เรียนถามคุณครูทุกท่านว่า ท่านมีวิธีในการสอนเด็กที่เรียนรู้ช้า เรียนไม่เก่ง เรียนอ่อนอย่างไร

ผมกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และมีความฝันอยากเป็นครู จึงรับทำงานพิเศษเป็นติวเตอร์สอนเด็กที่สถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้ดังหรือมีชี่อเสียงอะไรมากมาย
ส่วนใหญ่แล้วผมจะได้สอนเด็กป.6 และ ม.3 ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้าในด้านวิชาคณิตศาสตร์เป็นหลัก รวมไปถึงวิทยาศาสตร์ สอนแบบตะลุยโจทย์ตามที่เจ้าของสถาบันมอบหมาย และมีสอนคณิตศาสตร์เนื้อหา ม.ปลายบ้างเป็นครั้งคราว

ปัญหาที่ผมพบส่วนใหญ่คือ เด็กๆหลายคนมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ต่ำมากจนน่าใจหาย ทั้งด้านวิเคราะห์และการคำนวณ
ผมเป็นห่วงเด็กๆพวกนี้มาก บางคนยังคูณ หารเลขไม่ค่อยเป็นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.3 แล้ว ผมรู้สึกกังวลมาก ว่าน้องๆเขาจะทำข้อสอบได้อย่างไร
ผมทำได้แค่อธิบายซ้ำๆและให้กำลังใจน้องๆในการทำโจทย์ จากตอนแรกที่ผมตั้งใจว่าจะติวโจทย์อย่างเดียว จึงต้องทบทวนความรู้พื้นฐานให้น้องๆทั้งหมด ตามหลักสูตรที่น้องๆได้เรียนมา(เปิดหาหลักสูตรตามเน็ต) แต่ผมก็ไม่มั่นใจนักว่าน้องๆจะเรียนรู้ได้แค่ไหน

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ การรีแอคชั่นในห้องเรียน หรือก็คือการโต้ตอบกับคนสอนอย่างผมนั่นเอง ผมรู้สึกว่า น้องไม่มีความมั่นใจในการตอบในสิ่งที่ผมถาม ท้งๆที่บางครั้งโจทย์ง่ายๆน้องๆก็ทำได้ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร ลองกระตุ้นให้ลองออกไปเขียนก็ทำท่าเขิน กลัวผิดอย่างเดียวเลย นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมกังวลเช่นกัน

เด็กที่เรียนเก่งๆก็มี แต่เด็กที่เรียนอ่อนมีมากมายเหลือเกิน ครั้นผมจะสอนข้ามไปให้จบๆตามหน้าที่ก็รู้สึกผิดในใจอย่างไม่ได้ ถ้าผมทำแบบนั้นผมรู้สึกว่าจะทำให้น้องเขาไม่อยากเรียนขึ้นไปอีกเพราะไม่เข้าใจ พอจะให้น้องที่เรียนเก่งๆรอ เพื่ออธิบายน้องที่เรียนไม่เข้าใจก็ใช้เวลานานจนผมเกรงใจน้องเขาที่ตั้งใจเสียเงินมากอบโกยความรู้ ผมไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด ได้แต่ทำตามความสามารถของตัวเองที่พอจะทำได้

จริงๆแล้วมีอีกมากมายหลายปัญหา ทั้งเด็กที่ไม่อยากเรียน เด็กที่ไม่เคารพหรือให้เกียรติคนสอน(ซึ่งผมต้องอดทนมาก) แต่ขอเรียนถามคุณครูแค่เท่าที่จั่วหัวกระทู้ไว้ก็พอครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูง ผมเป็นห่วงเด็กที่ตั้งใจเรียนแต่เรียนอ่อนเหล่านี้มากกว่าเคสอื่นๆ

ผมได้ลองหาวิธีตามทฤษฎีทางเน็ตบ้างแล้ว แต่อยากจะใคร่ขอประสบการณ์ตรงของคุณครูทุกท่านเสียมากกว่าว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างในการถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์ของท่านที่เรียนได้ช้า
ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ชื่นชมในจิตวิญญาณของน้องครับ

พี่เพิ่งฝึกสอนจบ สิ่งที่พี่อยากฝากน้อง และคนอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาอ่านนะครับ

ปัญหาเด็กไทย ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำ ทุกวันนี้ หลัก ๆ เลยมาจากทางบ้านครับ ถ้าพื้นฐานทางครอบครัว เขาไม่เอาใจใส่ ไม่ดูแล ยากครับที่จะให้เด็กเป็นคนดี คนเก่งได้

ชื่นชมที่น้อง (จขกท.) ยอมที่จะอดทนกับพฤติกรรมไม่เคารพของเด็กบางคน (ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น หลายคน ถ้าน้องได้มาสอนในโรงเรียนจริง ๆ) บอกเลยครับ คนมาเป็นครูมันต้องเจอพฤติกรรมแบบนี้ของเด็ก ด่าพ่อล้อแม่ ด่าครู เกะกะระราน ขี้เกียจเรียน ให้ทำงาน ให้คิดอะไร เด็กก็จะทำแบบให้เสร็จ ๆ ไป พี่เจอมาหมดแล้ว

สาเหตุหลักก็เรื่องครอบครัว สาเหตุรองมาก็เป็นที่ครูผู้สอน (หมายถึง ครูในโรงเรียน) นั่นแหละ น้องอย่าไปคิดอะไรมาก ยุคสมัยนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เด็กปัจจุบันไม่เหมือนเด็กในอดีต

ถ้าถามถึงวิธีแก้ปัญหา พี่มองว่า น้องมาเป็นติวเตอร์ให้เด็กตอนนี้ ถ้าน้องทุ่มเทสุด ๆ แล้ว ได้แค่ไหน ก็ต้องแค่นั้นครับ เพราะว่า...วิธีแก้จริง ๆ ในมุมมองของพี่ ต้องปรับกันที่โรงเรียนครับ

ถ้าพื้นฐานของเด็กไม่แม่น เราต้องจับเด็กกลุ่มนี้ออกมานั่งเรียนแยกต่างหากครับ หมายถึงตอนที่มันเรียนในโรงเรียนนั่นแหละ ต้องจับแยกเลย อย่าไปสอนรวมกับเด็กที่มีพื้นฐานแน่นแล้ว  เด็กกลุ่มนี้ต้องให้เวลากับเขาเยอะ ๆ จะให้ไปนั่งเรียนรวมกับเด็กที่ความคิด ความอ่าน อยู่เหนือพวกเขาไปอีกระดับคงไม่ได้ครับ (หลายคนอาจจะแย้งว่า ก็ที่ผ่าน ๆ มา เห็นเขาสอนรวมกันหมด) ก็นั่นแหละ ผลมันก็เลยเป็นอย่างที่เห็น กลายเป็นว่าเด็กไม่รู้เรื่องอะไรไปเลย เพราะความรู้เดิมไม่มี ความรู้ใหม่จะสอนไปอย่างไร ก็ไม่เข้าไปในหัวหรอก นี่ยังไม่นับเรื่องพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการสอนของเราอีกนะ

พี่จะเสริมอะไรอีกนิด บางโรงเรียนไม่อยากให้เด็กซ้ำชั้น ผู้ปกครองก็ไม่มีคนไหนหรอกที่อยากให้ลูกตนเองซ้ำชั้น (ทั้งที่ความจริง บางคนมันต้องซ้ำชั้น ให้เลื่อนไม่ได้) แต่ด้วยความที่ผู้บริหารเอย ผู้ปกครองเอย "หยวน ๆ" กันมาตลอด ก็ปล่อยผ่านเด็กไป สุดท้าย ก็เป็นแบบที่น้องเห็นนั่นแหละครับ

ปัญหาการศึกษาไทยทุกวันนี้ อย่ามามองแค่ว่าครูเป็นสาเหตุหลักนะครับ ถ้าคนไม่รู้จริง ไม่เคยไปสัมผัสสภาพจริงในโรงเรียน อย่าได้มาพูดเลย     ครูบางคน ไม่ใช่เขาไม่รับรู้ปัญหา แต่มันอยู่ในสภาพ "น้ำท่วมปาก" ครับ

https://ppantip.com/topic/36218626
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่