"ตั่งทอง" แล "หอคำ"สัญลักษณ์แห่งอำนาจ ?

เพลิงพระนางหาใช่ละครตบตี แย่งผัวไม่ (ถึงเขียนเยอะและยาวโปรดอ่านก่อน) ๕๕ ไม่รู้ว่ายิ่งอ่านยิ่งงงหรือไม่ แต่นี่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นหลังจากการรับชมละครครบทั้ง ๒๖ ตอน

"ไฟริษยา อาฆาตไม่เคยเป็นผลดีแก่ใคร เพราะนอกจากจะทำให้จิตใจของตนร้อนรุ่มแล้ว ยังเป็นเพลิงเผาผลาญบุคคลอื่นๆ ด้วย บ้านเมืองใดมีแต่คนริษยา อาฆาต ขาดความสามัคคี และปราศจากการให้อภัยซึ่งกันและกัน บ้านเมืองนั้นก็เหมือนมีแต่ไฟ เผาผลาญจนสูญสิ้นไป"

เป็นข้อความสุดท้ายที่ขึ้นหลังจากตอนจบละครเพลิงพระนาง ปีพ.ศ.๒๕๓๙ เป็นข้อความที่ต้องการให้ผู้รับสารซึ่งก็คือผู้ชมละครเข้าใจแก่นของละครเพลิงพระนางได้รับทราบว่า อำนาจ ริษยา การตบตี ด่าทอ ล้วนแล้วแต่ไม่เกิดผลดีใดใดทั้งสิ้นทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำ จงให้อภัยซึ่งกันและกัน มิเช่นนั้นไฟแห่งกิเลสจะเผาผลาญจนไม่เหลือสิ่งใดเลยทั้งตนเองและบ้านเมืองเยี่ยงเจ้าอนัญทิพย์ ถึงจะปล่อยว่างลงบ้างแล้ว แต่เรื่องการยึดติดสิ่งที่พระบิดาเคยทำไว้ยังไม่หมดไป จนวาระสุดท้ายต้องสิ้นชีวิตบนตั่งทอง

"ตั่งทอง" แล "หอคำ"สัญลักษณ์แห่งอำนาจ ?

"หอคำของกู" "ตั่งทองของกู" คำพูดสุดท้ายของเจ้าอนัญทิพย์ทำให้เห็นว่าตั่งทองและหอคำเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของเมืองทิพย์ตามความเข้าใจของเจ้าทิพย์เองมันมีค่ามาก มันแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต และยิ่งด้วยชีวิตบุคคลที่นางรักนั้นคือเจ้าหลวงปิตุลาพระราชบิดาของนาง ด้วยลักษณะนิสัยตัวละครหรือ Character เจ้าทิพย์ถือตัวว่าดีสูง มีทิฐิสูง แรงมาแรงกลับไม่ยอมใคร แต่สิ่งหนึ่งที่บทละครทำให้ผู้ชมเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องของอำนาจนั้นก็คือ สัญลักษณ์ของอำนาจอย่างตั่งทองและหอคำหาสำคัญเท่ากับการดำรงอยู่ในอำนาจ เพราะได้อำนาจมาแม้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าผู้นำไม่สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจราษฎรได้ย่อมมิใช่ผู้นำที่สมบูรณ์ ผู้นำที่ดีต้องอยู่ในใจประชา "เสกขรเทวี" เป็นตัวละครที่สะท้อนมุมมองในเรื่องของอำนาจ ออกมาตรงกันข้ามกับเจ้าอนัญทิพย์ เสขรเทวีเน้นพระคุณ แต่เจ้าอนัญทิพย์เน้นพระเดช หากชมละครทุกตอน สาระสำคัญตรงนี้ละครทำได้ไม่พลาดอันเป็นผลมาจากบทละครที่แข็งแรงนั้นเอง

มาในส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบทละครว่าเป็นอย่างไร เพลิงพระนางเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง ๗ สี มีความยาวที่ออกอากาศ ๒๖ ตอน เขียนบทละครโทรทัศน์โดย "ภาคย์รพี"

บทสนทนา และ ความรุนแรง
จิกหัวเรียกอี กู  ถือว่าไม่สุภาพยิ่งตัวละครที่มีบรรดาศักดิ์สูงเป็นเจ้าด้วยแล้วยิ่งไม่ควร แต่เหตุใดจึงปรากฎออกสู่โสตของผู้ชมได้ อาจจะเป็นเพราะด้วยเนื้อหาที่เกิดในเมืองสมมติไม่จำเป็นที่จะต้องยึดความถูกต้องของภาษามากนักกอปรกับฐานผู้ชมละครจำนวนไม่น้อยที่เน้นสีสันฉูดฉาดของละครจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนระดับภาษาเพื่ออรรถรสในการรับชม และเหนือสิ่งอื่นใดบทละครสอดแทรกบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรมอันดีให้แก่ผู้ชมด้วย นอกจากจะได้อรรถรสยังจรรโลงจิตใจผู้ชม เช่น คำพูดที่มาจากเสกขรเทวี

การดำเนินเรื่องที่เข้มข้น (สำคัญสุด น่าจะเป็นจุดที่คิดเยอะสุด)
การให้อภัย ริษยา อาฆาตเป็นหลักใหญ่ แก่นรองลงมาก็เรื่องความครอบครัวการอบรมเลี้ยงดูลูกเยี่ยงปิ่นมณีใช้ความแค้นเลี้ยงแทนความเมตตา แม่ปกป้องลูกถูก แต่แม่ปกป้องเมื่อลูกทำสิ่งไม่ควรนั้นผิดปรากฎในเรื่องหลายส่วนเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำออกมาดี  ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญในทุกตอนต้องมีจุดสุดยอด climax ด้วยเพื่อให้ดำเนินได้อย่างน่าติดตามไม่ยืดมากนัก (เห็นแต่จะมีแค่ตอนสี่ ห้าที่มัวแต่ตบกันเลยไม่ทำให้เนื้อเรื่องไปไหนเท่าไร) การทำให้คนดู "ลุ้น" การตัดต่อช่วยให้พีคได้ ถ้าดูจะเข้าใจว่าอารมณ์พีคเป็นอย่างไร ดูละครมันลุ้นมากจนไม่อยากลุกไปไหนกลัวพลาดอะไรทำนองเนี่ย เพลิงพระนางทำได้ ตัวละครเยอะเกลี่ยบทดี ทุกตัวละครมีบทบาทคนดูจำได้ และเมื่อตัวละครเยอะจำเป็นต้องหาทางลงให้กับตัวละครเมื่อจบได้ด้วย ทุกตัวละครสำคัญมีทางไปหมดและเป็นที่จดจำ เจ้าสำเภางาม เมืองคุ้ม ตองนวล และพีคสุดคืออนัญทิพย์

ละครเพลิงพระนางมิได้เป็นละครตบตี แย่งผัวตามที่คนไม่ได้ดูชมเข้าใจ แต่ละครพยายามบอกแก่นของเรื่องที่ว่าคนเราต้องรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกันไม่ริษยาคิดร้ายต่อกัน มีปัญหากล้าที่จะเผชิญหน้า พูดตรงๆ เข้าใจกันและกัน นึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นแล้วบ้านเมืองอาจยากเกินเยียวยาแก้ไข เฉกเช่นเดียวกันกับเมืองทิพย์ที่ขาดความสมัครสมานสามัคคีจนสิ้นเสียแผ่นดินให้แก่ดั้งขอก็เป็นได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่