ผู้สูงอายุกับท่าทางที่เหมาะสม

เมื่อเข้าสู่วัยที่มากขึ้น การเคลื่อนไหวและท่าทางการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว วันนี้เราเลยอยากมาแชร์ลักษณะท่าทางในแต่ละอิริยาบถต่างๆ ที่เหมาะสมกับเหล่าบรรดาลุงป้าน้าอากันจ๊ะ

การนอน
1. เตียงนอน ควรทำด้วยวัสดุที่แข็งและมีผิวเรียบ สูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาข้างเตียงเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี
2. ที่นอน ควรมีความแน่นและแข็งพอสมควร ขณะนอนไม่ทำให้ลำตัวโค้งงอ ซึ่งทดสอบได้โดยนอนหรือนั่งบนที่นอนแล้วลุกขึ้น ใช้มือลูบบนที่นอน ถ้ารู้สึกว่าที่นอนยุบบุ๋มลงไปตามน้ำหนักตัวไม่เรียบเสมอกันก็ควรเปลี่ยนที่นอน
3. ท่านอน ควรนอนหงายแล้วใช้หมอนหนุนใต้เข่า ให้เข่างอเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกอดหมอนข้างโดยขาที่วางบนหมอนข้างให้งอสะโพกและเข่าเล็กน้อย ไม่ควร นอนคว่ำเพราะหลังจะแอ่นทำให้ปวดหลังได้
4. การลุกจากที่นอน ให้เลื่อนตัวมาใกล้ขอบเตียงแล้วตะแคงตัว งอเข่า งอสะโพก ห้อยเท้าลงข้างเตียงพร้อมกับใช้มือและศอกยันตัวลุกขึ้นนั่งในท่าตะแคงตัวแล้วจึงค่อยลุกยืนต่อไป ไม่ควรลุกขึ้นนั่งในขณะที่นอนหงายอยู่

การนั่ง
1. เก้าอี้ ควรมี
     - ความสูงระดับข้อเข่า เมื่อนั่งแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี
     - ส่วนรองนั่ง ควรมีความลึกพอที่จะรองรับสะโพกและต้นขาได้
     - พนักพิง ควรมี ผิวเรียบ เอนไปข้างหลังเล็กน้อย
     - ที่เท้าแขน เพื่อเป็นที่พักวางแขนและใช้เป็นที่ยันตัวเวลานั่งหรือลุกยืน
2. ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรงพิงกับพนักพิง ให้น้ำหนักลงตรงกลางไม่เอียง วางเท้าราบกับพื้น งอเข่าตั้งฉาก ต้นขาวางราบกับที่นั่งให้ข้อพับเข่าอยู่ห่างจากส่วนรองนั่งของเก้าอี้ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการกดทับเส้นเลือดใต้เข่า ถ้าที่นั่งของเก้าอี้ลึกมากและมีช่องว่างระหว่างหลังกับพนักเก้าอี้ ควรหาหมอนมารองแผ่นหลังไว้ด้วย ไม่ควร กึ่งนั่งกึ่งนอนเพราะทำให้ปวดหลังได้ง่าย ซึ่งอาจจะไม่รู้สึกปวดทันที บางครั้งข้ามวันไปแล้ว จึงจะเริ่มปวด
3. การนั่งส้วม ควรใช้โถส้วมชนิดมีที่นั่ง (โถชักโครก) และทำที่จับบริเวณข้างโถส้วมเพื่อช่วยพยุงตัวเวลานั่งลงหรือลุกขึ้น ไม่ควรนั่งยองๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้

การยืน
          ผู้ที่เวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าหรือหน้ามืดบ่อยๆ ก่อนลุกจากเตียงหรือเก้าอี้ ให้นั่งห้อยขาขยับข้อเท้า 5-10 ครั้ง ใช้มือจับที่ยึดเกาะข้างเตียงหรือข้างเก้าอี้ แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้น และยืนนิ่งๆ สักพัก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการเซขณะลุก
          ควรยืนให้หลังตรงในท่าที่สบาย กางขาเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงค่อนมาทางส้นเท้า ถ้าต้องยืนในท่าเดียวนานๆ ควรขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อยๆ หรือยืนให้ลงน้ำหนักบนขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน หรือวางพักเท้าบนที่สูงประมาณ 1 คืบ

- ถ้าต้องการหยิบของจากพื้น ไม่ควรก้มหลังลงไปหยิบ ให้ใช้วิธีนั่งยองๆ งอเข่าและสะโพกแต่หลังตรงจะดีกว่า
- การหยิบของจากที่สูง ไม่ควรยื่นมือและยืดตัวไปหยิบสุดเอื้อม ควรหาเก้าอี้หรือบันไดเพื่อปีนขึ้นไปหยิบจะดีกว่า
- การหิ้วของ ควรปรับน้ำหนักเฉลี่ยใกล้เคียงกันและหิ้ว 2 ข้าง ไม่ควรหิ้วของข้างเดียว ถ้าใช้การอุ้มจะดีกว่าการหิ้ว


การเดิน
          ควรเดินบนพื้นราบควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควรและมียางกันลื่น มีขนาดที่พอดีเวลาสวมรองเท้าเดินแล้วรู้สึกว่ากระชับ ไม่หลวมหรือคับเกินไป

ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ โครงเหล็ก 4 ขา ไม่ควรเดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียง หรือ ทางเดินที่ขรุขระ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
http://cmu2807.bloggang.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่