๛ กามทั้งหลายแหวกออกได้โดยยาก ดุจนาคบาศ ๛

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง







พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา


สัปปทาสเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการเห็นโทษสังขาร



            (พระสัปปทาสเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)

             [๔๐๕] ตั้งแต่เราบวชมาได้ ๒๕ พรรษา
             ไม่ได้ความสงบใจ แม้เพียงดีดนิ้วมือ

             [๔๐๖] เราไม่ได้เอกัคคตาจิต ถูกกามราคะรบกวน
             ประคองแขนคร่ำครวญ
             ไม่ยอมออกจากวิหารโดยคิดว่า

             [๔๐๗] ชีวิตจะมีประโยชน์อะไรสำหรับเรา
             เราจะนำศัสตรามา คนอย่างเรา จะบอกลาสิกขาทำไมเล่า
             ควรตายเสียเถิด

             [๔๐๘] คราวนั้น เราได้ฉวยมีดโกนขึ้นอยู่บนเตียงน้อย
             ได้จดมีดโกน เพื่อจะเชือดหลอดคอของตน

             [๔๐๙] แต่นั้น โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้นแก่เรา
             โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน

             [๔๑๐] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
             ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
             เราบรรลุวิชชา ๓
             ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว








นาคปาสํ วิย ทุพฺพินิเวฐยา
"กามทั้งหลายแหวกออกได้โดยยากดุจนาคบาศ”



กาม เป็นสิ่งที่ละได้ยาก สลัดได้โดยยากด้วยสามารถแห่งปกติ ย่ำยีได้โดยยาก ดุจอสรพิษที่มีพิษร้าย แหวกออกได้โดยยาก ดุจนาคบาศ ข้ามได้โดยยาก พ้นได้โดยยาก ดุจทางกันดาร ทะเลทรายในฤดูร้อนก้าวล่วงได้โดยยาก ดุจดงที่เสือโคร่งหวงแหนข้ามพ้นได้โดยยาก ดุจคลื่นในมหาสมุทร.

อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=30&p=1





นาคบาศ
ประกอบด้วยคำว่า นาค + บาศ

(๑) “นาค”
บาลีอ่านว่า นา-คะ ใช้ในภาษาไทยคำเดียว อ่านว่า นาก
ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า นา-คะ- หรือ นาก-คะ-

คำว่า “นาค” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้ -
(1) งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด
(2) “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง หมายถึงช้างที่ฝึกหัดเป็นอย่างดีแล้ว เช่นช้างศึก
(3) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)
(4) “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์
(5) “ผู้ไม่ทำบาปกรรม, ผู้ไม่มีบาป” = ผู้มุ่งจะบวช

การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี
(ที่เรียกว่า “ฉายา”) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)

คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้


(๒) “บาศ”
บาลีเป็น “ปาส” (ปา-สะ)
สันสกฤตเป็น “ปาศ”
เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บาศ” คำแปลที่คุ้นกันคือ “บ่วง”


ในภาษาไทยมีคำว่า “บ่วงบาศ” น่าจะเป็นคำซ้อน “บ่วง” คือ “บาศ” และ “บาศ” ก็คือ “บ่วง”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“บ่วงบาศ : (คำนาม) บ่วงสําหรับโยนไปคล้อง.”
“ปาส” ในบาลียังแปลอย่างอื่นได้อีก คือ บ่วงแร้ว, กับดัก, เครื่องผูกรัด, โซ่ตรวน, มวยผม, รูลูกดุม


นาค + ปาส = นาคปาส (นา-คะ-ปา-สะ) > นาคบาศ
ภาษาไทยอ่านว่า นาก-คะ-บาด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“นาคบาศ : บ่วงที่เป็นงู เป็นชื่อศรของอินทรชิตที่แผลงไปเป็นงู. (ส.).

สมญาภิธานรามเกียรติ ของท่าน “นาคะประทีป” แถลงคำว่า “นาคบาศ” ไว้สั้นๆ ว่า “ศรที่พระพรหมประทานอินทรชิต”
และที่คำว่า “อินทรชิต” ขยายความไว้ว่า -
“เมื่อศึกติดลงกา กุมภกรรณออกรบจนตายแล้ว, (อินทรชิต) ได้เป็นจอมทัพออกทำสงคราม, ครั้งแรก รบกับพระลักษมณ์ไม่แพ้ชนะกัน ครั้งที่สอง ทำพิธีชุบศรนาคบาศ, ถูกชามพุวราชทำลายพิธี, ออกรบกับพระลักษมณ์ แผลงศรเป็นนาคมัดพระลักษมณ์กับทหารล้มกลิ้งทั้งกองทัพ.”


ที่มา #‎บาลีวันละคำ‬ (921)
https://www.facebook.com/tsangsinchai?fref=ts
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่