หนี้เน่า IFEC กว่า 6 พันล. มะเร็งร้ายระบบเศรษฐกิจ ผวาลามเป็นเชื้อวิกฤตต้มยำกุ้ง2 ถ้าไม่จัดการตัดไฟแต่ต้นลม

                                                                                                            ที่มา นสพ.สยามธุรกิจ

                    เริ่มมีความกังวลว่าตั๋วเงินกู้หรือตั๋วบีอีจากบริษัทจดทะเบียนที่วินัยแย่ มีการเบี้ยวจ่ายหนี้ ไม่ยอมไถ่ถอนตามกำหนดจะหมักหมดจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่


                ประเด็นที่ยังคาราคาซังเรื้อรังคือ IFEC ที่เบี้ยวหนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยมีหนี้รวมทั้งหมด 8,500 ล้านบาท ทำเอาเจ้าหนี้ทั้งที่โดนเลื่อนการจ่ายไปแล้วและร้อนๆหนาวๆ รอคิวอยู่เอามือก่ายหน้าผากโดยพร้อมเพรียง

                แย่ไปกว่านั้นผู้บริหารสูงสุด "วิชัย ถาวรวัฒนยงค์" ยังขายหุ้นออกมาเกือบหมด กลายเป็นกิจการที่ไร้เจ้าภาพโดยแท้จริง

                ต่อมามีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่คือ เจ้าของนิคมอุตสากรรมไฮเทค "ทวิช เตชะนาวากุล" มาซื้อหุ้นไว้เป็นจำนวนมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร แต่ปัญหาก็ยังไม่จบเพราะเจ้าของเดิมกลับเล่นเกมยื้ออำนาจทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีสทิธิแล้ว นั่นจึงทำให้สถานการณ์ไม่พ้นวิกฤตสักที ในขณะที่หุ้นก็ถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามซื้อขายด้วยเครื่องหมาย SP ส่งผลให้รายย่อยติดหุ้น จะขายออกมาก็ไม่ได้

                แม้ทีมที่มาใหม่  "ทวิช เตชะนาวากุล" จะร่อนหนังสือร้องเรียนให้มีการใช้กฎหมายมาตรา 80 เพื่อให้จัดประชุมกรรมการโดยเร็ว หาทางปลด SP เพื่อให้รายย่อยซื้อขายหุ้นได้รวมไปถึงหาวันประชุมผู้ถือหุ้นแก้ไขปัญหา แต่กระบวนการก็ยังไม่ราบรื่นเพราะการดำเนินการที่ผ่านๆมาของ "วิชัย ถาวรวัฒนยงค์" ดันไม่เป็นไปตามหลักใน พรบ.หลักทรัพย์แะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาทิมาตรา 89/26  มาตรา 80 เป็นต้น

                "วิชัย ถาวรวัฒนยงค์"อาศัยอำนาจประธานกรรมการจัดการประชุมกรรมการ ที่องค์ประชุมไม่ครบ แต่กลับอนุมัติวาระต่างๆ ออกมาด้วยกรรมการเสียงข้างน้อย นี่จึงทำให้ "ทวิช เตชะนาวากุล"ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง  "วิชัย ถาวรวัฒนยงค์" ให้รีบแก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้องโดยเร็วภายในกรอบที่ ก.ล.ต. ขีดเส้นไว้

                อีกด้านหนึ่งตัว "ทวิช เตชะนาวากุล" เองก็อาศัยสิทธิตามมาตรา 80 เรียกร้องให้ เรียกประธานรีบเรียกประชุมอีกครั้งในระยะเวลา 14 วัน เสนอ 4 วาระสำคัญได้แก้ 1.แก้ปัญหาหนี้สิน 2.แก้ปัญหางบการเงินตรวจสอบล่าช้าเกินกำหนด 3. แนวทางปลด SP และ 4.กำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น

                เรื่องราวทั้งหมดนี้หากยังยืดเยื้อต่อไป ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหายอยู่แล้ว คงต้องเสียหายมากกว่าเดิม เจ้าหนี้ก็คงต้องฟ้องร้องกันอุตลุด และกระทบการปล่อยกู้ต่อบริษัทน้ำดีอื่นๆ แน่นอน
    

                  เวลานี้ แอ็คชั่นที่เด็ดขาดจาก ก.ล.ต.และตลท. อาจเป็นความหวังสุดท้าย  เพราะนี้ไม่ใช่เเค่ปัญหาระดับองค์กร แต่มันกำลังจะลามกลายเป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจที่ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูเเล
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่