[CR] วัดสุนทราวาส...เพชรเม็ดงามแห่งเมือง "ภัทธลุง"

สืบเนื่องจากในกระทู้ที่เขียนไว้ -- "พัทลุง"...ฟ้าหลังฝน และมุมมองที่คุณ(อาจ)ไม่เคยเห็น https://ppantip.com/topic/36165906 -- ได้กล่าวถึงแหล่งภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ ๓ แห่งในจังหวัดพัทลุง โดยสองแห่งคือ วัดวัง และวัดวิหารเบิก อยู่ในเขตอำเภอเมือง ติดถนนใหญ่ระหว่างทางไปหาดลำปำ จึงมีผู้คนค่อนข้างรู้จักมาก
     ทว่าอีกแห่งหนึ่ง แม้จะอยู่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวอย่างทะเลน้อยและปากประ แต่เส้นทางการเข้าถึงที่ซับซ้อน ไร้แม้กระทั่งป้ายบอกทาง แหล่งภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ที่นี่จึงอาจถูกลืมเลือนไป
     
     จึงขออนุญาตแตกกระทู้ออกมา เพื่อกล่าวถึงรายละเอียดอันน่าสนใจ ของวัดเล็กๆ แห่งนี้...
วัดสุนทราวาส



     วัดสุนทราวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่ ๓ ในจังหวัดพัทลุง มีมาตั้งแต่เมื่อไร สร้างโดยผู้ใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด กระทั่งในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยมีผู้นำในการบูรณะคือ พระอุดมปิฏก(สอน พุทฺธสโร) หรือพระสรภิกขุ ซึ่งท่านเป็นพระชาวพัทลุง ที่ได้ไปศึกษาและได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพมหานคร โดยรายละเอียดการบูรณะในครั้งนั้น ปรากฏในจารึกติดกับผนังอุโบสถ ดังนี้

                    พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๘๕ พรรษา
                    ปีขานจัตวาศกข้าพระพุทธเจ้าพระพุทธสรภิกขุ
                    เดิมอยู่เมืองภัทธลุงมาอยู่ณวัดหงษในกรุงเทพมหา
                    นครสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้นามบัญญัติชื่อ
                    พระอุดมปิฎกได้ส้างพระอุโปสถแลโรงการบุเรียนแล
                    กุฎีสงไว้ในวัดนี้อันเป็นที่เล่าเรียนนโมกขตั้งแต่เปน
                    ทารกนั้นมามีพญาภัทธลุงจุ้ยเปนอุปการช่วยกระทำให้
                    จึ่งสำเร็จในการวัดทั้งปวงแลการฉลองนั้นได้กระทำในปี
                    ฉลูเบญจศกขอเปนอุปนิไสยแก่พระนฤพานเถิด

     จากจารึกดังกล่าว พอจะขยายความได้ว่า การบูรณะมีขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๘๕ โดยพระอุดมปิฎกได้บูรณะวัดที่ท่านได้มาศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เยาว์วัย โดยมีพระยาพัทลุง (จุ้ย จันทโรจวงศ์) เป็นผู้ช่วย จนวัดเสร็จสมบูรณ์และได้ทำการฉลองวัด ท้ายข้อควมจารึกมีการอธิษฐานถึงพระนิพพาน

     ***น่าสังเกตที่การสะกดคำว่า พัทลุง เป็น ภัทธลุง การสะกดชื่อเช่นนี้พบที่วัดสุนทราวาสเพียงแห่งเดียว***

     พระอุดมปิฎกรูปนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มการสวดถวายอดิเรก หรือถวายพระพรแก่พระมหากษัตริย์หลังเสร็จสิ้นการพระราชพิธีต่างๆ โดยใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ สืบทอดจนถึงปัจจุบัน ภายหลังที่ท่านมรณภาพแล้ว จึงได้มีการสร้างมณฑปประดิษฐานรูปหล่อของท่านไว้ในบริเวณวัดด้วย

     อุโบสถวัดสุนทราวาส เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศิลปะไทยผสมผสานจีนรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ บนหลังคาประดับรูปสิงโตจีน ๒ ตัว ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใบเสมาเป็นปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา


     ซุ้มประตูเข้าในเขตกำแพงแก้วมี ๒ ซุ้ม หน้าบันประดับลายปูนปั้นรูปดอกไม้ เว้นซุ้มประตูหน้าที่ด้านหนึ่งประดับรูปราหูอมจันทร์ อีกด้านเป็นรูปดาวดาวิด (?) และตัวอักษรไทย ข ฃ ค ฅ และ ง

     อุโบสถมีหน้าต่างด้านละ ๓ บาน มีประตูทางเข้าด้านหน้าทางเดียว ทั้งบานประตูหน้าต่างปิดทองเอาไว้

     ภายในประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูปบริวาร ๒ องค์ ศิลปะพื้นบ้าน
     
     จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุนทราวาส สันนิษฐานว่าวาดขึ้นพร้อมกับการสร้างอุโบสถ ราวๆ สมัยรัชกาลที่ี ๓ ซึ่งยังคงขนบการวาดแบบไทยประเพณี เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ในยุคนั้น

     ผนังด้านหลังพระประธาน ตอนบนวาดเป็นภาพพุทธประวัติตอน โปรดพระพุทธมารดา และ เสด็จลงจากดาวดึงส์ ส่วนตอนล่างวาดเป็นเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์ในนรก



     ผนังเหนือประตูตรงข้ามพระประธาน วาดเป็นภาพพุทธประวัติ ตอน มารผจญ



     ผนังเหนือหน้าต่างทั้งสองด้าน วาดเป็นเทพชุมนุมนั่งซ้อนกันเป็นแถว ตามลำดับชั้นภพภูมิ พื้นหลังสีแดง


     และผนังระหว่างหน้าต่าง วาดเป็นภาพทศชาติชาดก โดยพระชาติแรก คือ เตมียชาดก เริ่มที่มุมด้านขวาของบานประตู เวียนซ้ายรอบพระประธาน

     ผนังที่น่าสนใจ คือ เนมิราชชาดก เป็นฉากที่พระเนมิราชไปแสดงธรรมบนสวรรค์ ประทับอยู่ในปราสาทสวยงาม มีเหล่าเทวดาพนมมือนั่งฟังอยู่รอบๆ ด้านข้างของปราสาทปรากฏภาพช้างเอราวัณ และพระจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถัดออกไปทางด้านขวา มีภาพเมขลา รามสูร กำลังไล่จับกัน โดยมีวิทยาธรตนหนึ่งแอบดูเหตุการณ์อยู่หลังเมฆ




     ผนังอื่นๆ ปรากฏรายละเอียดเล็กน้อยแตกต่างกันออกไป บ้างเป็นฉากปราสาทราชวังแบบโบราณ ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ หรือเรือแบบฝรั่งที่สะท้อนถึงการเข้ามาของชาติตะวันตกในยุคนั้น



     ในบรรดา ๑๐ ผนังเรื่องทศชาติ มีผนังเดียวเท่านั้นที่ ลงสีไม่เสร็จ คือเรื่องมโหสถชาดก ในภาพมีการลงสีไปแล้วบางส่วน แต่กว่าครึ่งผนัง ยังเป็นภาพร่างลายเส้น ซึ่งเป็นข้อดีที่เราจะได้เห็นขั้นตอนการวาดภาพจิตรกรรมแบบโบราณ


     จิตรกรรมฝาผนังวัดสุนทราวาส เป็นหนึ่งในหลายๆ วัดที่ถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศที่ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่และสภาพอากาศที่ฝนตกชุก ความชื้นในดินจึงค่อยๆ ไล่ขึ้นมาตามผนัง ทำลายภาพเขียนให้เปื่อยยุ่ยและหลุดลอกออกมา หลังคาที่ผุพังเปิดโอกาสให้น้ำฝนไหลรั่วชะภาพหายไปทั้งแถบ และฝีมือของคนที่ไร้จิตสำนึกที่ขีดเขียนภาพจนเสียหายอย่างน่าเสียดาย...

.....
     ยามเย็นของวันมาฆบูชา ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา สภาพรอบๆ วัดเป็นปกติ แทบไม่ต่างจากช่วงเวลาก่อนพายุฝนจะพัดผ่านเข้ามา พระสงฆ์กวาดเศษใบไม้ในลานทราย ขณะที่ชาวบ้านทยอยเดินทางมาวัด แต่งกายด้วยชุดท้องถิ่น เตรียมมาฟังพระธรรมเทศนายามค่ำคืน...ถาดหน้าอุโบสถ ปรากฏช่อดอกไม้หลากสีสันจากพุทธศาสนิกชนที่มาเวียนเทียน
     หากใครที่มาเข้าชมจิตรกรรมฝาผนัง ย่อมได้เจอกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ผู้ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวตลอดการเที่ยวชมวัด ทั้งเรื่องที่น้อยคนจะรู้อย่างเรื่องราวของพระอุดมปิฏก พระภิกษุจากเมืองที่ห่างไกล แต่มีบทบาทต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างคาดไม่ถึง คติธรรมความศรัทธาที่แฝงกับงานศิลปกรรม หรือสถานที่ในวัดอย่างพิพิธภัณฑ์วัดสุนทราวาส แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่หากมิได้เที่ยวชมพร้อมกับผู้รู้ที่จำพรรษาที่นี่แล้ว ไม่มีวันที่จะได้ทราบอย่างแน่นอน
     ผู้เขียนได้ถามหลวงพ่อถึงการบูรณะครั้งที่ผ่านๆ มา ก็ได้รับคำตอบว่า ครั้งล่าสุดก็หลายสิบปีมาแล้ว และไม่มีวี่แววถึงครั้งต่อๆ ไป
"เขาคงไปบูรณะแต่วัดใหญ่ๆ ดังๆ นั่นแหละ ไม่มีใครสนใจวัดบ้านนอกอย่างนี้หรอก..."

     เสียงสะท้อนจากผู้ครองวัดที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของที่นี่มาหลายปี...แต่ผู้เขียนคิดว่า การที่เป็นวัดเล็กๆ ไม่ดังอย่างนี้แหละ จึงทำให้คงเสน่ห์อันมีความหมายของ วัด ได้ดีที่สุด สถานที่ที่คนในชุมชนมาร่วมกันประกอบพิธีกรรม ได้สวดมนต์ ฟังธรรม ตามแบบดั้งเดิม ที่ไร้กระแสวัตถุนิยมใดๆ มาปรุงแต่ง ที่นับวันจะหาสถานที่เช่นนี้ได้ยากแล้ว...
     แต่ขอการเหลียวแลงานศิลปกรรมอันล้ำค่าสักหน่อย ก็จะดีไม่ใช่น้อย !


วัดสุนทราวาส ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
การเดินทางมาวัด ค่อนข้างยากเพราะไม่มีป้ายบอกทางชัดเจน ตลอดจนถนนที่ค่อนข้างซับซ้อนเพราะเป็นถนนชนบท โดยคร่าวๆ คือ จากอุทยานนกน้ำทะเลน้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๘ ข้ามทางรถไฟที่บ้านปากคลอง ผ่านวัดเขาทอง จนถึงสามแยกเข้าวัดดอนศาลา (ทางหลวงชนบทหมายเลข ๔๐๑๙ - ป้ายเล็กมากๆ) เมื่อเห็นกำแพงวัดให้เลี้ยวขวา อ้อมโรงเรียนแล้วตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงวัดสุนทราวาส
พิกัด : 7.783134, 100.049267
ปกติอุโบสถและพิพิธภัณฑ์จะปิดไว้ สามารถติดต่อขอเข้าชมได้กับเจ้าอาวาส พระลูกวัด หรือเจ้าหน้าที่ที่ถือกุญแจ

ถึงจะไกลและเข้าถึงยากสักหน่อย แต่ความงามของภาพจิตรกรรมก็คุ้มค่าอยู่ไม่ใช่น้อย อยู่ห่างจากทะเลน้อยและปากประในรัศมี ๒๐ กิโลเมตร หากมีโอกาสก็อย่าพลาดที่จะมาแวะชม เพชรเม็ดงามแห่งเมือง ภัทธลุง นะครับ อมยิ้ม01
ชื่อสินค้า:   วัดสุนทราวาส
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่