ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก ในประเทศเยอรมนี

สวัสดีค่ะ
เพิ่งจบปริญญาเอกในปี 2015
จากมหาวิทยาลัยสตุ๊ทการ์ทค่ะ
ระหว่างที่ทำด๊อกเตอร์นั้น ได้แต่งงานและวางแผนมีลูกสามคนไปพร้อมกัน และเราไม่เคยขอลาหยุดพักสักเทอมการศึกษาเลย

แน่นอนว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเรียนและทำงานวิจัยในประเทศเยอรมนี เพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้คงทราบกันดีถึงความเข้มข้นของมันนะคะ

อยากแบ่งปันประสบการณ์เรื่องนี้ เพื่อให้กำลังใจแก่เพื่อนๆ ทุกคนว่า ทุกสิ่งเป็นไปได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อค่ะ

เพื่อนๆ ตามอ่านฉบับเต็มได้ที่พันทิป (มีสามตอน) ในกระทู้ของ Once upon a time
หรือ ในลิงค์จากโพสต์ของเฟสบุ๊ค ... "บันทึกของมนุษย์แม่ ดร. ลูกสาม"  - A diary of a Dr. mom of three Girls -
ด้านล่างได้นะคะ ขอบคุณค่ะ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1383644261675314&substory_index=0&id=1328618513844556

งั้นมาเข้าเรื่องกันเลย!


หลังจากที่ผ่านขั้นตอนการสอบเข้าเรียนปริญญาเอกอันแสนโหด ไม่ว่าจะเป็น การสอบปากเปล่าสองวิชา วิชาละครึ่งชั่วโมง และการเขียนงานวิจัยระดับ Diplom อีก 60 หน้า โดยทั้งหมดทำเป็นภาษาอังกฤษ และใช้เวลาเกือบหกเดือนเพื่อให้ได้รับตำแหน่งและการเริ่มต้นเพียง นักเรียนด๊อกเตอร์ นั่นก็แสดงว่า หนทางสายนี้นั้นคงอีกยาวไกล และไม่ได้วางแผนมาก่อนว่ามันจะจบลงที่เมื่อเรามีลูกสาม พอมองย้อนอดีตกลับไปก็อดภูมิใจไม่ได้ที่ตัวเองผ่านความกดดัน ความยากลำบากเหล่านั้น และพิชิตความสำเร็จมาได้


ทีนี้มาเล่าถึงช่วงที่เรียนปริญญาเอกกันดีกว่า ยิ้ม

จุดเด่นของการเรียนด๊อกเตอร์ที่นี่ คือ การศึกษาด้วยตัวเองค่ะ และไม่ใช่เพียงในระดับปริญญาเอกเท่านั้น นักศึกษาในระดับอื่นๆ ก็จะออกแนวนี้ เช่นกัน เพียงแต่ต่างกันแค่ นักศึกษาปริญญาเอกอย่างเราไม่มีชั้นเรียนเลย คือ ต้องค้นคว้า คิด วิเคราะห์ด้วยตัวเองทั้งสิ้น โดยเราได้พบศาสตราจารย์ที่ปรึกษาประมาณหนึ่งครั้งต่อเทอมการศึกษาเท่านั้น และบางเทอมที่เพิ่งคลอดลูก พักฟื้น มีลูกอ่อนนั้น เราก็จะไม่ได้เจอท่านอีกยาวเลย

อย่างไรก็ดี สำหรับบรรยากาศในชั้นสัมมนานั้น จะเป็นในลักษณะการแบ่งปัน ถกเถียง วิเคราะห์กันในเชิงวิชาการเสียมากกว่าการนั่งฟังอาจารย์สอน บางคนเถียงกับอาจารย์หน้าดำหน้าแดงก็มี โดยพวกเขาไม่คิดว่าคนที่มาสอนต้องถูกต้องตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีประสบการณ์ คือ บางคนเถียงอย่างเดียว เพื่อให้ตัวเองชนะ หรือ ไม่ค่อยจะพูดคำว่า "ไม่รู้" กันเท่าไหร่ เพราะพวกเขาคิดว่า หากพูดคำว่าไม่รู้ต่อคำถามที่ได้รับ นั้นเท่ากับ "โง่" ประมาณนี้ เรื่องนี้เพื่อนด๊อกเตอร์ด้านสถาปัตยกรรมชาวเกาหลีมาบ่นให้เราฟังอยู่เรื่อยๆ เพราะสำหรับเขาแล้ว จากวัฒนธรรมเกาหลี ถ้าไม่รู้ ก็ให้บอกว่าไม่รู้ จะได้เรียนรู้  ไม่ใช่เถียงแบบข้างๆ คูๆ สำหรับเราถ้าไม่รู้ คือ จะเงียบไว้ก่อน แต่ถ้าต้องตอบ เราก็จะบอกก่อนว่า เราไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก แต่จะวิเคราะห์ตามความเห็นส่วนตัวนะคะ เป็นอันว่า เราก็รอดในหลายครั้งไป อิอิอิ


นอกจากนี้ ในห้องสัมมนา เราก็จะตอบคำถามบ้าง เพราะเป็นคนกล้าเสนอความคิดเห็นอยู่แล้ว แต่ด้วยว่าในชั้นสัมมนานี้ใช้ภาษาเยอรมันแบบวิชาการที่เป็นคนละเรื่องกับภาษาเยอรมันแบบสนทนาโดยทั่วไป กระบวนการแปลข้อความในสมองของเรานั้นก็เป็นอันว่า ต้องทำงานหนักในช่วงแรกค่า มีผลให้กว่าจะแปลความในสมอง คิด วิเคราะห์หาคำตอบ ก็ใช้เวลาเหมือนกัน พอกลับถึงบ้านก็เป็นอันต้องสลบสไลกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าหนาว


นอกจากนี้ เนื่องจากระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยของประเทศเยอรมนีนั้นให้อิสระแก่นักศึกษาอย่างมาก ในการวางแผนการเรียนด้วยตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่นักศึกษาของที่นี่ต้องดำเนินการเองคือ การลงทะเบียนสอบด้วยตัวเอง นี่ไม่ใช่เพียงในระดับด๊อกเตอร์เท่านั้นที่จะต้องแจ้งกับฝ่ายบริหารด้วยตัวเองเพื่อจะเข้าสู่การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ แต่นักศึกษาในระดับตรีและโท หรืออื่นๆ ก็ต้องจัดการเรื่องนี้สำหรับการสอบในแต่ละวิชาและแต่ละเทอมการศึกษาด้วยตัวเอง

จำได้ว่า ในช่วงกลางปี 2014 เราก็เริ่มดำเนินการขอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์แล้วค่ะ อุปสรรค คือ ท้องที่โตขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเจ้าหนูโซเฟียอยู่ในนั้นและต้องเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยสตุ๊ทการ์ทโดยรถไฟด้วยตัวเอง แถมองค์กรที่จัดการเรื่องการสอบนั้น ดันอยู่คนละที่กับตัวมหาวิทยาลัยอีกต่างหาก ทำให้เราต้องแบกร่างอันอุ้ยอ้ายเคลื่อนที่อย่างลำบากไปมาอยู่หลายที่ ถึงกระนั้น ก็ต้องรอการตรวจเช็คเอกสารอยู่ประมาณสองอาทิตย์ทีเดียว ใจเราก็เต้นตุ๊บตับว่าจะทำอะไรผิดพลาดบ้างไหม จะได้สอบจบปริญญาเอกสักที

สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในช่วงที่เป็นนักศึกษาด๊อกเตอร์อยู่นั้น คือ การได้ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด เพราะเป็นคนรักการอ่านหนังสือ และรักกลิ่นอายของหนังสือ รวมถึงบรรยากาศที่สว่างไสว และตัวตึกขนาดใหญ่ที่ทำจากกระจกของห้องสมุดที่นั่น ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเปิดตลอดทั้งคืนของทุกวันค่ะ ไม่ทราบว่า ตอนนี้เปลี่ยนแปลงเวลาไปบ้างหรือยัง และนักศึกษาสามารถยืมหนังสือจำนวนเท่าไรก็ได้ โดยต้องคืนภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน รวมถึงมีระบบการยืมข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามเมืองได้ด้วย ด้วยกฏแบบนี้ ก็ทำให้เรามีความสุขและปลาบปลื้มในการทำวิจัยมากจริงๆ ค่ะ


สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจสำหรับประสบการณ์การเรียนในประเทศเยอรมนีอีกประการนั้น คือ ไม่ว่าคนจะอายุมากเท่าไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญค่ะ คือ บางคนที่นี่เขาเลือกทำงานก่อน และเพิ่งมาลงทะเบียนเรียนภายหลัง เป็นต้น และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งเช่นกันที่ืทำไมนักศึกษาที่นี่ต้องดูแลและจัดการเรื่องการเรียนการสอบของตัวเองทุกอย่าง รวมถึง การที่พวกเขาไม่มีระบบการรับปริญญาประจำปีเหมือนบ้านเรา ทั้งนี้เพราะระบบการเรียนนั้นให้อิสระแก่นักศึกษาในการวางแผนจบการศึกษาเอง จะจบเมื่อไร ในปีไหน อยู่ในมือของคุณนะคะ อย่างวันที่เราได้รับเชิญจากคณะและภาควิชาเพื่อร่วมในงานฉลองจบด๊อกเตอร์นั้น เราก็พบคนมากมายทั้งที่รู้จักไม่รู้จัก รวมถึงมีหลายคนเหมือนกันที่อายุมากแล้ว คนเหล่านี้ ต่างจบการศึกษาในวาระและเวลาที่ต่างกัน แต่ทางฝ่ายบริหารใช้วิธีรวบรวมคนจบในหลายๆ ปีที่ใกล้เคียงกันมารวมไว้ด้วยกันเพื่อทำการฉลองในครั้งหนึ่งๆ

ข้อคิดและพลังชีวิต ที่ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นจากประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกในประเทศเยอรมนี คือ การได้พิสูจน์ความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง เพราะอย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า การเรียนที่นี่นั้นเราไม่มีชั้นเรียน ต้องคิด วิเคราะห์ ออกแบบงานวิจัยด้วยตัวเอง รวมถึงงานด้านบริหารเวลากับตัวเอง และทางมหาวิทยาลัยด้วย โดยเฉพาะในขณะที่มีลูกๆ ตั้งสาม ซึ่งเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งในชีวิตจริงๆ รวมถึง ความเป็นอิสระและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของที่นี่เป็นจุดแข็งของการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ คนที่เป็นอาจารย์ หรือ อายุมากกว่า ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอ ความถูกต้องอยู่ที่เหตุผล หลักการ และความคิดเสียมากกว่า รวมถึง แม้ว่า การท่องจำ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ แต่ที่น่าสนใจมากของที่นี่คือ ข้อสอบส่วนใหญ่จะวัดผลที่การวิเคราะห์ และการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติที่เกิดจากความเข้าใจอย่างแท้จริงต่างหาก และด้วยระบบการศึกษาในลักษณะนี้ก็ได้ทำให้ประเทศเยอรมนี คือ หนึ่งในประเทศแนวหน้าของโลก

ดีใจจริงๆ ที่ตัดสินใจไม่ผิดในการมาเรียนปริญญาเอกที่นี่ ที่แม้แต่เพื่อนสนิท ยังบอกเราในวันแรกที่รู้ว่า เราจะมาเรียนด๊อกเตอร์ในประเทศเยอรมนีว่า "ทำไมเธอเลือกที่นี่ มันยากมากนะ" เลย แต่ที่ไหนได้ เรากลับได้กำไรชีวิตมากมาย จากการเรียนรู้ ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ การถูกฝึกให้มีลักษณะชีวิตที่ดีและ เข้มแข็ง อย่างแท้จริง ยิ้ม

-------------------------------
ปล.1
คำถาม ที่มีเข้ามามากที่สุด ภายหลังจากการเขียนบทความเล่าประสบการณ์ การเรียนปริญญาเอก พร้อมเลี้ยงลูกสามคนไปด้วย คือ ...

ตกลงเราเรียนด๊อกเตอร์แบบอินเตอร์
หรือ ภาคปกติภาษาเยอรมัน กันแน่?

คำตอบ มีดังนี้ค่ะ ...
--- ภาควิชาที่เราเรียนในระดับปริญญาเอกนั้น ไม่มีภาคอินเตอร์ หรือถาษาอังกฤษ
--- นั่นหมายความว่า การเรียนการสอนนั้นถูกดำเนินการเป็นภาษาเยอรมันทั้งสิ้นค่ะ

--- เนื่องจากการเรียนปริญญาเอกที่นี่ ถูกออกแบบแบบไม่มีชั้นเรียน ดังนั้น เราก็จะเข้าร่วมเพียงสัมมนาที่ถูกจัดให้มีเพียงหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งสัมมนาดังกล่าวนั้นก็ยังคงดำเนินการต่างๆ เป็นภาษาเยอรมันทั้งสิ้นเช่นเดียวกัน

--- สำหรับการเขียนวิทยานิพนธ์นั้น ตามกฏของการเรียนปริญญาเอก เราสามารถเลือกภาษาระหว่างเยอรมันและอังกฤษในการเขียนงานของเราได้ ( ในฐานะนักเรียนต่างชาติ) แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาสตราจารย์ที่ปรึกษาและภาควิชาค่ะ

โดยในกรณีของเรา ด้วยว่า หัวข้อที่เขียนนั้นเกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง ดังนั้น ศาสตราจารย์ที่ปรึกษาและภาควิชาของเรา จึงอนุมัติให้เราสามารถเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษได้ค่า

ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ถามไถ่กันมาเกี่ยวกับคำถามข้อนี้นะคะ เพราะว่า เมื่อยิ่งนึกถึงช่วงเวลาที่เรียนปริญญาเอกคราใด ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกเห็นคุณค่าของเวลาที่ผ่านมา ที่ต้องใช้ทั้ง ความฝึกฝน อุตสาหะ มุ่งมั่น และอดทน อย่างมากจริงๆ จนกว่าจะเห็นความสำเร็จของวันนี้ิ รวมทั้งยังได้รู้ว่า สิ่งที่มีค่า มักจะไม่ได้มาอย่างง่ายๆ เสมอค่ะ  ;)

---------------------------------------
ปล.2

อีกหนึ่งคำถาม จากเพื่อนๆ ค่ะ:

และเพื่อนๆ อาจจะสงสัยต่อไปว่า เอ๊ะ แล้วเข้าใจภาษาเยอรมันในชั้นสัมมนาในช่วงแรกๆ ที่เรียน ได้อย่างไร? //

คำตอบก็คือ จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรในสัมมนาในช่วงแรกมากนักนะคะ 555 แต่อาศัยใจสู้และกล้าค่ะ คือ ไม่เข้าใจก็นั่งหน้าตรงเอาไว้ก่อน และพยายามอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสัมมนาในแต่ละสัปดาห์มาล่วงหน้า เพื่อเมื่อศาสตราจารย์ หรือเพื่อนๆ ร่วมสัมมนาพูดหรือถกเถียงอะไรกัน เราจะได้เดาทัน อิอิอิ

นอกจากนี้ เรายังไปสมัครเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติม รวมถึง ฉวยโอกาสเรียนรู้รอบตัวแบบไม่ยอมแพ้อีกด้วยค่ะ ก็เลยรอดปลอดภัย และผ่านมาด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น ในเรื่องของภาษาก็เล่นเราให้เหนื่อยเอาการทีเดียวค่ะ คือ กว่าเราจะเข้าใจในแต่ละประโยคของแต่ละทฤษฎีที่เขียนในภาษาเยอรมันนี่ ก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์เหมือนกันนะคะ  ยิ้ม

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่