ชัยเจริญ ดวงพัตรา เขียนถึงเว้ง จิตต์แจ้ง

ตำนานโรงหนัง ทับเที่ยงภาพยนตร์ ของคุณเว้ง จิตต์แจ้ง
เขียนโดย ชัยเจริญ นักพากษ์อัจฉริยะ ที่ดังที่สุดในภาคใต้

วันนี้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ มติตรัง ไปคัดข้อมูล ที่อาจารย์ ชัยเจริญ ดวงพัตรา เขียนบันทีกไว้ถึง   โรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์        ของ     นายเว้ง จิตต์แจ้ง จากคอลั่ม ฮิตติดอันดับท็อปไฟ้ว์ใน นสพ.คมชัดลึก   มาให้แฟนได้รับทราบ อ.ชัยเจริญ นอกจากท่านเป็นนักพากษ์แล้ว ยังเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นเจ้าของโรงหนังแล้วยัง เป็นนักเขียน ฯลฯ

เรียกว่าครบเครื่อง ท่านเขียน อ่านสนุกเรื่องโรงหนัง เรื่องการพากษ์ในหนังสือที่ท่านเขียน มีหลายเล่มเช่น
คุยเฟื่องเรื่องนักพากษ์ นักพากษ์ผู้ยิ่งใหญ่ ขอนำประวัติท่านมาดังนี้ ชื่อจริงว่า ชัยเจริญ ดวงพัตรา เกิด 14 สิงหาคม 2465 ท่านมีอายุ 95 ปีแล้ว ยังแข็งแรง ท่านประสบความสําเร็จในการพากษ์ ชื่อชัยเจริญใหญ่กว่าชื่อหนังเสียอีก ทุกๆปี คุณโต๊ะ พันธมิตรหัวหน้าทีมพากษ์                  คุณปริภันฑ์ วัชระนนท์ จะจัดงานเลี้ยงให้ อาจารย์ชัยเจริญ ดวงพัตรา  โดยพี่โต๊ะ และเพื่อนๆในวงการจัด

ให้ท่านทุกปี ชีวิตท่านอาจารย์ชัยเจริญ น่าสนใจ ตอนอายุ 20 ประมาณปี 2485 ไปฝีกพากษ์ ที่โรงหนัง นครภาพยนตร์ จนชํานาญและเริ่มดัง ภรรยาท่านเป็นลูกหลาน เจ้าของโรงหนังนครภาพยนตร์ และไปพากษ์ต่อที่หาดใหญ่ต่อมาจนคนรู้จัก

วันหนี่ง คุณชัยเจริญ ได้มีโอกาสรู้จักคุณเว้ง จิตต์แจ้ง ตำนานนักสู้ผู้บุกเบิกโรงหนังโรงแรกของชาวตรัง คุณเว้งจึง ชักชวน ชัยเจริญ ให้มาช่วยพากษ์     ที่โรงหนัง ทับเที่ยงภาพยนตร์ตรัง


หลายเรื่อง ที่โด่งดังคือเรื่อง จอมสลัดแดง มาพากษ์ที่ทับเที่ยงภาพยนตร์โรงเกือบพังคนแน่นมาก จนประตูหลุดและพังไป ในการพากษ์ ที่สะใจแฟนหนังสมัยนั้นเรื่องจอมสลัดแดง พระเอกเบิร์ตแลน คลาสเตอร์ ดาราดัง ได้เฮตั้งแต่หนังเริ่มเรื่อง

ช่วงหลังคุณเว้ง มาเปิดบริหารโรงหหนังใหม่อีก ชื่อคิงส์ตรัง ให้ชัยเจริญ มาพากษ์วันเปิดเรี่องจ้าวแผ่นดิน THE GIANT ประสบความสำเร็จ ส่วนเรื่องที่
ทำให้ชัยเจริญดังเป็นพลุแตก ที่คิงส์ตรังคือเรื่อง บัญญัติ สิบประการ THE TEN COMMANDMENTS แน่นรอบเต็มทุกวัน หนังดัง นักพากษ์สุดยอด และอีกหลายๆเรื่องติดตาม ชัยเจริญบอกว่าตั้งแต่คุณเว้ง ให้ไปพากษ์ ไอแวนโฮที่ทับเทียงภาพยนตร์  แล้วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เกี่ยวกับหนังมีเสื้อเกาะ ไม่ว่าเรื่องไหน จะเรียกชัยเจริญไปพากษ์ทุกครั้ง ชัยเจริญบอก ไม่รู้ผมถูกเส้นอะไรกับหนัง โบรำโบราณอย่างนั้นเช่นบัญญัติ 10 ประการ เบน เฮอร์ คลีโอพัฒรา เอลซิก   ฯลฯ


ตอนนี้คุณชัยเจริญ ได้เขียนถึงโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์ลงในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึกเมื่อปี 2549 มติตรัง กราบเรียนขออนุญาตท่าน         นำมาเสนอ ดังนี้

“ผมชัยเจริญ ได้พากย์หนังใหญ่เป็นครั้งแรก หนังขนาด 4 ดาว ดาราก็ยิ่งใหญ่ ประเพณีการพากย์สมัยนั้น ต้องขึ้นไตเติ้ล ผู้พากย์ จะต้องประกาศชื่อตามตัวหนังสือที่ปรากฏขึ้นบนจอ ซึ่งมีบริษัทชื่อผู้แสดงแถมด้วยชื่อผู้พากย์ ที่ทับเที่ยงภาพยนตร์ของคุณเว้ง จิตต์แจ้ง ก่อนพากย์เรื่องไอ แวน โฮ พอหนังขึ้นไตเติ้ล ผมนึกวูบขึ้นสมองแล้วปฏิบัติการทันที ตราบริษัทขึ้นจอสิงโตโผล่หน้าออกมาในวงกลมซึ่งล้อมด้วยฟิล์มภาพยนตร์ สิงโตก็หันหน้ามาคำรามเสียงดัง โหว่ โหว่ ผมก็เริ่มพูด ...บริษัทเมโทร สิงโตคำรามสร้าง ไอ แวน โฮ... พอชื่อดาราเป็นภาษาอังกฤษ ผมปล่อยมุกทันที....

...นำแสดงฝ่ายชายโดย โรเบิร์ต เทเลอร์ นำแสดงโดยฝ่ายหญิง อาลิซาเบท เทเลอร์ นำพากย์โดย ชัยเจริญ เทเลอร์ ครับ... เล่นมุกตั้งแต่ไตเติ้ล ก็ได้เสียงเฮกันตรึมทั้งโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์”

โรงหนังสมัยก่อนโน้นที่ตรัง มีอยู่เพียงโรงเดียวคือโรงทับเที่ยงภาพยนตร์ ดำเนินงานโดย คุณเว้ง จิตต์แจ้ง ซึ่งเป็นเจ้าประจำคนเดียวตลอดมา ทับเที่ยงภาพยนตร์ ตัวโรงเป็นไม้ ห้องฉายอยู่ข้างล่างติดกับพื้นดิน แบบเดียวกับ โรงปากพนังภาพยนตร์ ผมเคยไปพากย์ที่ทับเที่ยงภาพยนตร์บ่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มพากย์หนัง สวรรค์คนยาก อยากจะรักสักครั้ง ไอ แวน โฮ ผมจึงเป็นขาประจำของ คุณเว้ง จิตต์แจ้ง เจ้าของโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์มาตลอด..       จนกระทั่งมีโรงใหม่และใหญ่เกิดขึ้น คือ "เฉลิมตรัง "

โรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์จึงต้องเลิกกิจการไป พูดถึงเมืองทับเที่ยงแล้ว อดที่รำลึกถึงความหลังแต่เก่าก่อนไม่ได้ ต้องขอคุยกันสักหน่อย..เพราะมีแปลก ๆ หลายอย่างที่นั่น ไม่ใช่ว่าจะแปลกที่ หมูย่างอย่างเดียว

อย่างอื่นก็มี.. ที่ทับเที่ยง เขาเรียก "โก" นำหน้าชื่อกันทั้งบ้านทั้งเมือง โกถ้อง-เจ้าของโรงหนังเมืองกันตัง โกเส็ง-ผู้จัดการโรงแรมราชดำเนิน โกฮก-ผู้จัดการโรงหนังเฉลิมตรังและ โกจุ๊ง-ผู้จัดการโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์


พูดถึงโกจุ๊ง ฟองโหย ยังนึกถึงเรื่องเก่า ๆ ผมรักท่านในฐานะพี่ชาย เราสนิทสนมกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะท่านมีหน้าที่พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ-เป็นโคชกิตติมศักดิ์ของผม เวลาผมไปพากย์หนังเรื่องไหนไม่ว่าโรงไหน ท่านก็ต้องไปดูทุกเรื่อง ดูแล้วก็มาวิจารณ์ติชม...ตรงนั้นไม่ดีนะ ตรงนี้ควรเป็นอย่างงี้นะ ตอนพระเอกจากนางเอกควรบรรยายให้ซึ้งกว่านั้นนะ...อะไรทำนองนี้ ทำให้รู้ถึงจุดบกพร่องที่ควรแก้ไข คนที่ไม่รักกันจริง...เขาไม่ทำกันอย่างนี้หรอก

ยุคนั้นมีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งอยู่ไม่ห่างจากโรงหนัง "ทับเที่ยงภาพยนตร์" อยู่ตรงมุมสี่แยกพอดี ชั้นบนเป็นโรงแรมด้วยผมก็เคยไปพักที่นั้น ชื่อ โรงแรมสุขไพบูลย์ ข้างล่างเป็นร้านกาแฟ ร้านโกกุน รอบ ๆ ร้านมีรถเข็นขายอาหารอยู่หลายเจ้า


ร้านกาแฟแห่งนี้ แทบจะเรียกว่าเป็น-สภากาแฟ เพราะที่นั่นอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอ-เทศบาล-จังหวัด-ศาล-โรงพัก วันทั้งวันจึงมีคนมานั่งกินกาแฟวิพากษ์วิจารณ์กันเสียงขรม และที่แปลกอีกอย่างก็คือ มีแผ่นป้ายติดประกาศงานศพอยู่ตามฝาร้าน
เมื่อปิดประกาศไปแล้วก็เป็นอันรู้กันเอง โดยไม่ต้องส่งการ์ด ซึ่งก็นับเป็นประเพณีที่ดีเมื่อเราไปงานบ้านเขา-เขาก็มางานบ้านเรา พ่อแม่พี่น้องเราตาย-เขาก็มากัน พ่อแม่พี่น้องเขาตาย-เราก็ไปตอบแทน ต่างยึดถือเป็นธรรมเนียมประเพณี ที่นี่ไม่นิยมตั้งศพในวัด แต่จะตั้งบำเพ็ญกุศลกันในบ้าน
ของดีของทับเที่ยงหนีไม่พ้น "หมูย่าง" แต่ในสมัยนั้นก็งั้น ๆ ไม่คอยอึกทึกครึกโครมนัก หมูย่างเป็นเพียงอาหารธรรมดาที่คนชอบกินกันเป็นปกติ กินกับน้ำชากาแฟในตอนเช้า และกินกับข้าวสวย เป็นอาหารเที่ยงและเย็น แต่ถ้าพูดถึงร้านอาหารอร่อยก็ต้องร้านโกเต็ง ที่ร้านนี้ เขามีอาหารขึ้นชื่อลือชาคือ ข้าวราดแกงกะหรี่-กับข้าวขาหมู ของเขาอร่อยมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องแวะมากินและจัดเลี้ยงกันที่นี่ ชั้นบนของร้านอาหารโกเต็งเป็นโรงแรมอีกด้วย ผมพักที่นี่เป็นประจำ อาหม่อมรุจิรากับคุณมารศรีเมื่อมาพากย์ที่ตรัง ก็มาพักที่นี่


ทับเที่ยง-ตรัง เป็นเมืองที่ไต่ขึ้นสูงจากตีนเนินขึ้นไปจนถึงยอดเนิน ล่างสุดแถวตีนเนิน ก็คือสถานีรถไฟและโรงหนังเฉลิมตรัง จากนั้นถนนก็เลื่อนระดับสูงขึ้น ๆ ตึกรามบ้านช่องทยอยสร้างถัดขึ้นไปทีละช่วง ๆ ไต่ขึ้นไป ๆ จนถึงกลางเนิน ที่ตรงนั้น สมัยแรกโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์ตั้งอยู่ และที่ตรงข้ามกับโรงหนัง จะเป็นหน้าผาสูง ต้องทำบันไดหลายสิบขั้นขึ้นไปยังที่ว่าการอำเภอและเทศบาล
ทับเที่ยงเมืองตรังในสมัยนั้น ย่อมไม่เหมือนกับสมัยนี้ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายหลายอย่าง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่จะต้องพูดถึงก็คือ

     โรงหนัง "แหละแล้ว...อยู่มาวันหนึ่ง...
โรงหนัง "ทับเที่ยงภาพยนตร์"ของนายเว้ง จิตต์แจ้ง โรงหนัง คู่บ้านคู่เมืองทับเที่ยงมาแต่โบร่ำโบราณก็ถึงกาลอวสาน ถูกรื้อทิ้งไปอย่างไม่ใยดี”ข้อเขียนคุณชัยเจริญจบลงตรงนี้ ติดตามอ่านเรื่อง
ประวัติการชีวิตต่อสู้ ของนายเว้ง จิตต์แจ้ง ( โกวิท จิตต์แจ้ง ) ตํานานนักสู้ผู้บุกเบิกโรงหนังโรงแรกของชาวตรัง ได้ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ   ศาลายา จ้งหวัด นครปฐมและ ในจดหมายข่าวฉบับที่ 33 พฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ 2559 และติดตามรับชม ข้อมูลพร้อมภาพถ่ายประวัตินายเว้ง (โกวิท จิตต์แจ้ง )และถาพถ่ายโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์ และโรงหนังคิงส์ตรัง ได้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติตรังในเวลาราชการ และมีอ่าน ในเวปพีเพิลซีนเวปคนรักหนัง



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่