'ทวิช'ร่อนหนังสือถึงตลท.ค้านแจ้งมติประชุมบอร์ด IFEC ฉุกเฉิน

กระทู้ข่าว
นายทวิช เตชะนาวากุล เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ ของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (IFEC) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (31 มีนาคม 2560) ตน พร้อมด้วย กรรมการอื่นอีก 4 ท่าน ของ IFEC ได้ยื่นคัดค้านการที่บริษัทฯมีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท (ฉุกเฉิน) ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัทว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท ที่ผ่านมาทั้งสองครั้งคือ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม และวันที่ 29 มีนาคม 2560 ว่า การแจ้งมติรับทราบ โดยการแจ้งของนายแพทย์ วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ ต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ไม่เป็นไปตาม มาตรา 89/26 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีผลตามกฎหมาย กล่าวคือ มาตรา 89/26 กำหนดว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้น บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่คณะกรรมการกำหนด และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะมีสิทธิออกเสียงคะแนนให้เป็นไปตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันเดียวกัน ทั้งนี้ สิทธิของบุคคลดังกล่าวย่อมไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่า ทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมผู้ถือหุ้น จะมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว วันที่กำหนดโดยคณะกรรมการข้างต้น ต้องเป็นวันที่ล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่เกินสองเดือน แต่ต้องไม่ก่อนวันที่คณะกรรมการอนุมัติให้มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น และเมื่อคณะกรรมการกำหนดวันเพื่อกำหนดผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าประชุมแล้วจะเปลี่ยนแปลงมิได้

ดังนั้น การที่บริษัท โดย ประธานกรรมการ จัดการให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยมีจำนวนกรรมการเข้าประชุม ที่ไม่เป็นไปตาม มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน กล่าวคือ มีจำนวนกรรมการมาประชุม น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ซึ่งไม่ครบเป็นองค์ประชุม และการประชุมควรยุติหรือเลื่อนออกไป แต่ประธานกรรมการอาศัยอำนาจของตน ดำเนินการประชุมต่อในวาระต่าง ๆ และยังมีหนังสือแจ้ง มติการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้ง ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบ ก่อให้เกิดความสับสนและกระทบสิทธิของผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่ประธานได้กำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น วัน Record date และวันปิดสมุดทะเบียนหุ้น ให้กรรมการที่เหลืออีก 3 ท่านรับทราบ โดยที่ข้อกฎหมายกำหนดว่า จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการก่อน และเมื่อกำหนดวันแล้ว จะเปลี่ยนแปลงในภายหลังมิได้

นายทวิช กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึง นายแพทย์ วิชัย ในฐานะประธานกรรมการ และผู้มีอำนาจเปิดเผยสารสนเทศของ IFEC ให้บริษัทฯ รีบดำเนินการแจ้งแก้ไข ข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้นักลงทุนทราบก่อน โดยเร็ว และภายในกรอบเวลาที่ สำนักงาน กลต. กำหนด พร้อมกันนี้ ตนและรองศาตราจารย์ ประนอม เป็นตัวแทนของกรรมการอีก 3 ท่าน ซึ่งเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ได้อาศัยสิทธิ ตาม มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน ทำหนังสือเรียกร้องให้นายแพทย์วิชัย ประธานกรรมการ เรียกประชุมกรรมการบริษัท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน โดยมีวาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนิ้สิน (ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้) แนวทางแก้ไขการส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหาและการปลดเครื่อง SP หลักทรัพย์ของบริษัท และพิจารณาการกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น วัน Record date และวันปิดสมุดทะเบียนหุ้น โดยจะต้องปฏิบัติตาม มาตรา 112, 113 และ 114 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน ที่กำหนดให้ บริษัท ต้องจัดทำงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผ่านการตรวจสอบ ให้แล้วเสร็จก่อน เสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น รวมถึงคณะกรรมการ ต้องจัดส่งเอกสาร ได้แก่ สำเนางบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนพร้อมทั้งรายงานผู้สอบบัญชี รายงานประจำปีของคณะกรรมการ พร้อมกับหนังสือนัดประชุมสามัญประจำปี

นายทวิช ยังให้ความเห็นต่อไปว่า เนื่องจาก ข้อกำหนดตามกฎหมายที่บริษัท ในฐานะบริษัทมหาชน และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ จึงต้องพิจารณาโดยรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งกับกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใด ตนพร้อมด้วยกรรมการเสียงข้างมาก จะต้องสอบถาม นายแพทย์วิชัย ในผู้บริหารของ IFEC ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯว่า ความคืบหน้าของ งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจะแล้วเสร็จเมื่อไร เพื่อจะได้กำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น วัน Record date และวันปิดสมุดทะเบียนหุ้น ที่แน่นอนต่อไป

นายทวิช ยังกล่าวเสริมอีกว่า ตน พร้อมด้วย กรรมการเสียงข้างมากอีก 4 คน พร้อมให้ความร่วมมือ กับ นายแพทย์ วิชัย และกรรมการอื่นอีก 3 ท่านของบริษัท ในการร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไข และ อุปสรรค ต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ IFEC ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่า ปัญหาเหล่านี้ จะเกิดขึ้นมาก่อน ที่ตนจะเป็นกรรมการ ก็ตาม แต่พวกตน ก็ตระหนัก ถึง หน้าที่และความรับผิดชอบ ในฐานะกรรมการของบริษัท ที่จะต้องพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถฟื้นฟูกิจการ กลับมาเป็นบริษัทที่มีการดำเนินการเป็นปกติได้โดยเร็ว โดยขอความร่วมมือจากนายแพทย์ วิชัย ให้ความร่วมมือ ในการเปิดเผยข้อมูลในอดีต ให้กรรมการทุกคนทราบด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่