***** ลำดับปัญหา กรณีธรรมกาย โดยนายสมพร เทพสิทธา ***** สำหรับผู้สนใจเรื่องวัดธรรมกาย



วัดพระธรรมกาย เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ที่มีกำลังคนและกำลังทรัพย์มาก ตลอดจนมีการบริหารและการจัดการที่เข้มแข็ง ถ้าทำงานสร้างสรรค์ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เมื่อก่อปัญหาขึ้น ก็มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชนในวงกว้างเป็นอย่างมาก
ปัญหาวัดพระธรรมกายเริ่มปรากฏชัดตั้งแต่เมื่อประมาณ ๑๒ ปีที่ผ่านมา โดย ศ.นพ. ประเวศ วะสี ได้เขียน เตือนไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐๑ และต่อมาหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวเรื่องที่ดินกับชาวบ้านรอบวัดในปี ๒๕๓๑ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้กล่าวถึงปัญหาความผิดเพี้ยนของวัดพระธรรมกายไว้อย่างชัดเจน๒ ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญหาวัดพระธรรมกายมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ได้เริ่มต้นสะสมมาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปีแล้ว
เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ชาวพุทธทั้งหลายและองค์กรต่าง ๆ เฝ้าจับตามองด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เพราะแต่ละคนแต่ละองค์กรมีกำลังน้อยและแยกกระจัดกระจายกันอยู่ จึงมีกำลังไม่พอที่จะยับยั้งและแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายได้ ทั้ง ๆ ที่ทราบว่า การกระทำของวัดพระธรรมกายกำลังก่อปัญหาให้เกิดขึ้นแก่สังคม ประชาชน และพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีกำลังเข้มแข็ง เติบโตขึ้นทุกวัน

จนกระทั่ง ต้นเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๔๑ สยามธุรกิจ๓ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่เริ่มตีพิมพ์ปัญหาวัดพระธรรมกาย ต่อมาหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับก็ได้เริ่มตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวตามมา และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ปัญหาการใช้ปาฏิหาริย์หลอกลวงประชาชน๔ ปัญหาการเรี่ยไรเงินนอกแบบ๕ ปัญหาการนำวิธีจัดการแบบขายตรงมาดูดเงินของผู้บริจาค๕ ปัญหาการทำบุญให้เป็นสินค้า๖ และประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย สื่อมวลชนได้ตีแผ่ออกมาให้ประชาชนทราบ ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้ได้เป็นแรงกระตุ้นให้ชาวพุทธ เห็นภัยของพระพุทธศาสนาจากปัญหาวัดพระธรรมกาย ที่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างร้ายแรง ทำให้ชาวพุทธ ทั้งสงฆ์และฆราวาส เริ่มตระหนักว่าจะอยู่นิ่งเฉยอีกต่อไปไม่ได้ เพราะภัยที่เกิดขึ้นนั้น เสมือนไฟที่กำลังไหม้บ้าน
เนื่องจากชาวพุทธยังกระจัดกระจายกันอยู่และมีกำลังน้อย จึงจำเป็นต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่กำลังขยายตัว พระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทะ) วัดชลประทานรังสฤษดิ์๗ พระพิศาลธรรมพาที (พระอาจารย์พยอม กลฺยาโณ) วัดสวนแก้ว๘ ศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต๙ และบุคคลสำคัญอีกหลายท่านต่างออกมา กล่าวถึงปัญหาวัดพระธรรมกาย ให้สังคมได้ตื่นขึ้นและมองเห็นภัย
ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคมปี ๒๕๔๑ และเดือนมกราคม ๒๕๔๒ วัดพระธรรมกายได้พิมพ์หนังสือชื่อ “เจาะลึกวัดพระธรรมกาย”๑๐ ออกเผยแพร่ และ พระสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ผู้อำนวยการสำนักเผยแผ่ธรรมะวัดพระธรรมกาย ได้เผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง “นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา” ทั้งทางหนังสือพิมพ์และหนังสือเล่มออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นได้เขียนบิดเบือนหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “นิพพานเป็นอัตตา” และชี้นำให้คนเห็นว่าพระไตรปิฎกผิดเพี้ยน ไม่น่าเชื่อถือ เป็นเหตุให้ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เขียนบทความเรื่อง “กรณีธรรมกาย” ขึ้น เพื่อชี้แจงประเด็นที่ว่า “นิพพานเป็นอนัตตา”๑๑ และให้ชาวพุทธเกิดความมั่นใจในพระไตรปิฎก



เมื่อเดือนมีนาคม นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.กระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่งในขณะนั้น) กำหนดให้พระไชยบูลย์ โอนที่ดินซึ่งมีชื่อตนเองเป็นเจ้าของโฉนดให้แก่วัดพระธรรมกาย ภายใน ๓๐ วัน๑๒ แต่เมื่อครบกำหนดก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม ภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลา ๓๐ วันดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๒ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงมีพระวินิจฉัยว่า พระไชยบูลย์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ แต่พระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้รับการตอบสนองในทางปฏิบัติจากมหาเถรสมาคม ขณะเดียวกันกลับมีมติให้ดำเนินคดีไปตามกฎนิคหกรรรม ซึ่งทำให้เรื่องยืดเยื้อออกไป ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไข นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงมีพระวินิจฉัยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๖ เดือนเศษแล้ว ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้

เมื่อมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ประชาชนขาดหลักที่พึ่ง ทั้งด้านพระธรรมวินัยและด้านการจัดการแก้ปัญหา จึงต้องหันไปพึ่งทางอาณาจักร คือ รัฐบาล แต่ปรากฏว่ารัฐบาลก็หาได้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนลงไปไม่ ประชาชนจึงตกอยู่ภายใต้ภาวะที่สับสน หาทางออกไม่ได้ ว้าเหว่ ขาดที่พึ่งพิง ไม่มีองค์กรใดในบ้านเมืองที่จะปกป้องพระศาสนา จึงจำเป็นที่ชาวพุทธที่กระจัดกระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ต้องมารวมตัวกันให้เกิดความเข้มแข็ง และหาทางร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา
เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้ชาวพุทธสามัคคีรวมกำลังกันยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับชาวบ้านบางระจัน ที่รวมตัวกันขึ้น เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า เมื่อครั้งก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อเห็นช่องทางใดที่จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องหันไปพึ่งทางนั้น เช่น เมื่อพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) เป็นพระองค์หนึ่งที่กล่าวถึงพระธรรมวินัย โดยยึดหลักพระไตรปิฎกเป็นที่ตั้ง พูดถึงหลักพระศาสนา โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาตัวบุคคล และช่วยให้เกิดความกระจ่างชัดเจน ชาวพุทธทั้งหลายจึงเห็นว่าเป็นที่พึ่งได้ในด้านพระธรรมวินัย และเมื่อ พล.ต.ท. วาสนา เพิ่มลาภ ตั้งใจทำงานหาหลักฐานเกี่ยวกับ การฉ้อโกงประชาชนของพระไชยบูลย์ และมีการแจ้งจับ ตลอดจนฟ้องร้องเป็นคดีอย่างเป็นรูปธรรม ชาวพุทธจึงเห็นว่า พล.ต.ท. วาสนา เป็นที่พึ่งได้ทางฝ่ายบ้านเมือง เป็นต้น

ภายใต้ปัญหาที่พระไชยบูลย์และพวกก่อขึ้นในนามของวัดพระธรรมกายนี้ เมื่อมีนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และ พระสงฆ์ หลายฝ่าย ตลอดถึงสมเด็จพระสังฆราช ได้ออกมาชี้แจงความจริงและปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางแก้ไข วัดพระธรรมกายแทนที่จะแก้ไขปรับปรุงแนวทางของวัดเสียใหม่ แต่กลับใช้สื่อที่สนับสนุนตน คือ หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย สร้างสถานการณ์ และบิดเบือนประเด็นให้เบนออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริง เพื่อให้ชาวพุทธหลงประเด็นจากปัญหาที่ วัดพระธรรมกายได้ก่อขึ้น อาทิ
• เมื่อชาวพุทธออกมาชี้แจงและทักท้วงเพื่อความถูกต้อง ก็ปั้นแต่งเรื่องให้เป็นปัญหาการแตกแยก ทะเลาะกันระหว่างสองฝ่าย๑๓ แต่ที่จริง คือ ปัญหาการบิดเบือนพระธรรมวินัยของวัดพระธรรมกายเอง
• เมื่อสมเด็จพระสังฆราช มีพระวินิจฉัยออกมา ก็กล่าวหาว่าเป็นพระลิขิตปลอม๑๔ เพื่อเบนประเด็นที่มี พระวินิจฉัยว่า พระไชยบูลย์ปาราชิกขาดจากความเป็นพระ
• เมื่อชาวพุทธและองค์กรต่าง ๆ พากันออกมาชี้แจงและว่ากล่าว ก็สร้างเรื่องขึ้นมาให้เป็น “ขบวนการล้มพุทธ”๑๕ เพื่อเบนประเด็นจากการกระทำของตนที่ผิดจากพระธรรมวินัย เช่น การสอนที่ผิด การปฏิบัติที่ผิด๑๖ การดูดทรัพย์จากชาวพุทธด้วยวิธีการต่าง ๆ๑๗ การนำเงินของชาวพุทธไปดำเนินธุรกิจเพื่อหากำไร๑๘
• เมื่อ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง หนึ่งในคณะสืบสวนสอบสวนของ พล.ต.ท. วาสนา เพิ่มลาภ ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ถูกพระทตฺตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ออกมากล่าวหาว่ารับเงินสินบนจากผู้ที่ต้องการทำลายพระพุทธศาสนา๑๙ เพื่อเบนประเด็นการดำเนินงานด้วยความเที่ยงธรรมของตำรวจกองปราบ
• เมื่อพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ออกมาชี้แจงหลักการและความถูกต้องตามพระธรรมวินัย กลุ่มวัดพระธรรมกาย ก็กล่าวหาว่าเป็น “พระเทวทัตยุคไฮเทค” ๒๐ หรือขบวนการล้มพุทธ๒๑ และทำหนังสือ ใบปลิว ฯลฯ โจมตีพระธรรมปิฎก ตลอดจน นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ฯลฯ แทบทุกคนที่ออกมาพูดถึงปัญหาวัดพระธรรมกาย ท่านเหล่านั้นถูกจับรวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน พร้อมทั้งถูกกล่าวหาว่า เป็นขบวนการรับเงินจากศาสนาคริสต์ มาทำลายพระพุทธศาสนา๒๒ ทั้งนี้ เพื่อเบนประเด็นที่ตนเองบิดเบือนพระธรรมวินัย และทำความผิดต่าง ๆ
• เมื่อองค์กรชาวพุทธและทางราชการ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ช่วยกันหาทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว เช่น เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมานี้ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้ร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับใหม่ และร่าง พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ขึ้นมา ๒ ฉบับ เพื่อเป็นตุ๊กตาให้ชาวพุทธช่วยกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
กลุ่มวัดพระธรรมกายฉวยโอกาสหยิบต้นร่างกฎหมายนี้ มากล่าวหาว่า เป็นการยึดอำนาจ “ให้ฆราวาสปกครองพระ”๒๓ เพื่อกลบประเด็นปัญหาของตน และเบนประเด็นออกจากความผิดที่ตนทำอยู่ อีกทั้งเพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังชาวพุทธ ด้วยการทำให้พระและฆราวาสแตกแยกกัน



พฤติการณ์ของผู้บริหารวัดพระธรรมกาย เป็นปัญหาสำคัญที่ทำความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ปัญหานี้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และชุมชน รวมทั้งมีผลเสียหายต่อเนื่องไปอีกมากมาย นั่นหมายถึงมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย
ปัญหาวัดพระธรรมกายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป ไม่มีใครจะเป็นที่พึ่งพิงในการแก้ปัญหานี้ได้นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง ฉะนั้น จึงขอเรียกร้องให้ชาวพุทธมารวมตัวกันเพื่อร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาพระศาสนาที่เกิดขึ้น การมารวมกันนี้ไม่ใช่เพื่อปกป้องพระภิกษุ คฤหัสถ์ บุคคล หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการรวมตัวสามัคคีกันเพื่อช่วยให้พระศาสนารอดพ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ขณะนี้ กลุ่มวัดพระธรรมกาย ได้สร้างเรื่องกล่าวหาโจมตีชาวพุทธทุกคน และทุกองค์กรที่ออกมาปกป้องพระธรรมวินัย และชี้ให้เห็นปัญหาวัดพระธรรมกาย โดยพุ่งเป้าไปที่พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เพื่อสร้างความเป็นฝักฝ่าย สร้างความเข้าใจผิด ก่อความสับสน และเบี่ยงเบนประเด็นออกจากปัญหาที่แท้จริง ชาวพุทธทุกหน่วย ทุกคนที่รักพระศาสนา จึงต้องออกมาช่วยกันเปิดเผยความจริง และชี้ความถูกต้องให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
บัดนี้ พฤติกรรมที่มุ่งร้ายต่าง ๆ ของกลุ่มวัดพระธรรมกาย รวมทั้งเอกสารเท็จมากมาย ที่เผยแพร่ออกมาจากกลุ่ม วัดพระธรรมกาย ที่แต่งเรื่องใส่ร้ายผู้รักษาธรรมวินัย โดยไม่มีมูลความจริง แสดงว่าคนกลุ่มนี้ ไม่มีความเป็นชาวพุทธเหลืออยู่ เมื่อเขาปั้นเรื่องเท็จเพื่อทำลายบุคคลที่รักษาพระธรรมวินัยได้ เขาก็ย่อมบิดเบือนปั้นเรื่องเท็จต่อพระธรรมวินัยได้ การที่คนกลุ่มนี้หาทางทำลายบุคคลที่รักษาพระธรรมวินัย ก็เพื่อจะทำลายพระธรรมวินัยให้สะดวกนั่นเอง พฤติการณ์ของคนกลุ่มนี้ชี้ชัดว่า กลุ่มวัดพระธรรมกายพร้อมแล้วที่จะทำลายพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง และทุกวิถีทาง

ถึงเวลาแล้วที่ชาวพุทธจะต้องรวมตัวกันปกป้องบุคคลและองค์กรทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส ที่ออกมาทำงานเพื่อรักษาพระธรรมวินัย และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวัดพระธรรมกาย มิให้กลุ่มวัดพระธรรมกายมาแบ่งแยกชาวพุทธออกไปทำลายทีละหน่วยทีละคน องค์กรชาวพุทธทั้งหลายซึ่งได้รวมตัวกันเข้าเป็น องค์กรเครือข่ายชาวพุทธเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา จึงได้จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้น เพื่อรักษาพระพุทธศาสนา และประโยชน์สุขของพุทธบริษัททั้งมวล และเป็นการขอร้องให้กลุ่มวัดพระธรรมกายหันกลับมาแก้ไขปรับปรุงตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป

( นายสมพร เทพสิทธา )

เชิญแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ตามอัธยาศัย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่