หากพูดถึงหนัง War/Romance หรือหนัง Epic คลาสสิกสักเรื่อง เห็นทีจะต้องมีชื่อ Gone with the Wind แล้วล่ะ

Gone with the Wind (1939)



Genre : Drama, Romance, War

Director : Victor Fleming
Novel : Margaret Mitchell
Screenplay : Sidney Howard
Contributing Writer : Oliver H.P. Garrett, Ben Hecht, Jo Swerling, John Van Druten

ในที่สุดหลังจากดองไว้นานเพราะเกรงกับความยาวหนัง 4 ชั่วโมง ในที่สุดก็หยิบมาดูจนได้ครับ เป็นหนัง American classic แบบที่เขาว่าจริง ๆ น่ะแหละครับ พล๊อตนิยายจ๋ามากกกกกกแต่ถือว่าเป็นมหากาพย์คลาสสิกที่ต้องดูสักครั้งครับ (นิยายจ๋าในความเห็นผมคือ มันดูเป็นเรื่องปรุงแต่งอย่างมาก)

เนื้อเรื่องคงจะย่อได้ยากเหลือเกินเพราะหนังมันยาวมาก เอาเป็นว่ามันเกี่ยวกับการเติบโตของ Scarlett (Vivien Leigh) ผ่านความรักที่ผิดหวัง การใช้ชีวิตระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกา และชีวิตหลังสงครามของเธอ เป็นหนัง Epic แห่งยุคนั้นเลยครับ (และดูในยุคนี้ก็ยังรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่) ผมไม่ขอเปิดเผยเนื้อเรื่องมากกว่านี้ อยากให้ได้ไปชมกันเองมากกว่า ส่วนใครที่อยากรู้เนื้อเรื่องละเอียดกว่านี้ลอง Google ค้นหาดูน่าจะเจอเพียบครับ

ผมขอจัดหมวดหมู่ Gone with the Wind ออกเป็น 3 ประเภทนะครับ
1. ความเป็นหนัง Epic ความหมายของผมคือ หนังที่มีเรื่องราวยาว (long narrative poem), มาพร้อมกับโปรดักชั่นที่ยิ่งใหญ่ (large-scale production) ยกตัวอย่างหนังประเภทนี้ก็เช่น Lawrence of Arabia, Ben-Hur, Patton (หนังสรรเสริญวีรกรรมของวีรบุรุษ) หรือหนังรักที่มีโปรดักชั่นยิ่งใหญ่อย่าง Doctor Zhivago ก็นับเป็น Epic ได้เช่นกันครับ

ความยิ่งใหญ่ของ Gone with the Wind คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันมาก หนังมาพร้อมกับเนื้อเรื่องที่ยาวนานมากและงานสร้างก็ถือว่าใหญ่โตทีเดียวสำหรับหนังสมัยนั้น เนื้อเรื่องเป็นหนัง War/Romance ชีวิตรักของผู้คนฝ่ายใต้ที่แพ้สงคราม เล่าผ่านตัวละคร Scarlett และชายหนุ่มที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเธอ หนังมีความเป็นนิยายปรุงแต่งสูงมาก แต่ถึงกระนั้นความเห็นส่วนตัวเมื่อเทียบกับหนังรักโดยมีสงครามเข้ามาเกี่ยวข้องอย่าง Doctor Zhivago (ซึ่งผมมองว่าด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างของสองเรื่องนี้จึงเป็นมวยถูกคู่ที่จะยกมาเปรียบเทียบ) ผมชอบความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและการดำเนินเรื่องของ Gone with the Wind มากกว่าพอสมควร

2. ความเป็นหนัง Period หรือหนังที่สะท้อนค่านิยมและวัฒนธรรมยุคก่อนออกมาได้ชัดเจน (ตัวอย่างหนังประเภทนี้มีให้เห็นกันเยอะครับ เช่น Amadeus, In the Mood for Love, Pride and Prejudice) ใน Gone with the Wind เราจะได้เห็นตั้งแต่ค่านิยมของสังคมสมัยนั้นที่มีต่อผู้หญิง ชนชั้นผิวขาวผิวดำแรงงานทาส ความคิดเรื่องเกียรติยศของชาวใต้ในอเมริกา เครื่องแต่งกายต่าง ๆ ก็สะท้อนยุคสมัยสงครามกลางเมือง (ปี 1861-1865) นับได้ว่าพื้นหลังทุกอย่างในหนังล้วนแล้วแต่เป็นการสะท้อนยุคสมัยออกมาได้อย่างดี

3. ความเป็นหนัง Character Study หรือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของตัวละครผ่านเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ (ตัวอย่างหนังประเภทนี้มักจะเป็นหนังที่มุ่งเน้นไปยังตัวละครเอกของเรื่องเช่น Lawrence of Arabia, Patton, The Hustler, The Conversation, Taxi Driver, Amadeus) ซึ่ง Gone with the Wind ก็ไม่ต่างจากหนังที่ผมยกมาครับ เพราะเรากำลังศึกษาความเปลี่ยนแปลงของ Scarlett ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทำให้เธอมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด รวมถึงสภาพจิตใจเข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลงในช่วงเวลาต่าง ๆ ใครที่ชอบศึกษาวิเคราะห์ตัวละครก็อยากให้มาลองศึกษาตัวละคร Scarlett กันดูครับ ผมว่าชีวิตเธอน่าสนใจมาก

อีกประการที่ต้องเอ่ยถึงเป็นการส่วนตัวคือ Vivien Leigh สวยมากกก ผมเคยดูเธอตอนมีอายุขึ้นมาหน่อยในหนังเรื่อง A Streetcar Named Desire (ปี 1951 หรือ 12 ปีต่อจาก Gone with the Wind) ผมยังไม่รู้สึกว่ามีเสน่ห์ดึงดูดใจแบบตอนเธอรับบท Scarlett นะ ผมว่า Vivien Leigh ใน Gone with the Wind เป็นหนึ่งในอันดับต้น ๆ ของความงามบนแผ่นฟิล์มเลยครับ

ใครที่ยังไม่ได้ชมหนัง Epic เรื่องนี้ก็แนะนำว่าอยากให้ได้ดูกันสักครั้งจริง ๆ ครับ เป็น Top 10 Epic ของสถาบัน AFI ด้วยครับ

9/10


ป.ล. อย่าว่าผมเชยที่พึ่งได้ดูนะครับ อิอิ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่