เที่ยว...นี้...มีอะไร ?!? ในเดือนเมษายน 59...ที่กรุงเทพฯ กับการไหว้พระ 9 วัด...ตามกระแสนิยม?!?

เดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาของเทศกาลสงกรานต์ และตามประเพณีโบราณกาล วันที่ ๑๓ เมษายน ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่...ซึ่งทางการของไทย ก็ยังคงให้ความสำคัญ ที่นอกจากจะให้วันนี้เป็นวันหยุดแล้ว ยังให้วันที่ ๑๔-๑๕ เป็นวันหยุดต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกๆคน ได้เฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังเป็นโอกาส ให้ผู้ไปทำงานต่างถิ่น ได้มีโอกาส เดินทางกลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอน ไปรดน้ำดำหัวคุณพ่อ-คุณแม่ และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอพร ให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต จึงทำให้ช่วงเวลา ๓ วัน ที่เป็นวันหยุดนี้ ในกรุงเทพมหานคร เป็นช่วงเวลา ที่การจราจรปลอดโปร่ง ถนนหนทางค่อนข้างโล่ง จึงป็นโอกาสดี ที่ผมเลือกไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพฯ
      9 วัด ตามกระแสนิยม ของคนไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมา...ประกอบไปด้วย วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดอรุณ วัดกัลยาณ์ วัดระฆัง วัดชนะสงคราม วัดบวร วัดสุทัศน์ และวัดสระเกศ ซึ่งทั้ง 9 วัดนี้ ล้วนแต่เป็นพระอารามหลวง ที่ชื่อของวัด เป็นมงคลนาม และมีความหมายดี ทั้งสิ้น และผมเอง ก็เป็นคนหนึ่งที่ไปตามกระแส ไหว้พระ 9 วัด ตามที่กล่าว ในวันปีใหม่ เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมาก เพิ่งจะในระยะหลังๆนี้ ที่ผมเปลี่ยนไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดแทน ดังเช่นปีนี้ 2559 เป็นปีวอก ผมก็ไปไหว้พระธาตุพนม จ.นครพนม
      ผมเริ่มต้น...การไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพฯ ที่ศาลหลักเมืองก่อน ตามคติความเชื่อของโบราณกาล ที่ก่อนจะทำอะไรก็ตาม ให้มองว่า เหมือนการสร้างบ้านแปลงเมือง ที่ต้องมีการลงหลักปักฐาน ด้วยการลงหลักเมืองก่อน ดังนั้น ผมจึงเริ่มต้น ด้วยการการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลหลักเมือง (กรุงเทพฯ) ซึ่งภายในศาล มีสถานที่ให้กราบไหว้ 3 แห่งคือ 1.หอพระพุทธ 2.ศาลหลักเมือง และ3.ศาลเทพเทวดา
1
      จากศาลหลักเมือง ผมเดินไปที่ ๑.วัดพระแก้ว และถ้าใครที่ไปวัดพระแก้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำนักพระราชวัง ยังเปิดปราสาทพระเทพบิดร ให้ผู้ที่ไปวัดพระแก้ว ได้มีโอกาสเข้าไปกราบสักการะพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี ทุกๆพระองค์ อีกด้วย นับเป็นสิริมงคลยิ่ง ของผู้ที่ได้เข้าไป



      ๒.วัดโพธิ์ วัดนี้ อาจมีหลายคน เข้าใจผิด คิดว่า พระพุทธไสยาสน์ (หรือพระนอน) เป็นพระประธานของวัด หากแต่...ในความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นพระพุทธเทวปฏิมากร ที่เป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ และประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ แถมตรงข้ามหน้าพระอุโบสถ ยังมีพระพุทธโลกนาถ (พระพุทธยืน ประจำผู้ที่เกิดวันจันทร์) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ปัจจุบัน ผู้ที่มีบุตรยาก นิยมที่จะไปขอพรจากพระพุทธรูปองค์นี้



       ความสำคัญของวัดโพธิ์ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะกล่าวถึง คือ เป็นวัด ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) เป็นผู้สร้าง ทำให้ วัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ และหลังจากที่พระองค์ ทรงเสด็จสววรคตไปแล้ว พระสรีระรังคารของพระองค์ ยังถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ใต้ฐานชุกชี ของพระพุทธเทวปฏิมากรอีกด้วย ต่อมาวัดนี้ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ทำให้ซุ้มประตูทุกด้าน ที่เป็นทางเข้าวัดนี้ จะเป็นรูปทรงพระมหาพิชัยมงกุฏ ของพระองค์ ทำให้ผู้ที่เดินผ่านทางเข้าของประตู เสมือนหนึ่งเดินอยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฏ นั่นเอง

       ต่อจากวัดโพธิ์ ผมก็นั่งเรือ ที่ท่าเตียน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากประตูด้านหลังของวัดโพธิ์ ข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยัง ๓.วัดอรุณฯ (หรือวัดแจ้ง) ซึ่งวัดนี้ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระประธานที่ตั้งอยู่ภายในพระอุโบสถวัดนี้ มีนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ที่ ร.2 ทรงปั้นขึ้น ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ หน้าพระอุโบสถ ยังมีพระพุทธรูปยืน ที่เป็นพระประจำพระชนม์วารของพระองค์อีกด้วย และแน่นอน เมื่อเป็นวัดประจำรัชกาล ใต้ฐานชุกชีของพระประธานจะมีพระสรีระรังคารของ ร.2 อีกด้วย
6
      จากวัดอรุณฯ ก็นั่งเรือต่อไปที่ ๔.วัดกัลยาณมิตร ที่ทางวัดจะเปิดเฉพาะพระวิหารหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งเป็นนามเดียวกัน กับหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง (อยุธยา) และนอกจากนี้ คำว่าหลวงพ่อโต หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกงนั้น ยังมีอีกหนึ่งองค์ที่อยู่ที่วัดอุภัยทาราม จ.ฉะเชิงเทรา (หรือแปดริ้ว) สรุปว่า หลวงพ่อโต หรือซำปอกง ในเมืองไทย มีอยู่ 3 องค์ ตามที่กล่าวมา
7
      ๕.วัดระฆังโฆสิตาราม หรือมักนิยมเรียกว่า วัดสมเด็จ (พระพุฒาจารย์) โต เป็นหนึ่งใน 3วัด ของจำนวน 9วัด ที่อยู่ทางฝั่งธนบุรี ดังนั้น หลังจากเสร็จสิ้น 3วัดทางฝั่งธนฯ จึงต้องนั่งเรือจากท่าเรือวัดระฆังฯ ข้ามฟากไปฝั่งกรุงเทพฯ ที่ท่าช้าง แล้วนั่งรถ ไปที่วัด ๖.ชนะสงคราม แล่วเดินไปที่ ๗.วัดบวร ๘.วัดสุทัศน์ และจบลงที่วัดสระเกศ หรือที่เรียกกันว่า วัดภูเขาทอง
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
     ซึ่งที่วัดสระเกศ หรือวัดภูเขาทองนี้ นอกจากจะได้ไปกราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถแล้ว ยังปิดท้าย ด้วยการเดินขึ้นไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการกระทำทักษิณาวัตร คือการเดินเวียนขวา ๓ รอบต่อองค์พระเจดีย์ ที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่