Confession of a bipolar (คำสารภาพจากไบโพลาร์)

สวัสดีค่ะ เนื่องจากวันนี้เป็นวันไบโพลาร์สากล เราก็เลยตัดสินใจโพสต์แชร์เรื่องนี้กับเพื่อนๆใน facebook ของเราแล้วคิดว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย บอกก่อนนะคะว่าอันนี้เป็นประสบการณ์ การตัดสินใจ และความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะคะ ท่านที่รู้สึกว่าตัวเองต้องการความช่วยเหลือ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวท่านนะคะ และเนื่องจากมันยาวมากแล้วก็ขี้เกียจพิมพ์ใหม่แล้ว เลยก๊อบจากเฟซบุ๊กมาลงเลย ถ้าอ่านยาก หรือมีสะกดผิด หรือใช้คำผิดบ้างต้องขออภัยด้วยนะคะ

จริงๆศึกษาจากในอินเทอร์เน็ตไว้เยอะเหมือนกัน ถ้า feedback ดีจะนำมาแชร์ให้อ่านกันอีก แต่ตอนนี้กระท่อนกระแท่นแบบนี้ไปก่อน เพราะทำไปดูหน้ากากนักร้องไปอะค่ะ แฮร่

Note: ในส่วนของคำว่า แมเนีย มาจากภาษาอังกฤษว่า mania ซึ่งบางครั้งเราก็พูดติดปากว่า manic ในบทความภาษาไทยใช้คำว่า แมเนีย กันมาก เท่าที่เข้าใจ manic เป็น adjective ของ mania ผิดถูกอย่างไรแนะนำและแก้ไขได้ค่ะ

---- เริ่มข้อความ----

เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันไบโพลาร์สากล (World Bipolar Day) เราอยากใช้โอกาสนี้บอกทุกคนว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่ป่วยด้วย Bipolar Disorder มาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมารู้ตัวจริงๆเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วจากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเพื่อนกัน เหตุผลที่เราตัดสินใจบอกกับทุกคนในวันนี้เพราะเรารู้สึกว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่า “ไบโพลาร์” หรือที่เค้าแปลกันว่า “อารมณ์สองขั้ว” ไม่ใช่อาการ “เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย” (นั่นเรียกว่าบ้า สติไม่ดีแล้วมั้ง 555) เราไม่ใช่หมอ ไม่ใช่ผู้เชียวชาญ เราเป็นแค่คนป่วยคนหนึ่ง ดังนั้น เราจะเล่าเรื่องไบโพลาร์ให้ฟังตามประสบการณ์แล้วกัน ผู้ป่วยไบโพลาร์คือคนที่การทำงานของสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุลเป็นผลให้เกิดอาการแปรปรวนทางอารมณ์อย่างรุนแรงทำให้เกิดภาวะแมเนียและภาวะซึมเศร้า


ในภาวะแมเนีย...
หรือเราเรียกว่าช่วงดีด ช่วงบ้าพลัง...อารมณ์จะดีผิดปกติ มั่นใจในตัวเองมาก มีพลังเหลือเฟือ รู้สึกว่าเราบันดาลได้ทุกอย่าง ทุกเรื่องน่าสนใจไปหมดทำให้วอกแวกตลอดเวลา ข้อดีของมันคือบางครั้งเกิดความคิดสร้างสรรค์แปลกๆขึ้นมาแล้วก็ลงมือทำเลย โดยส่วนตัว เวลาที่เราอยู่ในภาวะแมเนียเราจะทำงานได้ดีและไวมากๆ ซึ่งเป็นผลดีกับทุกๆคน ... เหมือนจะดีใช่มั้ย...แต่ ภาวะแมเนียมันมีอันตรายของมันอยู่ เพราะความมีพลังล้นเหลือ หรือในกรณีของเรามันจะมีแรงผลักดันให้อยากทำบางสิ่งอย่างรุนแรงและไร้ซึ่งความสามารถที่จะยับยั้งชั่งใจ ซึ่งหลายๆสิ่งเป็นสิ่งตัวเราในภาวะปกติเราจะไม่ทำ เช่น ทำเรื่องเสี่ยงชีวิต ใช้จ่ายแบบไม่ยั้งมือ และการกระทำที่ยิ้มทางเพศ เป็นต้น หรือในบางครั้งที่เรากำลัง high มากๆ แล้วมีใครมาขัด หรือเรากำลังโฟกัสกับอะไรบางอย่างมากๆในภาวะแมเนียแล้วมีสิ่งรบกวน เราจะเปลี่ยนจากอารมณ์ดีเป็นผีพุ่งใต้ทันทีแล้วด่าใส่ไม่ยั้งจนพอใจถึงจะหยุดได้
ส่วนตัวเราสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือพอเราเข้าภาวะแมเนียเราจะปฏิเสธการนอน เรานอนแค่วันละ 2-3 ชั่วโมง หรือไม่นอนเลยหลายๆวัน แล้วใช้ชีวิตกลางวันปกติได้ โดยยังมีพลังงานเหลือๆ และจะอยู่ในภาวะนี้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยเลยได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นถ้าโชคดีมันจะลงมาอยู่ที่ระดับปกติ แต่ส่วนใหญ่โชคไม่ดี พอหลังจากแมนิกสุดๆแล้ว เราจะดิ่งลงไปสู่ภาวะซึมเศร้าทันที ซึ่งเท่าที่หาข้อมูลมา มันเป็นเพราะว่าร่างกายและจิตใจเราต้องฝืนรับความบ้าพลังของเราในภาวะแมเนีย พอถึงเวลามันก็ทนไม่ไหว ก็เปลี้ยไป


ในภาวะซึมเศร้า...
ทุกคนก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้ว มันก็เหมือนโรคซึมเศร้าที่บางคนว่าเป็น “โรคยอดฮิตนั่นแหละ” ทุกอย่างจะตรงกันข้ามกับภาวะแมเนียเลย เรียกได้ว่า แค่จะมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่อยากเลย ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่อยากคิด ไม่อยากสุงสิงกับใคร ชีวิตคืออะไร นั่งอยู่เฉยๆน้ำตาก็ไหลได้แล้ว ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องมีปมหรือปัญหาในใจ แต่สำหรับคนที่มี แม้ปัญหาเล็กๆ มันก็กลับดูใหญ่และเกินกำลังจะรับมือ
เราไม่สนับสนุนการฆ่าตัวตายหรอกนะ แต่เราก็ไม่โทษและไม่ว่าคนที่ฆ่าตัวตายด้วย เพราะเราเข้าใจเลย ว่าในหัวเค้าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง บ่อยครั้งที่ในหัวเราตะโกนว่า “กูพอแล้วโว้ย” แล้วกระโดดออกจากยอดตึกสามร้อยชั้นในจินตนาการ แต่เราก็ไม่ทำจริงๆ เพราะขนาดจะขยับก็ยังไม่มีแรงเลย
ที่น่าหงุดหงิดคือ คนที่ไม่เข้าใจจะพูดจาร้ายๆว่า คุณไม่ได้ซึมเศร้าหรอก คุณแค่ขี้เกียจ ซึ่งเราก็ไปว่าอะไรเค้าไม่ได้หรอก เพราะมันดูเหมือนแบบนั้นจริงๆ พูดง่ายๆคือในภาวะแมเนียร่างกายเรามันมีพลังมาจากไหนนักหนาไม่รู้ ในภาวะซึมเศร้ามันจะตรงกันข้าม ร่างกายมันไม่มีพลังเลย มือเท้าไม่มีแรง บางวันเรานอนร้องไห้ตอนเช้าที่จะต้องลุกออกไปจากที่นอน คิดหลายครั้งว่าอยากจะโทรไปลาป่วย แต่ก็รู้ว่ามันเห็นแก่ตัวเกินไป ทำให้ช่วงซึมเศร้า เราจะต้องเหนื่อยกว่าปกติล้านเท่า เพราะต้องฝืนใจรวบรวมกำลัง (ที่มันไม่มีอยู่เลย) ลุกขึ้นแล้วออกไปเจอโลกที่ไม่อยากเจอ เราจะรู้สึกเหมือนเราเป็นลูกโป่งที่เต่งมากๆ และพร้อมจะแตกสลายไปในอากาศธาตุถ้ามีอะไรมากระทบ เราเคยพูดทีเล่นทีจริงว่าถ้าเลือกได้ระหว่างตาบอดกับหูหนวก เราเลือกหูหนวก เพราะในภาวะซึมเศร้าคำพูดที่ไม่ได้คิดของคนๆเดียวก็ฆ่าเราทั้งเป็นได้


ปัญหาต่อมาคือ โรคนี้รักษาได้มั้ย?...
ได้ยินมาว่ารักษาได้ โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยยาและการบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยยาที่ใช้มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการแปรปรวนของสารสื่อประสาทในสมองและลดความรุนแรงของทั้งสองภาวะ จิตแพทย์ต้องระวังมากๆในการจ่ายยา เพราะให้ยาต้นซึมเศร้าอย่างเดียว ผู้ป่วยไบโพลาร์กินแล้วจะพุ่งเข้าภาวะแมเนียและจะมีผลเสียต่อร่างกายมากๆ อย่างเราไปหาหมอครั้งแรกเล่าให้ฟังแต่ตอนที่ซึมเศร้า กินยาซึมเศร้าไปอาทิตย์เดียว เราอยู่ไม่ได้เลย ร่างกายเหมือนเครื่องเจาะถนน คือสั่นตลอดเวลา คอเกร็ง มือเกร็งไปหมด มันตื่นเต้นไปหมดเหมือนจะเป็นบ้า เราก็เลยกลัวการใช้ยาแล้วก็ปรึกษาหมออีกครั้งและตัดสินใจว่าเราจะหยุดยา แล้วลองต่อสู้กับมันเอง


แล้วตอนนี้เราอยู่กับมันยังไง? ...
ก่อนอื่นเราต้อง “ยอมรับ” ก่อนว่าเราป่วย พอเรายอมรับทุกอย่างมันก็ง่าย โดยเฉพาะการจัดการกับตัวเอง ส่วนมากเราจะปล่อยตัวไปตามภาวะที่มันเป็นไป ไม่ฝืน เพราะการฝืนมันเหนื่อยมากกกกกกกกกกกกกกก แล้วในความรู้สึกเรา การพยายามควบคุมตัวเองในภาวะแมเนียน่าจะยากกว่าการห้ามตัวเองไม่ให้คิดสั้นในช่วงซึมเศร้านะ เพราะมันมีผลกับร่างกายมากๆ ลองคิดภาพเวลาแมเนีย พลังงานในตัวมันพลุ่งพล่านเหมือนลาวา ถ้าไม่ปล่อยให้มันระบายออกร่างกายมันจะเกร็ง มันเหมือนจะแตกเป็นเสียงๆ แล้วถ้าฝืนมากๆ มันจะปวดหัวแบบจะระเบิด หัวใจจะเต้นแรงจนเหมือนได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้นอยู่ที่คอ ยิ่งเวลาที่รู้สึกว่าต้องนอนแล้วมันไม่ยอมนอนมันโคตรทรมานเลย บางครั้งต้องกินยานอนหลับจะได้หลับได้ซัก 4-5 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่วันต่อไปจะต้องมีงานเยอะแน่ๆ ต้องนอนเอาแรง

ในขณะที่เวลาซึมเศร้าพลังงานทั้งหมดใช้ไปกับการสร้างหน้ากากขึ้นมาหนึ่งอันแล้วก็ใส่มันทั้งวัน ถึงบ้านก็ถอดออกแล้วนอนแผละแล้วก็ปล่อยให้ตัวเองจมลงไปในทะเลแห่งความหมองหม่น ตื่นเช้ามาก็ร้องไห้หนึ่งที่แล้วก็ฮึบขึ้นไปใหม่ จริงๆ ช่วงซึมเศร้าเราจะใช้ยานอนหลับมากว่าช่วงแมนิก เพราะว่าตอนซึมเศร้ามันจะหมกมุ่นมากๆ แล้ว คือเราชอบปล่อยตัวเองให้มันจมลงไปลึกๆ จนรู้ตัวว่า ไปไกลกว่านี้ไม่ดี เราก็กินยาให้มันหลับๆไป ก่อนจะกู่ไม่กลับ
พอยอมรับแล้ว และจัดการกับตัวเองได้ในระดับนึงมันจะมีปัญหาอีกเรื่องคือปัจจัยภายนอก ที่เป็นปัญหามากๆสำหรับเราคือ สุราและยาแก้หวัด ในเรื่องของสุรา คือถ้าเรากินแบบพอดีๆมันจะเป็น stabilizer อย่างดีเลยล่ะ แต่ถ้ากินมากไป ทำให้ผู้โชคดีบางคนเคยโดนเราร้องไห้ใส่แบบไม่มีเหตุผล หรือถ้าโชคร้ายเจอเราแมนิกก็เจ็บตัวกันไป ส่วนยาแก้หวัด (ซึ่งบางทีมันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ) ที่เราจำเป็นต้องกินในช่วงนี้ เพื่อระบายน้ำในหูไม่ให้หูหนวกน่ะ เป็นสารตั้งต้นของยาบ้า ซึ่งยาตัวนี้ในบางคนก็ไม่มีผลอะไร มันแค่จะทำให้รู้สึกนอนไม่หลับ จึงเป็นธรรมดาที่เวลาหมอจ่ายมา จะจ่ายคู่กับยาตัวที่ง่วงมากๆไว้กินก่อนนอนจะได้หลับ แต่สำหรับเราที่ต้องกินยานี้ทีละ 2 – 4 สัปดาห์เวลาเป็นหวัดเรื้อรัง มันทำให้อารมณ์เรารวนไปหมด ผู้ป่วยไบโพลาร์บางราย (และเราด้วย) กินยานี้เข้าไปในระยะยาวจะทำให้อาการแปรปรวนเกิดบ่อยขึ้น เช่น แทนที่จะแมนิก 1-2 สัปดาห์ สลับกับปกติ แล้วซึมเศร้าในความถี่เท่าๆกัน กลับกลายเป็นว่า ระยะมันสั้นลง บางคนแปรปรวนทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือ 1-2 วันก็มี


สุดท้ายนี้...
เราหวังว่าสิ่งที่เราแชร์ให้ฟังวันนี้จะทำให้อย่างน้อยคนรอบๆตัวเราจะเข้าใจสิ่งที่เราเป็นและพฤติกรรมบางอย่างของเรามากขึ้น แล้วเราก็แอบคาดหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจคำว่า “ไบโพลาร์” มากขึ้น และเข้าใจผู้ป่วยไบโพลาร์คนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนๆ หรือเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น ผู้ป่วยเหล่านี้ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนและไม่ใช่คนบ้า ไม่ได้ต้องการความเห็นใจ ไม่ได้อยากให้ปฏิบัติต่อเราพิเศษกว่าคนอื่น สิ่งที่เราต้องการคือให้ทุกคนตระหนักว่าแต่ละคนมีพื้นฐานทางสุขภาพจิตไม่เหมือนกัน แต่เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเท่าๆกันเรามีโลกส่วนตัว และเราก็ทำดีที่สุดเพื่อส่วนรวม เท่านี้แหละ ยิ้ม

>> เพิ่มเติม << จริงๆ เราไม่ตั้งเป้าหมายให้มันหาย แค่อยู่กับมันได้ก็พอแล้ว ยิ้ม ตามสถิติน่าจะมีคนที่รักษาหายจริง ด้วยยาและการบำบัด แต่ส่วนมากโรคแบบนี้เป็นกันยาว หมอแนะนำว่าถ้าเรามองว่ามันเป็นภาระมันก็เป็นภาระ แต่เราคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรามันก็หลายเป็นเรื่องดีๆได้เหมือนกัน

--- จบ ---

หวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และอย่างที่บอกค่ะ ตรงไหนผิด ไม่เหมาะสม ยินดีรับข้อติและแก้ไขค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่