9 วัดวา น่าไปเวียนเทียน "วันวิสาขบูชา"

http://www.njdigital.net/index.php?mod=content_detail&id=24&content_id=721
เห็นว่าน่าสนใจ เลยเอามาแชร์กันค่ะ พรุ่งนี้วันวิสาขบูชาแล้ว ตื่นเต้นๆ

ขอแนะนำสถานที่สำหรับเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา จะเป็นสถานที่ไหนบ้าง และแต่ละที่มีความสวยงามและความพิเศษอย่างไรกันบ้าง เรามาชมกันเลย

1.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ "วัดกัลยาฯ"

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ เดินทางไปไหว้สักการะ "พระพุทธไตรรัตนนายก" (หลวงพ่อโต) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าใครที่ได้เดินไปไหว้หลวงพ่อโตที่วัดวัดกัลยาฯ บาระมีขององค์หลวงพ่อจะช่วยให้ เวลาเดินทางไปไหนจะปลอดภัยดี พร้อมด้วยการมีมิตรไมตรีที่ดีอีกด้วย สำหรับการสักการะองค์หลวงพ่อก็จะใช้ธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ ดอกไม้พวงมาลัย เท่านี้ครับ ส่วนเรื่องการเดินทางก็ไม่อยากเลย มีโดยรถประจำทาง สาย 40, 57, 149 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 177 หรือจะไปทางเรือก็ต้องข้ามเรือข้ามฟากที่ท่าเรือปากคลองตลาดมาท่าเรือวัดกัลยาฯ

2.วัดชนะสงคราม

เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่าวัดกลางนา ต่อมาถูกยกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร มาไหว้สักการะ "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ" เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุ รสิงหนาท ที่สามารถมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้งดังนั้นใครที่ได้เดินทางมาการบสักการะองคืประประธานที่วันชนะสงคราม ซึ่งมีความเชื่อว่าจะช่วยให้มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง สำหรับเครื่องสักการะก็จะใช้ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก นอกจากนี้ก็ควรที่จะไม่ลืมที่จะสักการะสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทด้วย ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก ด้วยนะครับ เรื่องการเดินทางยิ่งง่ายมากเพราะถ้าใครรู้จักถนนข้าวสารก็ไม่ยากเลยเพียงแค่เดินข้างฝั่งมาทางถนนเส้นบางลำภูก็ถึงเลย หรือจะมาโดยรถประจำทาง สาย 33, 64, 65 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 3, 32, 33, 64, 65

3.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ สำหรบผู้ที่เดินทางมาวัดโพธิ์เพื่อสักการะองค์พระประธาน ซึ่งมีความเชื่อว่าจะช่วยให้พบแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เพราะต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ และทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่จะเดินทางไปสักการะก็ควรจะหยิบธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น การเดินทางโดยรถประจำทาง สาย 12, 44, 82, 91 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 12, 32, 44, 91, 51

4.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว

เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยามที่พบ ณ วัดป่าเยี้ยะ (ป่าไผ่) จ.เชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ซึ่งพระอุโบสถประดิษฐานองค์ "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" หรือพระแก้วมรกตที่เราคุ้นชื่อกันนั้นเอง การเดินทางมาไหว้สักการะองค์พระประธานเพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย พระแก้วมรกตเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวไทยเชื่อว่าในวันขึ้นปีใหม่ เราควรที่จะมากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สำหรับเครื่องสักการะก็มี ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้ และใครที่จะเดินทางมาที่วัดพระแก้วให้นึกถึงสนามหลวงไว้ครับ เพราะอยุ่ใกล้กันเลย ถ้าจะมารถประจำทางก็มี สาย 1, 3, 25, 32, 33, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203 รถปรับอากาศสาย ปอ. 2, 3, 6, 25, 32, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203, 512

5.วัดดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือ วัดระฆัง, วัดหลวงพ่อโต

ตั้งอยู่เลขที่ 250 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกายภาค 1 วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม" นอกจากเป็นเพราะขุดพบระฆังที่วัดนี้และเพื่อฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "วัดระฆังโฆสิตาราม" เป็น "วัดราชคัณฑิยาราม" (คัณฑิ แปลว่าระฆัง) แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ ยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมาวัดระฆังโฆสิตารามมีหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามเพื่อเป็นหอพระไตรปิฎกมี "พระประธานยิ้มรับฟ้า" ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ซึ่งคนไทยเชื่อว่าการที่ได้เดินทางมาการบไหว้สักการะองค์พระประธานที่นี้จะช่วยให้มีชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ ก็เปรียบเสมือนเวลาที่เราตีระฆังจะมีเสียงที่ดังกังวาลนั้นเองครับ สำหรับการมาสักการะก็ควรจะใช้ธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลวส่วนการเดินทางมาได้สองเส้นทางคือทางรถและทางเรือ ถ้าเป็นทางรถก็ใช้รถประจำทาง สาย 19, 57 ทางเรือก็ใช้เรือด่วนเจ้าพระยาแล้วลงที่ท่ารถไฟ หรือท่าวังหลังหรือข้ามฝากที่ท่าช้างแล้ว ขึ้นที่ท่าเรือวัดระฆัง

6.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

มี "พระศรีศากยมุนี" เป็นองค์พระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยสำริด ผู้คนที่เดินทางมาสักการะองค์พระประธานก็ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีเสน่ห์แก่คนทั่วไปด้วย วัดสุทัศฯ ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 42 รถปรับอากาส สาย ปอ. 10, 12, 42

7.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง

มี "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ แต่ก่อนหน้าวัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วอีกด้วย สำหรับการมากราบไหว้สักการะพระประธานที่นี้ก็เพื่อ คติที่ว่าจะทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน และเครื่องสักการะก็ใช้ ธูป 3 ดอก และเทียนคู่ การเดินทางมาวัดแจ้งสามารถใช้รถประจำทาง สาย 19, 57 หรือนั่งเรือโดยสารข้ามฟากจากท่าเตียนก็ได้

8.วัดบวรนิเวศวิหาร

ซึ่งในพระอุโบสถประดิษฐานองค์ "พระพุทธชินสีห์" เป็นพระประธาน การเดินทางมากราบไหว้ก็ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม สำหรับการสักการะจะใช้ ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก ใครที่จะเดินทางมาก็ไม่อยากครับเพราะวัดตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ สามารถเดินทางมาโดยรถประจำทางสาย 10, 12, 56, 68

9.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

ซึ่งมี "พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร" เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และวัดแห่งสุดท้ายนี้มีความเชื่อกันว่า ถ้าได้เดินทางมากราบไหว้สักการะองค์พระประธานก็จะช่วยเสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคลตามคติของไทย และการมาสักการะก็จะใช้ ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก ส่วนเรื่องของการเดินทางมาวัดสระเกศฯ ด้วยรถประจำทาง สาย 8, 15, 37, 47, 49 ปอ. 37, 49 หรือทางเรือโดยสารก็ให้ลงท่าผ่านฟ้าลีลาศ (คลองแสนแสบ), ท่าภูเขาทอง (คลองผดุงกรุงเกษม)


น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมสำหรับ 9 วัดที่อยู่ในบริเวณเขตกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละเส้นทางก็มีทั้งทางรถและเรือให้เลือกเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่