[CR] Gone with the wind วิมานลอย หนังดีน่าดู รีวิว No spoil

Gone with the wind (วิมานลอย) 1939
   
             เมื่อวานได้มีโอกาสดูภาพยนตร์คลาสสิคตลอดกาลอย่าง Gone with the wind ที่โรงหนังสกาล่า ซึ่งมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์เก่าเดือนละเรื่องตลอดทั้งปี ใครสนใจก็ตามเช็ครอบไปดูกันได้เลยนะคะ ซึ่งรีวิวนี้ก็มาจากความประทับใจในหนัง (เอาไปเลยเต็ม 10) โดยเนื้อหาด้านล่างไม่มีการสปอย หรือเปิดเผยเนื้อหาสำคัญนะคะ ใครที่ได้ดูแล้วก็อย่าลืมมาแบ่งปันความเห็นกันได้เลย


            เข้าเรื่องๆ Gone with the wind เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวโรแมนติค ดราม่า บอกเล่าเรื่องราวการเติบโตของตัวละคร สกาเล็ต โอฮาร่า ผ่านช่วงเวลาที่แสนยากลำบากของยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้สร้างความสูญเสียให้กับทุกคน ไม่ว่าชนชั้นสูง ทาส ชนผิวขาว หรือ ผิวดำ สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ เหมือนที่ Ashley (ตัวละครในเรื่อง) พูดเอาไว้ว่า


“Most of the miseries of the world were caused by wars. And when the wars were over no one ever knew what they were about.”  (หลายสิ่งบนโลกใบนี้เกิดขึ้นจากสงคราม และเมื่อสงครามเหล่านั้นจบลง ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราต่อสู้กันไปเพื่ออะไร)


               Production ของตัวภาพยนตร์ทำได้ดีมาก มากๆ มากมากมาก เมื่อคิดว่า ย้อนกลับไปกว่าเจ็ดสิบปี สามารถดึงความรู้สึกของผู้ชมว่า นี่คือยุคสมัยของสงครามกลางเมืองอเมริกาจริงๆ และเนื่องจากยังไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค หลายฉากจึงเป็นการใช้คนจริงๆในการแสดงรวมถึงเทคนิคต่างๆ เช่น ฉากที่ Scarlett เดินหาคุณหมอ Meade ท่ามกลางทหารที่บาดเจ็บจากสงครามเป็นฉากที่สมจริงมากๆ ใช้คนเยอะมากในการแสดงฉากนี้ ถ้าปัจจุบันคิดว่าน่าจะใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคได้ หรือฉากที่มีการระเบิดลุกไหม ก็มีการเผาสิ่งก่อสร้างจริงๆ (ไฟเลยสมจริงมากๆ)
              อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังคืองานภาพในหนังโดยเฉพาะฉากใต้แสงอาทิตย์สีส้มยามเย็น องค์ประกอบแสงถือว่าทำได้ดีมาก ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมไปในทุกฉาก ทั้งเศร้าไปกับ Scarlett ตอนที่เธอกลับบ้านไปแล้วพบว่าที่ทารา ความหวังที่จะได้กลับบ้านที่มีแต่ความปลอดภัยและความอบอุ่มได้โดนไฟสงครามลามมาถึง หรือแม้แต่ฉากจูบในตำนานเมื่อ Rhett ตัดสินใจไปเข้าร่วมสงครามและจูบลา Scarlett องค์ประกอบอื่นๆทั้งดนตรีประกอบ เสื้อผ้า และเมคอัพทำออกมาได้ลงตัวไม่มีที่ติ (เผลอๆดีกว่าหนังในยุคปัจจุบันหลายเรื่องอีก ฮาาาาา)


              ตัวหนังแบ่งออกเป็นพาร์ทๆ (จำไม่ได้ว่ากี่พาร์ทง่ะ ดูครั้งแรก งือๆ) ความยาว 221 นาที มีการเบรคพักครึ่งประมาณ 15 นาที ซึ่งจบประมาณพาร์ทที่ 2 (หรือ 3 นะ 555) พอดี ไม่แน่ใจว่าเมื่อ 70 ปีที่แล้วมีการเบรคอย่างนี้หรือเปล่า ตัวหนังเป็นเรื่องราวชีวิตของ Scarlett O’hara ลูกสาวเจ้าของไร่ฝ้าย ที่จัดเป็นชนชั้นมีอันจะกินในทารา จอร์เจีย ตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนสงครามจนกระทั่งหลังสงครามกลางเมือง หนังแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอ ความคิดที่เปลี่ยนไป และเติบโตขึ้นอันเป็นผลต่อสงคราม ความมั่นคงในความรัก (ที่เธอคิดว่ารัก) หรือจริงๆแล้วเธอไม่เคยรักใครนอกจากตัวเอง วิเวียน ลีห์ แสดงได้อย่างดีเยี่ยมทั้ง Scarlett ที่มีชีวิตชีวาสดใส เจ้าเสน่ห์ และมั่นคงในรัก หรือ Scarlett ที่เติบใหญ่ เหนื่อยล้าจากสงคราม และ Scarlett ที่รักตัวเอง รักเงิน เกินกว่าจะมองสิ่งต่างๆด้วยหัวใจ จนสุดท้ายเธอต้องเสียใจเมื่อเธอกลับทิ้งความสุขในชีวิตด้วยมือเธอเอง (Gone with the wind หายไปกับสายลม) ครึ่งแรกของหนังแสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายจากสงคราม การพลัดพราก ในขณะที่ครึ่งหลังแสดงให้เห็นว่า สงครามได้เปลี่ยนแปลงคนเราไปอย่างไร แม้สงครามจะสงบ แต่แผลจากสงครามจะยังคงอยู่ในใจเสมอ โดยในครึ่งหลังจะเน้นเรื่องราวความรักของตัวละคร Scarlett


                 ตัวหนังสอบผ่านทั้งพาร์ท โรแมนติคและพาร์ทสงคราม และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 ภาพยนตร์อเมริกันยอดเยี่ยมตลอดกาลจากสมาคมภาพยนต์อเมริกา AFI (อัพเดทล่าสุดปี 2007) หนังยังกวาดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 12 ปี 1940 ไปทั้งหมด 10 รางวัลรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (วิเวียน ลีห์ เองก็ได้รางวัลนำนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม) ซึ่งครองสถิติรางวัลออสการ์สูงสุดจนก่อนจะถูกทำลายสถิติในปี 1959 จากภาพยนตร์เรื่อง Ben Hur สำหรับใครที่ชอบภาพยนตร์คลาสสิค Gone with the wind เป็นภาพยนตร์ที่คุณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง สุดท้ายนี้ลากันไปด้วยประโยคจากตัวละครที่เราชอบที่สุด จาก Rhett Butler : “Frankly, my dear, I don’t give a damn.”
ชื่อสินค้า:   ภาพยนตร์
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่