แบ่งปัน เคล็ดลับการบริหารเวลา ในช่วงที่เรียนปริญญาเอก พร้อมมีลูกสามคน ในประเทศเยอรมนี ค่ะ

- เคล็ดลับ การบริหารเวลาของมนุษย์แม่ ดร. ลูกสาม - ตอนที่ 1 "กว่าจะได้เป็น ดร."


เมื่อมองย้อนกลับไป เรารู้สึกโล่งอย่างบอกไม่ถูก ทั้งๆ ที่ยังคงมีสิ่งอื่นๆ ที่ยังคงท้าทายให้ชีวิตต้องก้าวต่อไปข้างหน้า ทั้งนี้เพราะการเรียนปริญญาเอก สำหรับเราแล้วนั้น เป็นหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ในชีวิตที่อยากทำให้สำเร็จ แต่พูดไปแล้ว เพื่อนๆ อาจจะต้องอมยิ้ม ที่ว่า เป้าหมายของการมีลูกสามก็เป็นหนึ่งในแผนการณ์ใหญ่ในชีวิตของเราเช่นกัน

และเพราะเวลาในชีวิตนั้นจำกัดเหลือเกิน ดังนั้นจะให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งในชีวิต ก็คงเป็นอะไรที่เลือกยาก แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า "เราน่าจะทำได้" ได้ทำให้เป็นจุดกำเนิดของนามปากกาที่เราแสนจะภูมิใจ "มนุษย์ ดร. แม่ลูกสาม"  อิอิอิ

สำหรับนามปากกานี้ที่อยู่ๆ วันหนึ่งได้รับการดลใจอย่างอัศจรรย์ให้มีชื่อนี้เพื่องานเขียนของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากความที่อยากจะโอ้อวดว่าตัวเองเป็นด๊อกเตอร์นะคะ เพราะว่าเป็นด๊อกเตอร์แล้ว คงจะไม่สำคัญเท่ากับว่า แล้วคุณทำอะไรต่อไป และสิ่งที่คุณทำนั้นเป็นประโยชน์ไหม
--- อย่างไรก็ตาม นามปากกานี้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์เสียมากกว่า ที่ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง สามารถพิสูจน์ได้ว่า แม้มีความจำกัด (ลูกสาม 55) แต่ก็ยังคว้าความสำเร็จมาได้ แถมยังเป็นด๊อกเตอร์สายเยอรมันด้วยนะ มันย่อมไม่ธรรมดาแน่ๆ อิอิอิ (โอ๊ยย นึกแล้วปาดเหงื่อค่ะ ลุ้นทุกขั้นตอน ลุ้นตลอดเวลา)

ทีนี้เคล็ดลับความสำเร็จของเราในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนด๊อกเตอร์ลูกสามนั้น บอกตรงๆ เลย คือ เรื่องของการบริหารเวลา ล้วนๆ ค่ะ กล่าวคือ

1. การบริหารเวลาที่ดี ต้องมีการวางแผนงาน
และการวางแผนงานที่ดี คือ ต้องมีเป้าหมายชัด ว่าจะทำอะไร

คนที่เคยทำงานวิจัย หรือกำลังทำงานวิจัย ในระดับปริญญาเอก อยู่นั้น คงจะต้องทราบดีว่า มันจะมีช่วงแห่งการเลื่อนลอย และถามตัวเองว่า "เรากำลังทำอะไรอยู่ หรือ จะไปต่อดีไหม?"

สามีเราแบ่งปันให้ฟังเชิงสถิติว่า 2/3 ของคนที่เรียนปริญญาเอก ในประเทศเยอรมนี จะเลิกรากลางคัน (ขอโทษที่ไม่ได้ใส่แหล่งข้อมูล ทั้งนี้เป็นข้อมูลแบบบอกเล่าปากต่อปากจากข่าวในสังคมคนเยอรมันค่า) ดีใจที่รอดจากการเป็นคนส่วนใหญ่ในจำนวนคนที่ทำ PhD. ค่ะ !!!

เราก็เคยรู้สึกหวั่นไหวบ้าง และมากขึ้นๆ ทุกที ตามจำนวนลูกๆ ที่มี 55 แต่ไม่เคยคิดสักครั้งนะคะ ว่าจะเลิกรา คือ คิดไม่ลงจริงๆ เนื่องจากเป็นคนที่ไม่เคยคิดจะทิ้งอะไรกลางคันง่ายๆ อยู่แล้วค่ะ

ทีนี้เวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ แบบมีโครงร่างงานวิจัยแล้ว แต่การอ่านหนังสือ ค้นคว้าเพิ่มเติมนี่ย ต้องยอมรับจริงๆ เลยนะคะว่า คนที่เป็นแม่คนนั้น หาเวลาสงบยากมากจริงๆ ที่จะนั่งเขียนงานวิจัย (จริงๆ ที่จะหาเวลาเข้าห้องน้ำโดยลูกไม่ตามหา หรือมาแง้มประตูหัองน้ำ ก็ยากกกมากกแล้วค่ะ !) โดยเฉพาะในเวลานั้น ที่อันนาและเลาร่ายังคงเล็กมากอยู่ คือประมาณ สามขวบและหนึ่งขวบ แถมยังมีโซเฟียที่กำลังเติบโตมากขึ้นทุกวันในท้องอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างคงต้องมีเวลาแห่งการตัดเชือก และวันนั้นก็มาถึง ที่เรานั่งถามตัวเองว่า "เฮ้ นุช ถ้ายูมัวแต่นั่งเครียดทุกวันเรื่องการทำงานวิจัย และถามตัวเองว่า เมื่อไรจะจบ แต่ไม่เคยลงมือทำให้เป็นรูปเป็นร่างสักที ยูก็จะไม่มีทางจบ และยูจะเสียใจนะ!"

พอคิดได้แบบนี้แล้ว เราก็ลุกขึ้นนั่งที่โต๊ะทำงานทันทีเลยค่ะ เพื่อ เขียน คิด วางแผน ความเป็นไปได้ทั้งหมด ในการพิชิตวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกให้ทันเวลา ที่ในช่วงนั้น เรามีเวลาเหลือเพียงแค่อีกสองเทอมการศึกษาเท่านั้น จากโควต้าเทอมการศึกษาที่มีทั้งหมดค่ะ (เราไม่เคยขอหยุดพักร้อนเลยนะคะ)

แผนการเรื่องการบริหารเวลาของเรา มีดังนี้

1.1 แบ่งเวลาให้เป็นหมวดหมู่และมีจุดโฟกัส ที่ชัดเจน

จำไว้เสมอว่า เราจะทำอะไรไม่สำเร็จเลย หากการวางแผนเวลาของเรานั้นขนาดความชัดเจนของโฟกัส

กล่าวคือ วิธีการนี้ ต้องอาศัย การจัดลำดับความสำคัญ และหมวดหมู่ของงาน ค่ะ


ในช่วงเวลานั้น แน่นอนว่า หมวดหมู่และลำดับความสำคัญ ของงานที่เราต้องรับผิดชอบนั้น มีอยู่สามประการด้วยกัน คือ (1) การเขียนงานวิจัย (2) การดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการลูกๆ (3) งานบ้าน งานทำกับข้าว ต่างๆ

1.2 จับหมวดหมู่ ตามลำดับความสำคัญ ลงไปในช่องของตารางเวลาค่ะ

เช่น  เอาแบบคร่าวๆ นะคะ เพราะเอาเข้าจริง งานราษฎร์ งานหลวง งานแทรกอีกเยอะค่ะ)

- ในช่วงเช้า ประมาณ 8.00 นาฬิกา หลังจากส่งลูกๆ ไปโรงเรียนอนุบาลและเนิร์สเซอรี่แล้ว เราก็เดินอุ้ยอ้ายเหมือนนกเพนกวิน เพราะกำลังตั้งท้องน้องโซเฟียอยู่นะคะ กลับบ้านทันที แบบตรงเวลาทุกวัน นั่นแสดงว่า เราต้องตื่นเช้ามากเช่นกันในการเตรียมอาหารเช้า เตรียมอาหารกล่องแบบทานเล่นให้เด็กๆ เตรียมกาแฟและขนมปังให้สามี เพื่อไปทำงานค่ะ

- ตั้งแต่ 8.30 - 13.45 นาฬิกา ของทุกวัน เรานั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานเพื่อเขียนและค้นคว้างานวิจัยค่ะ บางวันเขียนงานได้แค่ย่อหน้าเดียวเอง หรือบางทีไม่ได้เลยก็มี เพราะคิดไม่ออก ข้อมูลไม่มี เฮ้อออ แต่ไม่หยุดค่ะ ทำต่อ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราต้องเขียนงานให้ได้หนึ่งบทต่อหนึ่งเดือนให้ได้ (ทั้งหมดมีประมาณ 7 บทค่า)

- 13.45 นาฬิกา เราก็พาร่างเสมือนนกเพนกวินอีกครั้ง เดินโยกย้ายไปมาแบบยังคงเบลอๆ เมาๆ งานวิชาการอยู่นะคะ เพื่อไปรับสองสาว อันนาและเลาร่า จากโรงเรียนค่ะ โดยโฟกัสของเราในช่วงบ่ายนี้ เราทุ่มเททั้งหมดเพื่อลูกค่ะ คือ ใช้เวลาเต็มที่กับพวกเขา อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ทำงานฝีมือ พาไปโรงเรียนดนตรี สารพัด คือ ตั้งใจว่าจะไม่ยอมให้ความจำกัด หรือ ความเครียด ความเหนื่อย ของตัวเอง มาทำลายพัฒนาการที่ดีของลูกๆ คือ ถ้าเราอยากสำเร็จ ลูกก็ต้องดีและสำเร็จด้วยค่ะ

และดีใจมากที่ผลของการลงทุนลงแรงอย่างไม่หยุดกลางคันในวันนั้น ทำให้เห็นผลดีและพัฒนาการของลูกๆ รวมถึงความสำเร็จของพวกเขาค่ะ เช่น ในเวลานี้ที่อันนาอายุ 6 ขวบแล้ว อันนากลายเป็นศิลปินตัวน้อยฝีมือฉกาจที่คว้ารางวัลที่หนึ่งแบบคะแนนเต็มจากการแข่งขันดนตรีในระดับภูมิภาค ของประเทศเยอรมนีได้อย่างเต็มภาคภูมิ และเลาร่า (4ขวบ) ที่มีฝีมือและพัฒนาการที่ดีในการเล่นไวโอลินเหมือนพี่อันนาเช่นกัน นอกจากนี้ยังวาดรูปเก่งมากอีกด้วย ขอชมลูกหน่อยนะค้า ภูมิใจมากค่า อิอิอิ

- ตกค่ำหน่อย หรือ บ่ายแก่ๆ เราก็ลงมือทำกับข้าวค่ะ ในเวลานี้ก็ให้อันนาและเลาร่ามาช่วยเป็นลูกมือ หรือให้เขาเล่นอะไรไปภายใต้สายตาที่มองพวกเขาอยู่ ถ้ามีเวลาเหลือก็จะจัดการพับผ้า รีดผ้า จัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน (เรื่องซักผ้าพยายามซักตอนเช้าก่อนที่จะนั่งเขียนงาน ประมาณสองครั้งต่อสัปดาห์)

- เวลากลางคืน จะจัดให้เป็นเวลาที่ได้นอนจริงๆ ค่ะ ซึ่งงานนี้ไม่ต้องควบคุมอะไรมาก เพราะพอเอาลูกๆ เข้านอนแล้ว พลังแบเตอรี่ชีวิตก็อ่อนแรงจนถึงขีดสุดแล้วค่ะ จะมีบ้างบางวันที่ยังรู้สึกฟิตอยู่ก็จะนั่งอ่านหนังสือ โดยเฉพาะที่เป็นภาษาเยอรมัน จะได้ถามสามีได้ เวลาเจอประโยคซูเปอร์ซับซ้อนของไวยากรณ์ฉบับวิชาการเยอรมัน

วันเสาร์ ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสามโมง สามีของเราอาสาดูแลลูกๆ ให้ค่ะ เพื่อให้เราได้อ่านหนังสือและเขียนงานวิจัย โดยหลังจากบ่ายสามลงไปถึงวันอาทิตย์เต็มวัน เราจัดให้เป็นวันพักผ่อนและใช้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่ค่ะ คือ งานนี้ที่เราประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องยกนิ้วโป้งให้สามีที่รักด้วย ที่สนับสนุนทุกเรื่อง แม้ว่าเขาก็ต้องทำงานหนักเพื่อดูแลครอบครัวเช่นกัน ยิ้ม

2. ทำอย่างนี้เรื่อยไป ทุกวันๆ โดยพยายามให้อยู่ในแผนการณ์ที่วางไว้เป็นหลักค่ะ (keep calm and keep doing)

คือ อย่างที่บอกไปว่า เราตั้งเป้าเขียนงานวิจัย หนึ่งบทต่อหนึ่งเดือน แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่ง่ายค่ะ เพราะงานวิจัยนั้นมีปัจจัยหลายอย่างให้เกิดความคลาดเคลื่อน เราก็พยายามคุมให้มากที่สุด อันไหนที่ไม่ได้ดั่งใจก็ไม่ท้อใจง่ายๆ ค่ะ ทำต่อ และรักษาวินัยสุดๆ กับแผนการณ์ที่วางไว้

เดี๋ยวกลับมาเล่าต่อในตอนที่ 2 หลังจากที่เป็นมนุษย์แม่ ดร. ลูกสาม แล้วนะคะ ว่าจัดการเวลาอย่างไรกับการดูแลลูกเล็กๆ สามคน  ;)

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่