@... วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้หนังเปิดค่ายอย่าง Oversize แป๊กแบบ Oversize ...@

ไม่ได้มาเขียนอะไรในนี้นานเลย เพราะไม่มีประเด็นอะไรให้เขียนสักเท่าไหร่
แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ อยากวิเคราะห์ไว้ให้เป็นกรณีศึกษาสักหน่อย
ว่าการทำหนังสมัยนี้มันไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนแล้วนะเสี่ย

ผมเชื่อว่าหลายคนคงอดตั้งคำถามไม่ได้ ว่าทำไมหนังเปิดค่ายที่ใช้งบการตลาดสูงเรื่องนี้
ถึงแป๊กในเรื่องรายรับมากมายมหาศาลขนาดนี้ ผมว่าเผลอๆ อาจจะไม่ได้กระทั่งงบการตลาดคืนด้วยซ้ำ

ว่าแล้วก็มาวิเคราะห์กันเป็นประเด็นๆ เลยละกันนะครับ


1. ขาดดาราชูโรง

ในยุคที่เสี่ยวิสูตรทำหนังค่ายไทนั้น เรารู้กันดีว่าเสี่ยชอบใช้ดาราหน้าใหม่ ไม่เน้นดาราเบอร์ใหญ่เท่าไหร่
และคงรู้สึกภูมิใจมากกว่าที่ได้ชื่อว่าเป็นป๋าดัน สร้างดาราใหม่ๆ ให้กับวงการ

นั่นคงเป็นเบื้องหลังที่ว่าทำไมหนังเปิดค่ายถึงเปิดด้วยหนังที่ไม่มีดาราชูโรงเป็นตัวนำเลย
และสาเหตุรองคือถ้าหนังไม่เปรี้ยง ก็ยังมีเหตุผลไว้ปลอบใจตัวเองบ้างเล็กน้อย
แต่คงไม่คิดว่ามันจะพลาดมาจนถึงขั้นแป๊กได้มากขนาดนี้

ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าน่าจะเสียหน้าไปพอสมควร แม้ว่าต้นทุนหนัง กับค่าโฆษณาที่ลงไป
อาจจะไม่ทำให้สถานภาพทางบริษัทสั่นคลอน แต่การเปิดตัวแล้วหนังเจ๊งยับเยิน
อันนี้คงเป็นภาพจำที่ค่อนข้างน่าผิดหวังสำหรับค่ายใหม่ที่หลายคนจับตามอง


2. แนวหนัง

เรื่องนี้แนวหนังก็คือหนังตลาดที่น่าจะขายดีคู่ฟ้าเมืองไทย คือตลกแอคชั่น
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จกันหลายเรื่อง แต่ถ้าย้อนกลับไปมองแล้ว
ส่วนใหญ๋ที่สำเร็จคือดาราตัวชูโรงสามารถกระตุ้นให้คนออกมาดูได้
แต่กับเรื่องนี้  มันไม่มี  นี่คือข้อแตกต่าง ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่มีจุดขาย

ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวหนัง  แต่อยู่ที่หน้าหนังและรายชื่อดารานำ
ที่ไม่ดึงคนให้รู้สึกว่าอยากออกมาดูหนังมากกว่า เรียกว่าล่มตั้งแต่คนไม่ทันซื้อตั๋วเลย


3. ความตลกที่ไม่ชัดเจน

ก่อนอื่นต้องบอกว่าการทำหนังตลก ต้องหากลุ่มเป้าหมายหลักก่อน
ว่าคุณจะขายให้กับกลุ่มไหน  ถ้าเน้นชาวบ้านทั่วไป ก็ไม่ยากเท่าไหร่
หาตัวตลกดังๆ เด่นๆ สักคน  แล้วจากนั้นก็ใช้มุกคาเฟ่ ยิงต่อกันไป
ให้ตลกสร้างมุกกันไป  ก็เรียบร้อยแล้ว อย่างตระกูลหลวงพี่ทั้งหลาย

แต่แน่นอนว่าจะไม่ตอบโจทย์คนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ที่ไม่ดูหนังแนวนี้

คนในเมืองชอบตลกจังหวะ ที่เน้นปูเนื้อเรื่อง แล้วค่อยๆ ยิงมุกที่มีที่มาที่ไปมากกว่า
อย่างหนังตลกของ GTH เดิมนั่นแหละ  เป็นหนังตลกที่ชนชั้นกลางชื่นชอบ
และเป็นแนวหนังที่ทำรายได้หลักให้กับค่ายเดิม

แล้วหนังเรื่องนี้ไปทางไหน อันนี้คือปัญหา หนังเหมือนจะพยายามเอาสองทางนี้
มาพบกันตรงกลาง เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มให้มาดูหนังให้ได้
แต่จากตัวอย่างหนัง  ผมกลับไม่รู้สึกว่ามันตลก คือมันไปไม่สุด
แถมยังขาดดารานำชูโรงอีก ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่ามันจะตลกจริงเหรอ

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมตอนหนังเปิดตัววันแรกๆ มันถึงไม่เปรี้ยง
เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจ รอดูกระแสอยู่นั่นเอง

อีกสาเหตุคือยังไม่อินกับจุดขายในหนังเรื่องการลดน้ำหนัก และตลกรูปร่างสักเท่าไหร่
เพราะหลายคนก็ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกับพล็อตแนวนี้ เมื่อจูนไม่ติด หาจุดร่วมไม่ได้
ความอยากออกไปดูหนังในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ มันก็ทำใจยากซะหน่อย

แต่เอาจริงๆ ถ้าหนังสนุกเข้า ผมว่าคนก็พร้อมจะกำเงินไปดูอยู่ดีนะแหละ
เพียงแค่ว่ามันไม่ใช่กับหนังเรื่องนี้เท่านั้นเอง


4. การทุ่มทางการตลาด

ผมว่าหนังเรื่องนี้มีการทุ่มโฆษณาในหลายช่องทางมาก เพราะเชื่อว่าจะชดเชยได้
จากการที่หนังไม่มีดาราชูโรง คือพูดง่ายๆ ว่าเอางบจ้างดาราแพงๆ มาเน้นการตลาดดีกว่า

ผลที่ตามมาคือเราเห็นโฆษณาหนังเรื่องนี้มาเรื่อยๆ ทั้งจากสื่อหลัก และสื่อโซเชี่ยล
เห็นการโปรโหมตมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ก่อนหนังเข้า มีการทยอยๆ ปล่อยโฆษณามาเป็นระยะๆ
ไม่ว่าจะเป็นคลิปการ์ตูน เพื่อนำเสนอตัวละครแต่ละตัว รวมไปถึงการเข้ามาโพสในเวปบอร์ดดังๆ
เลี้ยงกระแสมาเรื่อยๆ ให้คนรับรู้ว่าหนังกำลังจะเข้าละนะ

และแน่นอนว่าพอหนังเข้า  เราได้เห็นเพจวิจารณ์หนังแห่กันชื่นชมหนังเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน
จนคนเริ่มสงสัยว่า  มันจริง หรือมันอวยไส้แตกกันแน่ จนหลายคนเริ่มลังเล เพราะมันมาเป็นพายุเลย
กะว่าจะต้องสร้างกระแสจนติดได้แน่ๆ จากโซเชี่ยว และเหล่าลูกเพจทั้งหลาย

แต่ผลจากยอดขายชี้ชัดแล้วว่า เพจวิจารณ์หนังไม่สามารถสร้างกระแสให้กับสังคมคนดูได้
หากว่าตัวหนังเองไม่ขายตัวมันเองซะก่อน นั่นคือความต่างของการสร้างกระแสของ
ช่วงยุค GTH ที่ทั้งกระแส, การตลาด และคุณภาพของตัวหนังมันไปในทิศทางเดียวกัน

สรุปได้ว่าต่อให้ทุ่มการตลาดเท่าไหร่  ถ้ากลุ่มเป้าหมายหลักและรองยังไม่แน่ใจในตัว Product
ยังไงมันก็ดึงให้คนเหล่านั้นกำเงินไปซื้อตั๋วไม่ได้อยู่ดี


5. ความน่าสนใจ

นี่คือปัญหาหลักของหนังเรื่องนี้  ความน่าสนใจในพล็อตหนังมันธรรมดามาก
รวมกับดาราที่ไม่มีกระแส ไม่มีใครสนใจ มันทำให้คนรู้สึกว่าอีกสักสองสามเดือน
ค่อยหาดูก็ยังได้  ไม่ต้องรีบดูอะไร เพราะสมัยนี้ต้องยอมรับว่าถ้ามันไม่น่าสนใจ
คนดูก็พร้อมที่จะรอ  อย่าลืมว่าสมัยนี้สื่อมันเยอะในขณะที่เวลามีเท่าเดิม

ถ้าหนังมันไม่มีแรงกระตุ้นที่มากพอ คนก็ไม่รู้สึกว่าต้องไปดูในโรงหรอก
รออีกแป๊ปเดียว  ก็มีให้ดูหน้าคอมแล้ว  อันนี้คือเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ


6. กระแสบอกต่อจากคนดูตัวจริง

อันนี้ต้องแยกให้ออกก่อนนะครับ ว่ากระแสบอกต่อเนี่ยมันช่วยหนังได้จริงๆ
แต่มันต้องเป็นกระแสจากคนดูจริงๆ ไม่ใช่จากเพจที่รับเงินมาอวย
หรือจากม้าๆ ทั้งหลายที่เข้ามาอวยในบอร์ด

ซึ่งวัดจากสังคมของผมเอง  กระแสบอกต่อเงียบมาก ไม่มีคนโพสอะไร
เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เลย ซึ่งผมว่ามันมาจากหนังไม่สุดในแนวทางของตัวเอง
ทำให้มันไม่เกิดกระแสปากต่อปากของคนดูจริงๆ เกิดขึ้น

เอาง่ายๆ ในบอร์ดพันทิปเอง กระทู้เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็มีน้อยมาก
และถ้ากรองเอากระทู้ม้าออก ก็เหลือไม่เยอะเลย  อันนี้คือสิ่งที่เห็นชัดเจน


7. กระแสโฆษณาหลังหนังเข้า

อย่างสมัย GTH  พอหนังเข้าสักสามวันแรก เราจะเห็นการโฆษณาเรื่องยอดรายได้ละ
ว่าหนังเรื่องได้ไปกี่สิบล้านแล้ว ซึ่งตรงนี้มันกระตุ้นคนได้เช่นกัน ว่าหนังมันน่าดู คนดูเยอะ
ถ้าไม่รีบไปดูจะตกกระแส เด๋วคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

แต่กับเรื่องนี้คงใช้กระแสแนวนี้ไม่ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่ารายรับมันต่ำมาก
จนไม่เป็นผลดีกับการเอามาโฆษณา จึงต้องเปลี่ยนแนวไปโฆษณาแนวว่า
หนังดี หนังตลก คนชอบเยอะ  อยากให้มีภาคต่อ ก็ว่ากันไป

แต่มันกลับทำให้คนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะตัวหนังมันไม่ดึงดูดนั่นเอง
ตรงนี้เห็นได้ชัดเลยว่า ไม่สามารถกู้วิกฤติได้ เพราะหนังมันแป๊ก
ทำให้แผนที่วางไว้ตอนแรกมันผิดไปหมด



สรุปว่า  จะทำหนัง  เน้นกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนครับ
อย่าทำครึ่งๆ กลางๆ แล้วหาพล็อตที่มันน่าสนใจกว่านี้สักหน่อย
ไม่งั้นคนดูจะลังเล ไม่แน่ใจว่าควรออกมาดูดีมั้ย

อย่าลืมว่าสื่อบันเทิงสมัยนี้มันเยอะ ในขณะที่เวลามีเท่าเดิม
ดังนั้นคนจะใช้เวลากับสิ่งที่เค้ารู้สึกว่าสนใจมากกว่า
และหนังไม่ใช่สื่อหลัก เป็นสื่อทางเลือกกระแสรองไปแล้วในชีวิตปัจจุบัน
ถ้าหนังคุณสร้างแรงกระตุ้นได้ไม่มากพอ คนก็พร้อมที่จะรอได้เสมอครับ

ที่สำคัญ การทุ่มซื้อเพจวิจารณ์หนังไม่ช่วยให้หนังคุณมีคนดูเพิ่มขึ้นแน่นอน !!!
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่