การตีความพระไตรปิฎก

ผมมีความสงสัยประการหนึ่งที่อยากจะถามความคิดเห็นทุกท่าน เกี่ยวกับเรื่องการตีความพระไตรปิฎกครับ
อยากทราบว่า ท่านคิดเห็นอย่างไรกับการเชื่อถือข้อมูลในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาทของไทย
ผมเห็นหลายๆคนกล่าวว่า พุทธเถรวาทต้องเชื่อถือตามพระไตรปิฎก ไม่บิดเบือนไป จึงมีคำถามต่อมาว่า คำว่า "บิดเบือน" คืออะไร และคำว่า "เชื่อตาม"คืออะไรครับ
เท่าที่ผมอ่านหนังสือมา ส่วนใหญ่พุทธเถรวาทเราชอบ "ตีความ" เนื้อหาจากพระไตรปิฎก การตีความนี้ถือว่าเป็นการบิดเบือนหรือไม่
ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นนะครับ เช่น บางคนอ่านพุทธประวัติว่าพระพุทธองค์ประสูตรและเดิน 7 ก้าวนั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง แล้วตีความไปต่างๆนานา หรือที่เห็นได้ชัดคือลักษณะมหาบุรุษ และอนุพยัญชนะ 80 ประการของพระพุทธองค์ อันนี้แม้แต่พระที่เป็นครูบาอาจารย์หลายรูปก็สอนว่า เป็นสัญลักษณ์อุปมาบารมีของพระองค์ ไม่น่าใช่เรื่องจริง
เช่นนี้เองที่ทำให้ผมกลับมานั่งสงสัยว่า ตกลงแล้วเราควรจะเชื่อตามพระไตรปิฎกเพราะเราเป็นพุทธเถรวาทแท้ๆ หรือเราควรอาศัยการตีความตามพระอรรถกถาจารย์บ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง หรือนักวิชาการบ้าง
ฝ่ายที่เชื่อตามนั้น ก็จะถูกติติงได้ว่า โง่ ไม่พิจารณาตามหลักกาลามสูตร งมงาย
ฝ่ายที่เอามาตีความนั้นก็จะถูกติงว่า คุณนั่นแหละที่เหลาะแหละ ไม่มั่นคงในพระไตรปิฎก
หรือเราควรเชื่อบางเรื่อง เอามาตีความบางเรื่อง?
ถ้าเช่นนั้น มันก็เท่ากับว่า เราเลือกเชื่อเรื่องที่อยากจะเชื่อ และไม่เชื่อเรื่องที่เกินวิสัยเราจะเชื่อ แล้วมาตีความเอาเองตามครูบาอาจารย์บ้าง ตามความเข้าใจตนเองบ้าง
แล้วเช่นนี้ มันจะเอาอะไรมาเป็นหลักเกณฑ์ครับ เพราะต่างคนต่างความคิด ต่างประสบการณ์ย่อมมีความเชื่อและความเห็นที่ต่างกันไป

จริงๆแล้วผมกำลังโยงเข้าสู่ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย
วันก่อนอ่านข่าว Tnews เรื่องการปั้นพระพุทธรูป ที่สำนักข่าวนี้กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปปางตุ๊ด เพราะไม่ใช่สิ่งที่ไทยเคยมีมาก่อน
แต่พอไปอ่านในพระไตรปิฎกและตรวจดูในพจนานุกรมของท่าน ป.อ.ปยุตโต ผมกลับมองว่า พระพุทธรูปของไทยนี่แทบจะไม่เหมือนตัวพระองค์จริงๆเลย เกือบจะไม่มีลักษณะมหาบุรุษอยู่เลย ไม่ต้องพูดถึงอนุพยัญชนะอีก 80 ประการ
ผมเลยได้หาข้อมูลเพิ่ม แล้วพบว่า มีการถกเถียง มีการตีความเรื่องนี้อยู่เยอะมาก ส่วนใหญ่เพราะไม่เชื่อในพระไตรปิฎกเพราะคิดว่าลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้นทำให้ดูเป็นคนประหลาด ไม่น่าชม แต่วัดพระธรรมกายกับจำลองออกมาได้ใกล้เคียงกับลักษณะมหาบุรุษของจริง (แม้จะไม่ครบ 100% ก็ตาม)

นี่แหละครับ มันจึงเป็นที่มาของคำถามว่า เมื่อเราอ่านพระไตรปิฎกแล้วเราควรตีความหรือควรเชื่อตามนั้น ถ้าเชื่อเลย(บางคนคิดว่า)บางอย่างก็เกินวิสัยที่จะเชื่อ แต่ถ้าไม่เชื่อแล้วตีความ อย่างนี้ไม่เท่ากับว่า เราไม่เชื่อมั่นในพุทธพจน์หรือ หรือถ้าตรงไหนน่าเชื่อก็เชื่อตรงไหนไม่น่าเชื่อก็มาตีความ อย่างนี้รู้ได้อย่างไรว่าอันไหนควรตีความอันไหนไม่ควร การตีความคำสอนนี้เท่ากับว่า เราไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นจริงอย่างนั้น เลยคิดว่าท่านน่าจะหมายถึงอย่างนี้ ใช่หรือไม่?

เอาละครับ ไว้ถามใหม่ วันนี้เอาแค่นี้ก่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่