังไม่ทันจะทำอะไรก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914

ทายาทของ Comte de Chambord ที่เป็นเจ้าของปราสาทนั้นเป็นชาวออสเตรีย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่า เราจะให้ชาวต่างชาติมาครอบครองสมบัติชิ้นงามของประเทศชาติไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับทายาทต่างด้าวเพื่อให้ได้ปราสาทมาเป็นของตน สู้คดียื้อกันไปๆ มาๆ อยู่หลายปี จนในที่สุดรัฐบาลฝรั่งเศสก็ใช้เงินฟาดลงไปในปี ค.ศ. 1930 และได้ Château de Chambord มาเป็นสมบัติของชาติจนถึงทุกวันนี้
การบูรณะ Chambord มีขึ้นอีกครั้งในไม่กี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงโดยรัฐบาลฝรั่งเศส หลังจากที่ซ่อมเสร็จแล้วก็เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นก็มีการบูรณะซ่อมแซมเป็นระยะๆ เรื่อยมา จนกระทั่งในปีที่แล้ว (2016) เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ส่วนสวน ถนน บริเวณโดยรอบ ส่วนชั้นใต้ดิน และงานระบบของอาคารถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงต้องปิดซ่อมอีกครั้ง และในปีนี้ (2017) Château de Chambord ที่มีอายุ 498 ปีก็ยังซ่อมไม่เสร็จค่ะ ในส่วน West wing ยังคงมีนั่งร้านและปิดซ่อมอยู่ และก็น่าจะซ่อมไปเรื่อยๆ แหละค่ะ

อ่านจบแล้วก็น่าสงสาร Chambord นะคะ เพราะถูกทิ้งและปู้ยี่ปู้ยำมาพอสมควร แต่ตอนนี้ตกเป็นสมบัติของชาติและยูเนสโกยังยกย่องให้เป็นมรดกโลกอีกด้วยค่ะ ทุกวันนี้มีการจัดการที่ดี และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนมากมาย เป็นเรื่องที่น่ายินดีกับ Chambord มากค่ะ

ตัวหนังสือเกิน อ่านต่อที่นี่นะคะ http://www.pomchuchitravel.com/chateau-de-chambord/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่