**ห้องเรียนคนรากหญ้า: "รวมพลคนถูกใส่ความ" การใส่ความ ... การทำลายล้างที่มีมาแต่ปางบรรพ์** (ชุนเทียน)

สวัสดีค่ะ WM และเพื่อนๆ สมาชิก
"ห้องเรียนคนรากหญ้า เพราะความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา" กลับมาอีกแล้ว

การให้ร้ายป้ายสี ใส่ความ มีมาตั้งแต่โบราณ อยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย แม้แต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเองยังเคยถูกใส่ร้ายด้วยความอิจฉาริษยา เรื่องมีอยู่ว่า...

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร มีพระภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา เป็นอันมากได้สำเร็จมรรคผล ผู้คนพากันสักการะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากมาย ฝ่ายพวกเดียรถีย์ (นักบวชนอกศาสนา) ก็เสื่อมลาภ หมดอำนาจ ผู้คนนับถือน้อยลง ก็พากันอิจฉาพระศาสดา คิดจะกำจัดพระพุทธองค์เสีย จึงได้ว่าจ้างหญิงงามชื่อนางจิญจมานวิกา ให้กระทำการใส่ร้ายพระพุทธองค์

นางจิญจมานวิกาก็เริ่มแผน “นารีพิฆาต” คือเดินเข้าออกวัดพระเชตวันอยู่หลายเดือน ใครถาม นางก็ตอบว่า "พวกท่านอย่ารู้เลย"

จนวันหนึ่งนางได้เอาท่อนไม้พันผ้าผูกกับท้องให้ดูเหมือนกับว่าตั้งครรภ์ ใช้ไม้ทุบหลังมือหลังเท้า ให้บวมคล้ายหญิงมีครรภ์ แล้วเข้าไปท่ามกลางฝูงชนกำลังฟังธรรมเทศนาอยู่ กล่าวหาว่านางตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้าว่า “ท่านจะมาแสดงธรรมอยู่ทำไม บัดนี้เด็กในครรภ์ของข้าพเจ้าซึ่งเกิดกับท่านใกล้จะคลอดอยู่แล้ว ถึงท่านจะไม่ดูแลก็ควรจะให้พระเจ้าดกศลหรือท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี หรือนางวิสาขาคนใดคนหนึ่ง ช่วยเลี้ยงดูข้าพเจ้าและลูก”

พระพุทธองค์ทรงหยุดแสดงธรรมและกล่าวกับนางว่า
“ดูก่อนน้องหญิง เรื่องนี้เจ้ากับเราสองคนเท่านั้นรู้กันว่าจริงหรือไม่จริงตามคำของนาง”

นางจึงตอบว่า “จริงทีเดียว เพราะการที่ข้าพเจ้ามีครรภ์ขึ้นนี้ มีแต่ท่านกับข้าพเจ้าเท่านั้นที่รู้กัน”



เทวดาได้แปลงกายเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ที่ท้องของนางจิญจมานวิกา ท่อนไม้นั้นก็ขาดตกลงมา ผู้คนก็เลยทราบว่านางกล่าวหาความใส่ร้ายพระพุทธองค์ ก็พากันลุกฮือขึ้นไล่ทุบตี พอนางออกไปพ้นประตูพระเชตวันมหาวิหาร นางก็ถูกแผ่นดินสูบ


ดังนั้นจากหัวข้อวันนี้ "รวมพลคนถูกใส่ความ" หากจะรวมรายชื่อจริงๆ คงหนากว่าสมุดหน้าเหลือง เพื่อความปลอดภัยของห้องเรียนและอมยิ้มของทุกท่าน ก็เลยจะยกตัวอย่างมาแค่บุคคลสำคัญบางท่านจากประวัติศาสตร์ชาติอื่นๆ เพื่อเป็นบทเรียน ข้อเตือนใจ ให้เราได้รู้จักคิดและเรียนรู้ ส่วนเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ยุคปัจจุบันก็ติดตามเอาจากข่าวสารประจำวันแล้วลองนำมาเปรียบเทียบกันดูได้ค่ะ  

การใส่ความ ใส่ร้ายป้ายสี จะโดยสาเหตุใดก็แล้วแต่ เช่น แค้นส่วนตัว ทำตามกระแส ขาดการไตร่ตรอง ความอิจฉาริษยา การโยนความผิดให้ผู้อื่นเพื่อหาความชอบธรรมในการทำผิดของตน การต้องการทำลายฝ่ายตรงข้ามแต่ไม่มีความสามารถทำสิ่งที่ดีกว่า หรือต้องการช่วงชิงอำนาจ ศรัทธา หรือชัยชนะ โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม ฯลฯ ล้วนแต่นำพาความเสียหายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

1. ผู้ถูกใส่ความ บางคนมีปัญญา มีบารมี หรือโชคดี มีหลักฐานมาช่วยให้พ้นภัย แต่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมายต้องได้รับกรรมที่ไม่ได้ก่อ บ้างต้องถูกประหาร ถูกเกลียดชัง ถูกขับไล่ ถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม

2. ผู้ใส่ความ ช่วงแรกอาจดูเหมือนเป็นผู้ชนะ แต่นานไป ความจริงย่อมปรากฏ จะกลายเป็นคนเสียชื่อเสียงที่สั่งสมมา สังคมประนามสาปแช่ง หรือต่อให้บางคนหนีจากกฎหมายพ้น แต่ย่อมหนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น

3. สังคมแห่งนั้น หากสังคมใด ผู้คนไม่ใช่สติไตร่ตรอง ไม่ใช่ปัญญาหรือวิจารณญาณ ปล่อยให้อคติ ความต้องการเอาชนะอยู่เหนือเหตุผล เหนือความถูกต้อง เบื้องต้นสังคมก็แค่เสียคนดีมีความสามารถ นักปราชญ์ หรือผู้ทำคุณประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย เสียโอกาสการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ สังคมกำลังเสียบรรทัดฐานดีงาม เมื่อสังคมบิดเบี้ยว สิ่งเลวร้ายย่อมส่งผลกลับสู่ทุกคนอย่างหลีกไม่พ้น และยังส่งผลถึงลูกหลานวันหน้า บางทีวันหนึ่งคนที่ยินดีปรีดากับการทำลายล้างด้วยวิธีนี้ เขาอาจต้องเจอสิ่งเหล่านั้นกลับมาทำร้ายตัวเอง

โลกเราหมุนไป หลายเรื่องราวในอดีตน่าจะเป็นบทเรียน บ้านเราเองก็มีเรื่องราวการปล่อยข่าวเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามมาตลอด

อย่างบางพรรคเมื่ออยากชนะคู่แข่งทางการเมือง แต่กลับไม่มีความสามารถสร้างนโยบายดีๆ ครองใจประชาชน ก็ใช้วิธีใส่ร้ายป้ายสี ใส่ความฝ่ายตรงข้าม หากยังไม่พัฒนา คิดแต่จะใช้วิธีเดิมร่ำไป ย่อมมีแต่พาให้ประชาชนเสื่อมรังเกียจในพฤติกรรม

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม วิธีที่ไม่สร้างสรรค์และไร้ศักดิ์ศรีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ชนะ หรือได้ศรัทธาจากผู้คนอย่างยั่งยืน สมควรหมดไปได้แล้ว และหันมาสู้กันบนเวทีด้วยความจริง ความยุติธรรม ด้วยฝีมือ กันดีกว่าค่ะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 10
ขอบคุณสำหรับกระทู้ที่มาสะกิดเตือนสติให้กับผู้อ่านที่รู้จักนำไปประยุกต์ใช้  เห็นใจเหล่าวีรบุรุษที่โดนใส่ความมาก คราวนี้เราลองมามองมุมพิชัยสงครามกันบ้าง (ที่ให้มองมุมนี้เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่หลงเชื่อกันบ้าง ต่อไปจะได้มีวิจารณญาณในการรับฟังข่าวสารมากขึ้น และไม่ตกเป็นเครื่องมือของการใส่ร้ายป้ายสี หรือมอบวกคือพิชัยสงครามด้านกลศึก)



ประหารชัวมอเตียวอุ๋น




ศึกเซ็กเพ็กโจโฉได้ส่งทูตมาหาจิวยี่พร้อมทั้งบอกให้จิวยี่ยอมแพ้ จิวยี่โกรธโจโฉเป็นอันมากฉีกหนังสือทิ้งพร้อมทั้งลากตัวทูตไปประหาร โจโฉรู้ข่าวจิวยี่ประหารทูตตนเองก็โกรธ ด่าจิวยี่ว่า "จิวยี่ไอ้เด็กอมมือชั่งโอหังยิ่งนัก" โจโฉแต่งตั้งชัวมอเตี๋ยวอุ๋นเป็นแม่ทัพเรือ ยกกองทัพเรือออกรบยังลุ่มแม่น้ำซำกั๋ง


จิวยี่ส่งให้กำเหลงเป็นทัพหน้า ฮันต๋งเป็นปีกขวา เจียวขิมเป็นปีกซ้าย จิวยี่เป็นทัพหลวง ยกทัพไปทำศึกกับโจโฉ ในศึกยกแรก จิวยี่ชนะ

โจโฉเห็นว่าทัพตัวเองพ่ายแพ้ก็โกรธจึงเรียกชัวมอและเตียวอุ๋นมา

โจโฉ : "ทหารเรามีมากกว่าเยอะ เหตุใดถึงแพ้? หรือว่าพักเจ้าไม่ตั้งใจทำศึก"

ชัวมอ : "อันเนื่องจากทหารฝ่ายเมืองเกงจิ๋วไม่ได้ทำศึกมานานอีกทั้งทหารทางภาคเหนือรบทางเรือไม่เป็น จำต้องฝึกฝนให้หนัก"

โจโฉจึงสั่งให้ชัวมอเตี๋ยวอุ๋นฝึกทหารเป็นอยางหนัก ทางฝ่ายเจียวก้านขออาสาโจโฉไปเกลี้ยกล่อมจิวยี่เอง  หากสำเร็จโจโฉก็มิต้องออกรบให้เสียทหาร เจี้ยวก้านอ้างว่าเป็นเพื่อนเก่าของจิวยี่ จิวยี่น่าจะฟังตน โจโฉได้ยินเช่นนั้นก็เห็นด้วยจึงส่งจิวก้านไป จิวยี่เมื่อรู้ว่าเจียวก้านมาพบก็เดาสถานการณ์ออก จิวยี่เลยต้องการซ้อนกลเจียวก้านกลับไป จิวยี่แสร้งขุนเคืองเจียวก้าน หากเจียวก้านนั้นมาคุยเรื่องสงคราม เจียวก้านเห็นจิวยี่ดักคอเช่นนั้นจึงไม่กล้าเอ่ยปากเกลี้ยกล่อมจิวยี่ให้ยอมแพ้

จิวยี่จึงพาเจียวก้านไปดูความยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือ จิวยี่ต้องการข่มขวัญเจียวก้าน จากนั้นก็พอเจียวก้านไปกินโต๊ะ จิวยี่จึงชัดดาบอาญาสิทธิ์ออกมามอบให้ ไทสูจู้ พร้อมทั้งบอกว่า "วันนี้มีงานเลี้ยง ห้ามใครพูดใดพูดถึงเรื่องศึกสงคราม หากใครพูดขึ้นมาให้เอาดาบนี้ประหารได้ทันที ไม่เว้นแม้แต่เจียวก้านเพื่อนเรา"

เจียวก้านได้ยินเช่นนั้นก็ไม่กล้าที่จะเกลี้ยกล่อมจิวยี่อีกเลย จิวยี่กินเหล้าไปพูดโม้ไปเกี่ยวกับข้าวปลาอาหารของเมืองกังตั๋งนั้นอุดมสมบูรณ์โดยทำสงครามจิตวิทยากับเจียวก้าน เพื่อให้เจียวก้านไปพูดข่มขวัญโจโฉแทน

จิวยีแกล้งกินเหล้าเมามายไม่ได้สติ เมื่อเมาเต็มที่ก็เรียกให้เจียวก้านไปนอนด้วยกัน จิวยี่ได้เตรียมแผนเขียนหนังสือปลอมหลอกทิ้งไว้ในห้องและจิวยี่ก็แสร้งเป็นหลับไป ฝ่ายเจียวก้านเองอาสาโจโฉมายังมิได้ทำตามคำสั่งก็กระวนกระวายนอนไม่หลับ จึงลุกขึ้นมาเหลือบไปเองจดหมายปลอมที่จิวยี่ทำขึ้นมา สำคัญผิดว่าเป็นจดหมายสำคัญ ในเนื่อความจดหมายเขียนว่า "จากชัวโมเตียวอุ๋น บัดนี้พวกเราได้แกล้งเข้าร่วมเป็นไส้ศึกกับโจโฉแล้ว กำลังคิดอ่านสังหารโจโฉ ขอให้ท่าจิวยี่โปรดวางใจ"

เจียวก้านได้อ่านก็ตกใจจึงรีบปลอมจดหมายขึ้นมาฉบับที่ 2 โดยเอาจดหมายฉบับนี้รีบนำไปให้โจโฉ เพื่อที่จะได้เป็นผลงานของตน โจโฉเมื่อได้อ่านจดหมายก็ตกใจ ด้วยความนิสัยขี้ระแวงอยู่แล้วก็เชื่อเจียวก้านสนิทใจ จากนั้นจึงเรียกชัวมอเตียวอุ๋นมาพบ




โจโฉ : "วันนี้ขอให้พวกเจ้า เตรียมเรือรบ ออกไปทำศึกกับจิวยี่"

ชัวมอ : "ยังมิควรจะไปทำศึกตอนนี้เนื่องจากยังฝึกทหารยังไม่เสร็จ ทหารยังไม่พร้อมที่จะออกรบในตอนนี้"

ชัวมอพูดไปตามความจริงว่าทหารเองก็ยังไม่พร้อมรบ แต่โจโฉคิดระแวงคิดว่า 2 คนนี้ไม่ออกรบเนื่องจากเป็นพวกเดียวกันกับจิวยี่ อีกทั้งการรบครั้งแรกกับจิวยี่ก็แพ้มาไม่เป็นท่า

โจโฉ : "หากรอให้ทหารฝึกเสร็จ หัวเรามิถูกพวกเจ้าตัดหัวไปมอบให้จิวยี่แล้วหรอกหรือ ทหารนำ 2 คนนี้ไปตัดหัว"

ชัวมอเตียวอุ๋นทั้ง 2 คนต่างก็ตกใจทั้งที่ตนเองก็หมั่นฝึกทหารอย่างหนักแต่สุดท้ายก็ต้องถูกตัวหัว เจียวก้านเห็นโจโฉนั้นปลอดภัยแล้วคิดว่าเป็นผลงานตนก็ยิ้ม โจโฉเมื่อรู้สึกตัวอีกที สำนึกผิดว่านี่คือแผนการของจิวยี่ก็สายไปเสียแล้ว ทหารนำหัวของ ชัวมอและเตียวอุ๋นมามอบให้ โจโฉเมื่อรู้สึกตัวก็รู้ว่าเจี้ยวก้านต้องกลเจียวยี่เสียแล้ว โจโฉเห็นตัวเองพลาดท่าก็เสียหน้าเช่นกันจึงกำชับเจียวก้านว่า เรื่องนี้อย่าได้ไปบอกใคร เจียวก้านจึงรับปาก


เหล่าทหารเมื่อรู้ว่าชัวมอและเตี๋ยวอุ๋นถูกประหารก็รีบเดินทางมาพบโจโฉ ถามว่าเหตุอันใดจึงประหาร 2 แม่ทัพคนนี้ เพราะ 2 แม่ทัพคนนี้ก็ฝึกฝนทหารเป็นอย่างดี โจโฉจึงพูดปัดๆไปว่า "2 คนนี้ฝึกทหารมาช้านานแล้วไม่คืบหน้า เราจึงประหารเสีย" จากนั้นโจโฉจึงแต่งตั้งให้ อิกิ๋มและมอกายเป็นแม่ทัพฝึกทหารเรือ


ก็ยังดีที่โจโฉรู้ตัวว่าเงิบอยู่เต็มอกแต่ได้หาทางออกในการบริหารกองทัพของตัวเองต่อ แต่สังคมสมัยนี้จะมีสักกี่คนที่ยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง  สิ่งนี้จึงเป็นอีกบทเรียน ที่อยู่ในส่วนของผู้รับฟังว่าจะต้องใช้วิจารณญาณมากน้อยเพียงใดในการรับรู้รับฟังข่าวสาร
ความคิดเห็นที่ 26
คุณูปการล้ำฟ้า วางรากฐานนำแคว้นสู่ความเป็นหนึ่ง เบื้องหลังการรวมประเทศเป็นหนึ่งของจิ๋นซี สุดท้ายรัฐตอบแทนด้วยข้อหากบฎ ตัวตายแต่ชื่อยังคงอยู่ตลอดกาล

ผู้นี้คือ ซางเอียง หรือ กงซุนเอียง

ในยุคจ้านกว๋อจีนแบ่งแยกเป็นรัฐใหญ่ 7 รัฐ รัฐฉินเป็นรัฐอ่อนแอ กันดารและขาดแคลน ฉินเสี่ยวอ๋องเจ้าครองแคว้นต่องการปฎิรูปแคว้นจึงประกาศหาคนเก่งมีฝีมือมาทำงาน  กงซุนเอียงจึงมาสมัครและนำเสนอแนวคิด ฉินเสี่ยวอ๋องประทับใจมากจึงตั้งให้เป็นอัครเสนาบดี กงซุนเอียงเร่ิมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการให้รางวัลและตำแหน่งตามผลงานแทนการแต่งตั้งแบบสืบทอดตามตระกูล ส่งเสริมการเพาะปลูก ใครผลิตได้มากให้งดเว้นการเกณฑ์แรงงาน และ ใช้กฎหมายอย่าเข้มงวด ให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าสายเลือด ทั้งการปกครองและการทหาร แรกๆประชาชนไม่เชื่อ กงซุนเอียงให้เอาไม้ไปปักไว้หน้าเมืองประกาศว่าใครย้ายไม้ได้จะให้รางวัล คนส่วนใหญ่หัวเราะแต่มีคนลองทำถอนไม้ย้ายไปจริงๆ ก็ได้รับรางวัลจริง ประชาชนจึงเริ่มเชื่อ

10ปี กงซุนเอียงปฎิรูปรัฐฉินที่อ่อนแอไปสู่รัฐฉินที่เข้มแข็ง ผลผลิตเสบียงอาหารสมบูรณ์ ผู้มีความสามารถเต็มเมือง การทหารแข็งแกร่ง ประชาชนมีอยู่มีกิน บ้านเมืองปราศจากขโมย กลางคืนไม่ต้องปิดประตูบ้านก็ไม่มีของหาย

รัฐฉินกลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งที่สุดใน7รัฐ

หมดยุคฉินเสี่ยวอ๋องเป็นยุคฉินฮุ่ยอ๋อง ซึ่งเคยขัดแย้งกับกงซุนเอียงตั้งแต่เป็นรัชทายาท สุดท้ายใส่ความว่ากงซุนเอียงเป็นกบฎ ให้จับตัวมาลงโทษประหารด้วยการใช้ห้าม้าแยกสังขาร
รากฐานการปฎิรูปของกงซุนเอียงทำให้ฉินอ๋องเจิ้งสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง กลายเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่

อนิจจา กงซุนเอียงให้ความเข้มแข็งแก่รัฐ ให้ความโอกาสและความเป็นธรรมแก่ขุนนางและทหาร ให้ความอยู่ดีกินดีแก่ชาวฉิน แต่ได้ค่าตอบแทนเป็นข้อหากบฎและห้าม้าแยกสังขาร

กระนั้นชื่อกงซุนเอียงก็กลายเป็นตำนานไปแล้วครับ

"ลมธรรม"
ความคิดเห็นที่ 11
เป็นความรู้ การถูกไส่ความของบุลคนสำคัญ ไนประวัติศาสตร์
แต่ของไทยเป็นการแย่งชิงอำนาจ ผลประโยชน์ ไล่ล่าไส่ร้ายกันอย่างเปิดเผย
ถือข้างแบ่งสีแบ่งฝ่าย แตกแยกกัน จนบ้านเมืองถอยหลัง มาถึงจุดนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่