ความรู้เล็กๆ เรื่อง ภัยของ "เห็บ" ตอนหน้าร้อน ในประเทศเยอรมนี และ ประสบการณ์ "เห็บ" ดูดเลือดที่หลังหูของอันนา -

- ความรู้เล็กๆ เรื่อง ภัยของ "เห็บ" ในหน้าร้อน และ ประสบการณ์ "เห็บ" ดูดเลือดที่หลังหูของอันนา -

หน้าร้อน อากาศอุ่นๆ มาเยือน ช่างดีนักหนา เพราะจะได้ออกไปเที่ยวโลกกว้างได้มากขึ้น ...

แต่ ... ความสุนทรีย์เหล่านี้ ก็ยังมีสิ่งที่ควรระวัง หนึ่งในภัยเหล่านั้น ก็คือ "เห็บ" หรือ die Zecke ในภาษาเยอรมัน หรือ Tick ในภาษาอังกฤษ นะคะ

ซึ่งโรคภัยที่เกิดจากเห็บในประเทศเยอรมนีนั้น ถือว่า เป็นภัยที่ควรป้องกันเป็นอย่างยิ่งค่ะ ทั้งนี้เพราะมันถือว่าเป็น "ภัยคลาสสิค" ประจำถิ่นที่เลยทีเดียว โดยเฉพาะในเขตทางภาคใต้ และป่าดำ ที่เต็มไปด้วยหญ้าสูง ป่าชื้นนะคะ

ที่สำคัญก็คือ แม้จะมีวัคซีนฉีดเพื่อปองกันภัยจากการถูกเห็บกัดแล้ว แต่ก็มีเพียงวัคซีนเดียวที่ใช้ป้องกันเพียงโรคที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า Frühsommer-Meningoenzephalitis (FSME) หรือในภาษาอังกฤษ Tick-borne encephalitis (TBE) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการกระจายการติดเชื้อจากการกัดและดูดเลือดของเห็บ สู่ร่างกาย และเป็นผลให้ระบบการทำงานของประสาทในร่างกายอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ หากทำการรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยก็จะกลายเป็นอัมพาตไปได้ ซึ่งได้ยินว่ามาว่า หากเกิดในเด็กเล็กๆ จะไม่มีอันตรายเท่ากับเกิดกับผู้ใหญ่ค่ะ อย่างไรก็ตาม หากใครได้รับเชื้อดังกล่าวจากการถูกเห็บกัด และถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาได้ทัน ก็จะมีโอกาสสูงที่ร่างกายจะกลับเข้าสู่สภาพเดิมได้อย่างแน่นอนค่ะ

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ใครได้รับเชื้อจากการถูกเห็บกัดและดูดเลือด ก็มีโอกาสเป็นโรคที่ชื่ิอในภาษาเยอรมันว่า die Lyme Borreliose (Borreliose) หรือ Borreliosis ซึ่งแพร่มาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า the bacterium Borrelia burgdorferi สำหรับโรค Borreliosis นี้ ไม่มีวัคซีนป้องกันนะคะ วิธีสังเกตหากติดเชื้อตัวนี้เข้าไปก็คือ หลังจากที่เห็บดูดเลือดจากร่างกายของเราไปแล้ว นานถึง 24 ชั่วโมง โดยที่เราไม่ได้สัง้กต หรือดึงออกมาก่อน ก็คือ อาการป่วย มีไข้ อ่อนแรง และเกิดวงสีแดงเข้มรอบๆ แผลที่ถูกเห็บกัดค่ะ กล่าวกันว่าประมาณ 60 - 80% สำหรับกลุ่มคนที่รับเชื้อ Borreliosis นี้ ได้รับการรักษาให้หายได้ค่ะ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อนๆ อาจจะหวั่นใจกันว่า เอ แล้วจะป้องกันภัยอันเกิดจากการถูก "เห็บกัด" ได้อย่างไร ในเมื่อฤดูร้อนแบบนี้นั้น ก็ไม่อยากจะหลบอยู่แต่ในบ้านเสียด้วย
-------------------------

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้า ที่เกี่ยวกับเจ้าเห็บนี้ คือ

1. แต่งกายให้มิดชิดเพียงพอกับการออกไปเดินป่า

2. ตรวจดูร่างกายทุกๆ เย็น เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า ว่ามีเห็บอยู่ตามร่างกายไหม โดยต้องตรวจตราอย่างดี ทั้งนี้ เห็บที่กัด และยังดูดเลือกได้ไม่เต็มที่นัก จะมีขนาดที่เล็กมาก หากตรวจพบเจอ ให้ดึงออก (ด้วยวิธัที่ถูกต้อง : โปรดดูภาพที่แนบมา) หากเห็บยังไม่ตัวเต็มเลือด (ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง) นั่นหมายความว่า เพื่อนๆ จะปลอดภัยจากการติดเชื้อ


- ครั้งหนึ่ง -
เมื่อไปรับอันนาที่โรงเรียนอนุบาล คุณครูก็พาอันนามาหาเราโดยทันที พร้อมบอกว่า เราต้องพาอันนาไปโรงพยาบาลทันที เพราะว่า อันนามีเห็บซึ่งดูดเลือดแบบเต็มที่แล้ว อยู่ที่หลังหู!

พอได้ยินเช่นนี้ พร้อมทั้งได้เห็นเห็บตัวเป่งเลือดเกาะอยู่ที่หลังหูของอันนา เราก็เกือบเป็นลมทั้งยืนเลย ถร้อมทั้งหัวสมองก็คิดหาวิธีที่จะพาอันนาไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะในสภาะนี้ ขาของเห็บและหัวของมะนฝังอย่างลึกเข้าไปในเนื้อของอันนาแล้ว และร่างกายในส่วนนี้ก็อยู่ใกล้สมองเสียเหลือเกิน

ดีว่าที่คุณป้าของสามีอยู่บ้าน ดังนั้น เราและคุณป้าจึงพากันบึ่งรถไปโรงพยาบาลในทันที พอไปถึงก็ไปยังแผนกอุบัติเหตุ เจอคุณหมอหนุ่มใจดี ที่รีบให้การช่วยเหลืออันนาทันที ตอนแรกเราก็คิดว่า เดี๋ยวสักพัก คุณหมอหนุ่มคนนี้ก็คงจะดึงเอาเห็บออกมาได้เร็วไว และสำเร็จ แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้สักประมาณ 30 นาทีแล้ว ดูท่าก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า จนในที่สุดคุณหมอเข้ามาบอกกับเราว่า เนื่องจากขาและหัวของเห็บตัวนี้ฝังลงไปลึกมากในหลังหูของอันนา เครื่องมอธรรมดาจะไม่สามารถคีบออกได้ ซึ่งคุณหมอก็ถามเราว่า "จะเป็นอะไรไหม ถ้าจะต้องใช้มีดกรีดเนื้อเล็กๆ ส่วนหนึ่งออก?"

พอเราได้ยินคำถามนี้ ก็มองหน้าอันนาในทันที เพราะแน่นอนว่า จะไม่มีการใช้ยาชา เพราะมันเป็นการผ่าเล็กๆ แต่การผ่าเล็กๆ กับเด็กอายุ 4 ขวบเช่นนี้ แค่คิดก็สะเทือนใจคนเป็นปม่แล้ว เพราะรับรู้ได้อย่างแน่ใจว่า ลูกจะต้องเจ็บมากแน่ๆ

เราก็เข้าไปกระซิบบอกอันนาข้างหูถึงสิ่งที่อันนาขะต้องเผชิญ และบอกว่า "ลูกต้องเข้มแข็งนะ!"

ไม่น่าเชื่อว่า แทนที่จะเห็นอันนารีองโวยวาย อันนาตอบเราว่า "จ้ะแม่" พร้อมทำท่ากลั้นน้ำตา และไม่มีเสียงร้องไห้สักอึดใจให้ได้ยิน

แล้วคุณหมอก็จัดการใช้มีดผ่าตัดขนาดเล็กกรีดเนื้อตรงส่วนที่มีขาและหัวของเห็บตัวร้ายนี้ออก รวมถึงประสบความสำเร็จในการคีบเจ้าเห็บออกจากหลังหูของอันนาได้อย่างหมดจด โดยไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของอันนาสักนิดเดียว ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างความประทับใจ พร้อมทั้งประหลาดใจให้กับคุณหมอ และพยาบาล ในเวลานั้นอย่างมากค่ะ

เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการเอาเห็บออกจากหูแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนการสังเกตอาการต่อความเสี่ยงกับโรค Frühsommer-Meningoenzephalitis (FSME) หรือโรค Borreliosis ค่ะ สิ่งที่ต้องสังเกต ภายใน 7 - 21 วัน อันนาจะมีอาการกล้ามเนื้อและประสาทอ่อนแรงไหม เช่น อยู่ๆ จะลุกขึ้นเดินไม่ได้ไหม หรือ กล้ามเนื้อหน้า อยู่ๆ จะไม่เท่ากันไหม หรือ จะมีรอยสีแดงเข้มรอบๆ บริเวณหลังใบหูที่ถูกกัดหรือไม่ค่ะ

ยอมรับเลยว่า เรากังวลมากถึงกับกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ภายในบ้ายวันเดียวกัน เพื่อไปขอคุ้ยร่างเห็บค่ะ เนื่องจากมีแนวทางวิจัยอีกหนึ่งทางเลือกว่า สามารถส่งร่างของเห็บที่ตายแล้วไปยังแล็ปที่รับตรวจเชื้อ Frühsommer-Meningoenzephalitis (FSME) และโรค Borreliosis เพื่อค้นหาความเสี่ยงที่มีต่อโรคเหล่านี้ และทำการรักษาได้ทันเวลา พอเราไปถึงโรงพยาบาล และทันทีที่แจ้งความจำนงค์ว่า อยากขอลองคุ้ยขยะที่คุณหมอทิ้งร่างของเจ้าเห็บนั้น คุณหมอและพยาบาลเหล่านั้น ซึ่งเราคาดว่า น่าจะไม่เขื่อในทางเลือกนี้ ก็พากันหัวเราะเรานะคะ ประมาณว่า "เฮ้ยย อะไรเนี่ย เพี้ยนปล่าว" 555 แต่เราไม่สนใจค่ะ อะไรที่มีโอกาสปกป้องอันนาจากโรคร้ายได้ มะม๊ายอมค่ะ!

หลังจากที่คุ้ยอยู่นาน เราก็พบร่างของเห็บแห้งๆ นอนแผ่อยู่บนพื้นของถังขยะที่เต็มไปด้วยทิชชู่ สำลี ค่ะ นี่พลีชีพจริงๆ นะ และใจก็ยังคิดว่า ดีแค่ไหนที่ไม่ถูกเข็มตำ ทีหลังอย่าทำอะไรแบบนี้อีก ><"  - มันเสี่ยงเหมือนกัน -

พอได้เจอ "ร่างของเห็บ" เท่านั้น เราดีใจมาก แต่ก็ยังอยู่ในท่ามกลางสายตาของหมอและพยาบาลที่มองเรามาด้วยสายตาแบบไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้ด้วย อย่างไรก็ดี เราก็ขอบคุณพวกเขาค่ะ ที่อุตส่าห์ปล่อยให้เราเข้ามาค้นหาเห็บ 555

เมื่อได้เห็บมาแล้ว เราก็ส่งไปยังแล็ปที่รับตรวจทันที ซึ่งต้องรอผลประมาณ 2-3 วันถัดไปค่ะ ผลจากแล็ปก็คือ ในเห็บตัวที่กัดอันนานั้น ไม่มีเชื้อของโรคทั้งสองโรคนี้ค่ะ เป็นว่าเราก็โล่งใจ และสภาพหลังหูของอันนาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีอาการสุ่มเสี่ยงของโรคทั้งสองให้เห็นเลยสักนิดเดียว
-------------------------

- บทเรียน -
ที่ได้รับหลังจากประสบการณ์กับ "เห็บ" ตัวร้ายตัวนี้ ก็คือ ทุกครั้งที่สามใบเถาออกไปเล่นในสวน หรือไปเดินป่า เราจะตรวจตราร่างกายของพวกเธออย่างถ้วนถี่ทุกครั้งค่ะ ครั้งหนึ่งเจอที่ขาตรงข้อพับของเลาร่าค่ะ ตัวจิ๊ดเดียว แต่ไม่สามารถรอดสายตาของมะม๊านุชได้อีกแล้วค่า 555   ;)

แหล่งข้อมูล:
http://ecdc.europa.eu/en/healthtopics/emerging_and_vector-borne_diseases/tick_borne_diseases/lyme_disease/pages/index.aspx

https://www.gesundheit.de/krankheiten/infektionskrankheiten/krankheiten-durch-zecken-fsme-und-borreliose/krankheiten-durch-zecken

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่