การถือศีล ให้เกิน"สมรรถภาพของเรา" ถ้าผิดศีล จะรุนแรงมากแค่ใหน อย่าสักแต่อยากจะเอาบุญแรงๆครับ

หนังสือชื่อ "ปุจฉา-วิสัชชนา ว่าด้วยไตรสิกขา" โดยพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

ถาม ไม่เข้าใจในศีลบางข้อ อยากจะเรียนถามว่า ศีลข้อที่ ๖ วิกาลโภชนา คือห้ามรับประทานอาหารเกินเที่ยง หนูทำงานพักเที่ยง กว่าจะรับประทานเสร็จก็เกือบเที่ยงครึ่ง ถ้าหนูถือศีล ๘ หนูอยากถามว่าศีลข้อนี้จะขาดหรือเปล่า

ตอบ การกำหนดวิกาลโภชนานั้น ถือเอาเวลารุ่งอรุณไปถึงตะวันเที่ยงตะวันคล้อยไปเพียง ๒ องคุลี ถือว่าเป็นวิกาลโภชนา เป็นเวลาบ่าย อันนี้ การถือศีลหรือการรักษาศีลนี้ ถ้าเรามีความจำเป็น หรือไม่มีโอกาสที่จะทำได้สะดวก เรื่องศีล ๘ นี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยึดให้มากนัก เพียงแต่เคร่งในศีล ๕ ข้อเท่านั้น สามารถบำเพ็ญสมาธิ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ แล้วก็กลับจะสบายเสียอีก การถือศีลเกินกว่า ๕ นี้ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไม่ได้จริง ๆ แล้ว มันจะเป็นการสร้างบาปให้กับตัวเองอย่างไม่มีเหตุผล ชาวบ้านธรรมดาที่เคร่งอยู่ในศีล ๕ เขากินข้าวเย็นได้ มีครอบครัวได้ ใช้เครื่องประดับตกแต่งได้ จะทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อ และการละเมิดนั้นไม่เป็นบาปไม่เป็นกรรม

แต่ถ้าเราตั้งเจตนาลงไปว่าเราจะรักษา แต่รักษาไม่ได้แล้ว เป็นการสร้างนรกให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่สามารถ หรือมีเวลาโอกาสไม่เพียงพอแล้วอย่าริ มันจะเป็นการสร้างบาปให้กับตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยครั้งอดีต มีพระภิกษุมือบอนไม่สำรวม ล่องเรือไปในลำแม่น้ำ บังเอิญเอื้อมมือไปจับใบไม้ เรือวิ่งไปโดยความเร็วเพราะน้ำเชี่ยว ใบไม้ขาดไป พระต้องอาบัติปาจิตตีย์ แล้วท่านก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้แสดงอาบัติ พระองค์นั้นบำเพ็ญเพียรอยู่ตั้ง ๒ หมื่นปี ไม่สำเร็จมรรค ผล นิพพานใด ๆ ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม แต่เป็นฆราวาสจะถางป่าขุดดิน แล้วก็ไปภาวนา ยังสำเร็จมรรค ผล นิพพานได้ พระถือศีล ๒๒๗ เด็ดใบไม้ใบเดียว ภาวนาไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม เพราะฉะนั้น การที่เราจะเพิ่มศีลของเราให้มากขึ้น ๆ นี้ ต้องพิจารณาดูสมรรถภาพของเราเสียก่อน

สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือ ให้เคร่งครัดในศาล ๕ ข้อ เมื่อเคร่งในศีล ๕ ข้อแล้ว ศีลอื่น ๆ จะค่อยกระเถิบขึ้นมาเอง

อ่านทั้งหมด อ้างอิงข้อมูลจาก ลานธรรม
http://larndham.org/index.php?/topic/44405-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%98-%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A2-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7/page__pid__817553__st__0&#entry817553
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่