กรณีวัดพระธรรมกาย : โดย วีรพงษ์ รามางกูร



จากการติดตามสังเกตการณ์ กรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับวัดพระธรรมกาย และจากการสนทนากับพรรคพวกที่ต่อต้านวัดพระธรรมกายและพวกที่เป็นศิษย์วัดพระธรรมกาย ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าความขัดแย้งระหว่างวัดพระธรรมกายกับรัฐบาล ยังไม่มีใครเห็นส่วนลึกๆ หรือส่วนที่เป็นจริงคืออะไรกันแน่ นอกจากข้อกล่าวหาที่เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะรอได้เมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว

ที่จริงคำสอนในเรื่อง “ธรรมกาย” เป็นแนวความคิดของทางฝ่ายมหายาน ที่มีความเชื่อแตกต่างไปจากแนวทางของเถรวาท แต่ “ธรรมกาย” ของหลวงพ่อสดแห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญนั้น ก็น่าจะเป็นเพียงวิธีหนึ่งใน 40 วิธีของการทำวิปัสสนา แต่ที่พวกเราชาวพุทธนิยมกันก็มี 2 วิธี คือ วิธีนั่งสมาธิโดยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นที่ไหนก็ได้ในร่างกายของเรา อีกวิธีหนึ่งก็คือการเดินจงกรม ทำสมาธิโดยการตั้งจิต กำหนดรู้ในการก้าวเดินแต่ละก้าว การกำหนดว่ามีลูกแก้วในท้องแล้วเพ็งไปที่นั่น ก็ไม่น่าจะผิดแปลกแต่อย่างใด การยืมคำของฝ่ายมหายาน “ธรรมกาย” อันเป็นกายหนึ่งของสิ่งสูงสุดเหนือโลกมนุษย์ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะวัดทางมหายาน เช่น วัดโพธิ์แมน วัดเล่งเน่ยยี่ หรือมหายานของอนัมนิกาย ก็คงจะสอนไปตามความเชื่อเช่นนี้ ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนไทยหรือคนจีนที่นับถือนิกายเถรวาทได้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาธรรมยุตินิกาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะขันติธรรมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพียงแต่ทรงปรารถ กลัวว่าพระสงฆ์ไทยจะถูกบังคับให้ห่มผ้าแบบมอญเท่านั้น แต่ในความรู้สึก วัดทางฝ่ายธรรมยุติมักจะมีความรู้สึกว่าตนมีฐานะสูงกว่า บริสุทธิ์กว่า เพราะมีการสวดญัตติใหม่ ใช้โบสถ์กลางน้ำสำหรับบรรพบุรุษของพระทางสายนี้ แต่ความเชื่อความรู้สึกในสมัยปัจจุบันนี้ก็
เจือจางลงไปมากแล้ว ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา เพราะคณะราษฎร์มีความประสงค์ให้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีเพียงนิกายเดียวคือมหานิกาย อันเป็นนิกายของพระภิกษุส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ฝ่ายธรรมยุติซึ่งเป็นนิกายของคนชั้นสูง มีพระภิกษุที่อุปสมบทในนิกายนี้เพียงร้อยละ 10 และจำนวนมากก็เป็นวัดที่ชาวมอญสร้างขึ้น การสวดมนต์ การเทศน์สั่งสอน ที่เคยสวดแบบมอญ เทศน์เป็นภาษามอญ ก็ค่อยๆ เลิกไป เพราะพระที่จะสวดเป็นภาษามอญได้ เทศน์เป็นภาษามอญได้ หรือทำสังฆกรรมอื่นๆ เป็นภาษามอญได้มีน้อยมาก

บทสวดมนต์ก็ดี บทสวดในพิธีสังฆกรรมต่างๆ ก็ดี ก็ยึดถือบทสวดที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้พิมพ์ด้วยอักษรไทยแทนอักษรขอม ทำให้พระภิกษุฝึกหัดท่องจำได้ง่ายขึ้น

สําหรับการตีความพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกนั้น ในส่วนที่เป็นพระวินัยปิฎกเท่านั้นที่เชื่อว่าถูกต้องเที่ยงตรงที่สุด เพราะสมัยก่อนแม้ว่าพระธรรมทั้ง 84,000 ของพระธรรมขันธ์จะไม่ได้จารึกเป็นตัวอักษร แต่เนื่องจากพระภิกษุจะต้องสวดปาฏิโมกข์ทุกวันพระสิ้นเดือน สืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน แต่พระอภิธรรมและพระสุตันตปิฎกมิได้บังคับว่าจะต้องท่องจำมาตั้งแต่ต้น จะมาจารึกเป็นอักษรก็ล่วงมาเป็นเวลากว่า 500 ปีแล้ว ความคลาดเคลื่อนย่อมเป็นของธรรมดา อีกทั้งฝ่ายพระมหายานก็ยังเชื่อว่ามีพุทธานุญาตให้อนุโลมเอาความเชื่อเดิมในท้องถิ่นเข้ามาประสมประสานกับคำสอนของพระพุทธองค์ได้ การตีความในพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน หรือเถรวาท จึงอยู่ด้วยกันได้ ไม่เคยต้องรบราฆ่าฟันกัน จะเชื่อว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ได้ หรือจะเชื่อว่าบางอย่างเป็นนิพพานเป็นอัตตาก็ไม่มีใครว่า ขอให้กระทำแต่ความดี ละเว้นความชั่วและทำใจให้บริสุทธิ์ก็พอแล้ว ใครอยากจะเชื่อว่ามีสิ่งที่เป็นอัตตา มีสิ่งที่เป็นนิจจังคือถาวรตลอดไปก็ได้ ไม่มีใครว่า คนไทยมีความอดทนในเรื่องความเชื่อทางศาสนาสูง คนไทยบางคนเป็นทั้งพุทธและคริสต์ หรือเป็นทั้งพุทธและมุสลิมอย่างเปิดเผยก็มี ไม่มีใครว่า

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างคนชั้นสูง คนมีอำนาจและรัฐบาล จะให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญกับการตีความพระไตรปิฎก คำสั่งสอนหรือพุทธวัจนะ มากมายอะไรนัก หรือแม้แต่คำสอนให้ลูกศิษย์ทำบุญทำทานจนหมดตัว เป็นที่เดือดร้อนแก่สามีหรือภรรยาหรือบุตรธิดา เพราะในเทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก ก็ยกย่องว่าทานบารมีนั้นเป็นบารมีที่มีความสำคัญสูงสุด พระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้ายในทศชาติของพระพุทธเจ้า พระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมีโดยการให้ทานทุกอย่างที่คนมาขอ ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือก ราชรถ จนที่สุดมีพราหมณ์มาขอกัญหา-ชาลี และพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ยกให้หมด นับประสาอะไรกับการทำบุญทำทานของลูกศิษย์ที่เชื่อว่าทำบุญมากก็ได้มาก ทำบุญน้อยได้น้อย แม้แต่ช้างม้าวัวควาย บุตรธิดาและภรรยา พระเวสสันดรท่านก็ยังทำทานให้กับผู้อื่นได้ ชาติต่อมาท่านจึงได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก สมคำทำนายของพระดาบสมหาฤๅษี เมื่อแรกประสูติ

เรื่องของศาสนา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของศรัทธา ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ คนไทยเข้าใจดี คนไทยจึงเคารพในศรัทธาของผู้อื่น ทั้งที่เป็นชาวพุทธเถรวาทด้วยกัน หรือชาวพุทธมหายาน หรือศรัทธาของศาสนิกชนศาสนาอื่น รวมทั้งความเชื่อเรื่องภูติผีนางไม้ เจ้ากรรมนายเวร ถือว่าไม่ขัดกับพุทธศาสนาเพราะในคำกรวดน้ำแผ่เมตตา ก็ยังมีคำแผ่เมตตาให้กับสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย คำสอนของสำนักธรรมกายก็ไม่ได้ออกไปจากแนวนี้

ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่า มีการสอนในเชิงพาณิชย์ ขายพื้นที่ในสวรรค์ ใครมีเงินมากก็ซื้อพื้นที่ในสวรรค์ชั้นดุสิตได้มาก มีน้อยก็ซื้อได้น้อย ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะการบริจาคก็เป็นการทำดี ใครจะมีจิตใจดี
ใจกว้างเท่าพระเวสสันดรคงไม่มีแล้ว

เงินที่บริจาคทั้งหมด ทุกวัดก็จัดตั้งมูลนิธิเพื่อความสะดวกในการเบิกจ่าย ยิ่งถ้าเป็นที่ดิน ถ้าให้เป็นการบริหารของวัดก็จะตกเป็นที่ “ธรณีสงฆ์” การโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากจนเกือบทำไม่ได้เลย ถ้าจะนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ก็ต้องทำในนามของนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัด บางครั้งบุคคลธรรมดาก็อาจจะถือกรรมสิทธิ์แทนวัด หากมีความไว้วางใจกันในชุมชนนั้นๆ ไม่ค่อยจะมีใครกล้าโกงทรัพย์สินของวัดเพราะกลัวบาป เกิดชาติหน้าจะกลายเป็นเปรตมีปากเท่ารูเข็ม

แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนไม่ค่อยจะกลัวบาปกันเสียแล้ว

ในเมื่อการตีความพระธรรมวินัยไม่น่าจะใช่ต้นเหตุของความขัดแย้ง การทำบุญทำทานมากมายก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดความขัดข้อง ขัดแย้ง หรือการมีศรัทธาในศาสนาของผู้คนจำนวนมากเป็นแสนเป็นล้านก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้ง มิหนำซ้ำสำนักวัดพระธรรมกายประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย เอเชียและที่อื่น การเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทไปยังดินแดนอื่นๆ ก็เป็นกิจที่ทุกนิกายในประเทศไทยพยายามทำอยู่แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล จนมีวัดไทยเกิดขึ้นในดินแดนต่างๆ ทั่วโลกทุกทวีป การออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาของสำนักธรรมกายก็น่าจะเป็นที่ชื่นชมยินดีและสนับสนุน ไม่น่าจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลหรือระหว่างคนชั้นสูงกับวัดพระธรรมกาย หรือฝ่ายธรรมยุติกับฝ่ายมหานิกายในกรณีนี้ เพราะฝ่ายมหานิกายก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่มาจากฝ่ายธรรมยุติเลย

มีอีกข้อหนึ่งก็คือ การที่วัดพระธรรมกายมีฃลูกศิษย์ลูกหามากมาย สามารถระดมคนที่มีศรัทธาเป็นหมื่นเป็นแสนคนได้ภายในเวลาอันสั้น อาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ความกังวลในเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะจริง เพราะไม่เคยได้ยินว่าทางวัดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง นอกจากเคยได้ยินว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นลูกศิษย์วัดนี้ แต่ความจริงก็เคยเป็นลูกศิษย์อยู่หลายวัด ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ แม้แต่ความมั่นคงของรัฐบาลวัดพระธรรมกายก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไร พระที่ฝักใฝ่การเมืองอย่างเปิดเผยก็มีอยู่มาก ก็ไม่เห็นจะทำอะไรรัฐบาลได้ เพราะส่วนใหญ่จะไปในทางประจบผู้มีอำนาจในรัฐบาลมากกว่า

จึงนึกไม่ออกว่า รัฐบาลก็ดี ผู้คนในชนชั้นสูงก็ดี จะคิดว่าวัดพระธรรมกายเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตน ทั้งๆ ที่เป็นวัดในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท อยู่ภายใต้มหาเถรสมาคมเหมือนกับวัดอื่นๆ

แต่กรณีวัดพระธรรมกาย เป็นกรณีที่น่าสนใจและติดตามของนักวิชาการรัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นหัวข้อในการศึกษาและการทำวิทยานิพนธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่

อาจจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรและศาสนจักรต่อไป


วีรพงษ์ รามางกูร

http://www.matichon.co.th/news/503157
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่