ความหลังริมคลองเปรม
ทหารสื่อสารรุ่นคุณปู่
“ วชิรพักตร์ “
การเล่าความหลังริมคลองเปรมของผม ตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ผมได้เอ่ยถึงนายทหารสื่อสารรุ่นโบราณหลายท่าน และโดยเฉพาะ พันเอก หลวงโยธาณัติการ ที่คืนบรรดาศักดิ์ เป็น พันเอก เทศ กิตติรัต นั้นก็หลายครั้ง ท่านเป็นนายทหารสื่อสารรุ่นแรก ที่เป็นผู้บังคับบัญชา ของทหารสื่อสาร ตั้งแต่ยังมีหน่วยแค่ระดับกองพันเท่านั้น ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานมามากมาย จึงมีเรื่องที่ควรจะเล่าให้รุ่นลูกรุ่นหลานฟัง เพื่อให้เห็นถึงความอุตสาหะวิริยะของท่าน ในการ ปฎิบัติหน้าที่อันยากลำบากของทหารสื่อสาร ก่อนที่จะมีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงบัดนี้
พ.อ.เทศ กิตติรัต เกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๓๖ เวลา ๐๘๐๐ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ร.ศ.๑๑๒ เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลที่ ๕
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ชั้นมัธยม ได้รับการบรรจุเป็นนักเรียนทำการนายร้อย ประจำกรมทหารช่างที่ ๑ สังกัดกองร้อยโทรเลขไม่มีสาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ และได้เลื่อนยศเป็น ร้อยตรี ร้อยโท ร้อยเอกตามลำดับ ขณะมียศร้อยเอก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโยธาณัติการ เมื่อ พฤษภาคม ๒๔๖๘ และได้เป็น ผู้บังคับกองพันทหาร สื่อสารที่ ๑ กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อ พฤษภาคม ๒๔๗๐ และได้เลื่อนยศเป็น พันตรี เมื่อ เมษายน ๒๔๗๒
พ.ต.หลวงโยธาณัติการ ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับทหารสื่อสารกองทัพบกสนาม กรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อ ธันวาคม ๒๔๘๓ และเป็นหัวหน้าแผนกที่ ๕ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น แผนกสื่อสาร กรมจเรทหารบก เมื่อ มีนาคม ๒๔๘๔ ภายหลังที่สงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงแล้ว ในกรณีพิพาทดังกล่าวท่านไม่ได้เล่ารายละเอียดไว้เลย แต่ พล.ท.ธีระเดช มุ่งทางธรรม ซึ่งเวลานั้นเป็นนายทหารคนสนิทของท่านได้เล่าไว้ว่า
พอดีเกิดสงครามอินโดจีน ท่านหัวหน้า ฯ ต้องเดินทางไปดูแลหน่วยสื่อสารและคลังสื่อสารที่อรัญประเทศอยู่บ่อย ๆ ผมก็ต้องติดตามท่านไปด้วย เพื่อช่วยทำบันทึกเหตุขัดข้องและคำขอ มีอยู่คราวหนึ่งเมื่อไปถึงอรัญประเทศในตอนเย็น พอตกกลางคืนเครื่องบินฝรั่งเศสก็บินมาต้อนรับเราถึงอรัญประเทศ ผมกับท่านหัวหน้า ฯ ต้องพากันลงไปหลบภัยอยู่ในหลุมเครื่องยนต์ทำไฟฟ้า ในคราวนี้ท่านพาผมไปดูการประหารคน เพราะเมื่อคืนก่อนที่เครื่องบินฝรั่งเศสมาโจมตีนั้น มีชาวญวนพ่อแม่และลูกสาวรวมสามคน ทำหน้าที่จารชนใช้ไฟฉายช่วยส่องแนวที่หมายให้ และถูกจับตัวได้ ศาลอาญาศึกจึงตัดสินให้ประหารชีวิต เขาทั้งสามถูกนำตัวไปมัดข้างทางรถไฟ โดยอาศัยทางรถไฟเป็นมูลดิน และถูกยิงในเวลาต่อมา
สงครามอินโดจีนยุติลงยังไม่ทันไร สงครามมหาเอเซียบูรพาก็เกิดขึ้นในปลายปี ๒๔๘๔ ท่านหัวหน้า ฯ ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นผู้บังคับทหารสื่อสาร ของกองทัพบกสนาม มีที่ตั้งอยู่ในหอประชุมวังสวนกุหลาบ ผมต้องไปเป็นนายทหารสื่อสาร ประจำแผนกสื่อสารของกองทัพบกสนาม ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของท่านหัวหน้า ฯ งานคราวนี้หนักหนาเอาการเพราะเป็นสงครามใหญ่
หลวงโยธาณัติการ ได้เล่าว่า ครั้นเมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ก็ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับทหารสื่อสารกองทัพบก และเป็นผู้อำนวยการคลังทหารสื่อสารกองทัพบก อีกวาระหนึ่ง วันเดียวกันนี้เองมีเครื่องบินข้าศึกเล็ดลอดเข้ามา และถูกยิงตกหนึ่งลำ แถว ๆ บางสะแกตลาดพลู ยิ่งในเดือนต่อมามีหวูดสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏมีเครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปเริ่มตระหนักถึงภัยจากอากาศ ได้มีการพรางไฟอย่างเข้มงวด ขุดหลุมหลบภัยไว้ในบ้าน รัฐบาลเองก็สร้างที่หลบภัยไว้ในที่ต่าง ๆ บางครอบครัวถึงกับอพยพลูกหลานออกไปอยู่ตามวัดวาอาราม หรืออาศัยญาติพี่น้องตามบ้านนอก
ในช่วงนี้ท่านคงทำงานอยู่และค้างคืนที่วังสวนกุหลาบเป็นประจำ นอกจากนั้นก็ได้เดินทางขึ้นไปที่กองทัพพายัพหลายครั้ง เพื่อตรวจและสั่งการปฏิบัติและแก้ไขข้อขัดข้องให้ลุล่วงไป ประมาณปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้ น้ำได้เริ่มท่วมกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะที่บ้านของท่านที่ซอยร่วมจิต ท่วมถึงห้องรับแขกแล้ว พอต้นเดือนตุลาคมก็ท่วมโดยทั่วไป การเดินทางระหว่างบ้านกับสวนกุหลาบ ต้องใช้เรือพายไป บางวันให้ทหารพายให้ บางวันลูกชายพายให้ และบางวันก็ต้องพายเอง
ในระหว่างนี้ท่านต้องยืนแช่น้ำทำงาน กลางคืนก็เอาโต๊ะทำงานเป็นที่นอน พวกนายทหารที่ร่วมทำงานแช่น้ำ ร่วมนอนกันอย่างทุลักทุเลก็มีอยู่ด้วยกันหลายคน เช่น พ.ต.แสง จุละจาริตต์ ร.อ.ทองคำ (ธีระเดช) มุ่งทางธรรม เป็นต้น
พ.อ.แสง จุละจาริตต์ ได้เล่าเรื่องตอนนี้ไว้ว่า
อังคาร ๖ ตุลาคม ๒๔๘๕ เวลาเช้าออกจากบ้านใกล้สะพานควาย จะไปทำงานที่ บก.ทหารสูงสุด คงบุกน้ำเพียงเอวไป พบเรือของ จ่านายสิบ หลีศรี อินคำ ประจำโรงเรียนทหารสื่อสาร ผ่านมาและรับขึ้นเรือข้ามคลองประปาซึ่งน้ำไหลแรงมาก ไปส่งขึ้นบนทางรถไฟแล้วเดินไปบนรางรถไฟ ผ่านสะพานข้ามคลองสามเสน ไปจนถึงถนนราชวิถี ลงเรือจ้างที่นั่นแต่ไปหมดระยะแค่มุมเขาดิน ตรงสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ข้างวัดเบญจมบพิตร จึงต้องลงเดินบุกน้ำแค่ขาอ่อน ระยะทางประมาณ ๑ ก.ม.ไปยัง บก.ทหารสูงสุด ณ ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ ใช้เวลาทั้งหมด ๓ ชั่วโมง
ที่ บก.ทหารสูงสุด ระดับน้ำสูงกว่าพื้นของอาคาร ๗๕ ซ.ม. การทำงานโต๊ะติดกันคราวนั้น ผมจำผู้บังคับกองพัน คุณหลวงโยธาณัติการ และ ร.อ.ทองคำ มุ่งทางธรรมได้ชัดเจน และมี ร.อ.สละ สุริพันธ์ (พล.ต.สุภชัย สุรวรรธนะ) ด้วยอีกคน ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ที่กำแพงวังข้างประตูออก มีอาคารไม้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุรับส่ง บก.ทบ.สนาม มีผู้กอง พันตรี หลวงกำจัดปัจจามิตร (เจือ สิงหเสนี) พอมีเาลาว่างผมมักออกไปคุยด้วย สำหรับผู้กองพัน หลวงโยธาณัติการเป็นผู้ใหญ่มาก ผมจึงสำรวมมากเวลาสนทนากับท่าน และมีความเคารพมากขึ้นทุก ๆ วัน ได้เห็นท่านขมักเขม้นเอาการเอางาน แม้จะเป็นเวลากลางคืน และท่านก็อายุมากแล้ว โดยเฉพาะในระหว่างอุทกภัย เริ่มปลายกันยายน ตลอดตุลาคม จนต้นพฤศจิกายน ๒๔๘๕ ระดับน้ำในท้องพระโรงสูงถึง ๘๕ ซ.ม.ท่านก็ทำงานอยู่ในน้ำท่วมเท่า ๆ กับพวกเรา
ประมาณปลายปี ๒๔๘๖ สงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ฝ่ายอักษะกำลังเสียเปรียบ และฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ชักจะถอยร่นในพื้นที่หลายแห่ง เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มออกรบกวนมาทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ ชักถี่ขึ้น รัฐบาลมีแผนที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ และจัดตั้งกองทัพที่ ๒ ขึ้นในหุบเขา ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย เพื่อสนองแผนการนี้ หลวงโยธาณัติการได้เดินทางไปตรวจภูมิประเทศระหว่าง สถานีตะพานหินกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ก.ม.ที่๘๘ - ๙๑ และวางการติดต่อทางวิทยุไว้บริเวณนี้ จนได้ฤกษ์เคลื่อนย้ายเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ เดินทางไปเพชรบูรณ์ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ พร้อมกับนายทหารอีกจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งกองทัพที่ ๒ และหน่วยต่าง ๆ เข้าที่เข้าทางเรียบร้อย จนถึง ๒๓ เมษายน ๒๔๘๗ ท่านจึงได้รับหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกคือ เป็นผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ
การปฏิบัติหน้าที่นั้น มันเป็นภารกิจที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะหนักหนาสักเพียงใด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ฝังใจและหลอกหลอนท่านอยู่ตลอดเวลาคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะสถานที่ตั้งของหน่วยและกองทัพ ซึ่งตั้งอยู่ในดงดิบแท้ ๆ ชีวิตทหารและคนงานเกณฑ์ ถูกนำมาทิ้งไว้ ณ ที่นี้นับไม่ถ้วน อันเนื่องมาจากไข้มาเลเรีย และแม้แต่ชีวิตของนักเรียนนายร้อยที่ป่าแดง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีค่าของกองทัพ และมีนายแพทย์ชั้นเยี่ยมประจำอยู่ ก็ยังไม่วายต้องพลีชีพให้กับโรคนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีโรคคุดทะราด โรคทางเดินอาหารเนื่องมาจากน้ำ การที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากทางการขาดยา ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา
ดังนั้นท่านจึงต้องหมั่นออกตรวจผู้ใต้บังคับบัญชา ตั้งแต่เช้า และตอนเข้านอน อย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อดูว่าเขาเหล่านั้นปฏิบัติตัวตามที่นายแพทย์ประจำกองทัพ ได้ออกคำสั่ง ชี้แจงไว้หรือเปล่า เช่นเมื่อรู้สึกซึม ๆ ตามเนื้อตัวก็อย่าได้นอนเป็นอันขาด หรือก่อนนอนต้องกางมุ้ง และดูให้เรียบร้อยอย่าให้ยุงเข้าได้ และเอาผ้าห่ม ๆ ไว้ที่อกให้ความอบอุ่น หากทหารผู้ใดเป็นไข้ไปอยู่เสนารักษ์แล้ว ก็ต้องตามไปดูว่าได้รับการรักษาหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ท่านทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งก็เกิดผลไม่เพียงแค่ลูกน้องเท่านั้น ยังมีผลดีกับตัวท่านเองด้วย เพราะท่านไม่เคยป่วยเลย ตลอดเวลาที่อยู่เพชรบูรณ์นี้
ในเรื่องนี้ พล.ต.สาคร วีระศักดิ์ ได้เล่าว่า
ในปลายปี ๒๔๘๖ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการแล้ว ได้ไปประจำแผนกสื่อสารของท่านหลวงโยธา ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านโตก จังหวัดเพชรบูรณ์ บ้านไม้ไผ่หลังคาจากในป่าของท่านกับของผมก็อยู่ตรงกัน ในโอกาสที่อยู่ในป่าดงพงพีของเพชรบูรณ์ ซึ่งกลืนชีวิตคนที่ไปอยู่มิใช่น้อยนั้น ท่านพันเอกหลวงโยธา ฯ ได้แสดงธาตุแท้ของชายชาติทหาร ให้คนหนุ่ม ๆ ได้เห็นเป็นขวัญตา ด้วยการบุกป่าฝ่าดงข้ามเขาลงห้วย โดยไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทิ้งพวกหนุ่ม ๆ ไว้ข้างหลัง และไปคอยอยู่ ณ ที่หมายตามขั้นที่กำหนดกันไว้ นอกจากนั้นพวกเราส่วนมากยังโดนไข้มาเลเรีย เล่นงานเสียล้มลุกคลุกคลานไปตาม ๆ กัน อย่างผมเป็นต้น แทบว่าจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ต่อมา แต่กับท่านหัวหน้าหลวงโยธา ฯ นั้นพูดได้อย่างเต็มปากว่าไข้มาเลเรียไม่ยอมเข้าใกล้และแตะต้อง พวกเราต้องยอมยกให้ว่าท่านหัวหน้าแผนกสื่อสาร เป็นบุรุษกระดูกเหล็กจริง ๆ
ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้มีคำสั่งย้ายกองทัพสนามเข้าสู่กรุงเทพ ฯ เข้าที่ตั้งวังสวนจิตรลดา เวลานั้นกรุงเทพ ฯ ถูกโจมตีอย่างหนักทั้งกลางวันกลางคืน ทางรถไฟขาด ถนนทรุดโทรมใช้การไม่ได้ หลวงโยธาณัติการได้รับคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่ ผู้บังคับทหารสื่อสารกองทัพบกสนาม และผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ จังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านจึงต้องกลับมารับราชการในกรุงเทพ ฯ โดยมีหน้าที่ควบคุมการขนย้ายหน่วยสื่อสารจากเพชรบูรณ์มาด้วย
การเคลื่อนย้ายทางเรือเต็มไปด้วยความทุลักทุเล ยากลำบากมากมาย ซึ่ง พล.ท. ธีระเดช มุ่งทางธรรม ได้เล่าไว้ว่า
กำลังส่วนใหญ่ต้องลำเลียงจากป่าเพชรบูรณ์ ลงไปที่ตะพานหิน เพื่อรอลำเลียงทางเรือไปขึ้นที่จังหวัดลพบุรี และเก็บสัมภาระส่วนใหญ่ไว้ในพระราชวังนารายณ์ ผมกับหน่วยสื่อสารของท่านหัวหน้า ฯ ต้องมาทางเรือ กว่าจะเกณฑ์เรือได้พร้อมก็เสียเวลาเกือบเดือน และได้แต่เรือเล็ก ๆ เพราะเรือขนาดใหญ่กินน้ำลึกใช้การไม่ได้ เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่านบางตอน ในเดือนเมษายนจะแห้งขอด จนบางแห่งเช่นแถวมโนรมย์และโกรกพระ เราต้องช่วยกันใช้พลั่วเซาะร่องทรายให้กว้างลึก แล้วใช้หลังหนุนเรือให้เลื่อนไหลไปได้ มันเท่ากับว่าเราต้องช่วยกันแบกเรือมาเป็นตอน ๆ บางทีเราต้องลุยอยู่ในน้ำวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จึงพอประคับประคองเรือบันทุกสัมภาระมาได้ตลอดรอดฝั่ง ทางด้านหัวหน้า ฯ ของผมก็ต้องตกระกำลำบากเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่หน่วยของท่านมีกำลังพลมาก แต่เนื่องจากท่านเป็นคนไม่ยอมดูดาย และไม่ใช่คนเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัว ท่านก็ได้ลงมาลุยน้ำเพื่อช่วยเหลือหน่วยของท่านเหมือนกัน
พันเอกหลวงโยธาณัติการ ได้นำหน่วยเคลื่อนย้ายเสร็จสิ้นใน เดือนมกราคม ๒๔๘๘ และเมื่อถึง เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ ท่านก็ได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการ หลวงวิชิตสงคราม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจที่ต้องจากกัน หลังจากได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่ยังเป็นร้อยตรี เมื่อถามถึงโครงการข้างหน้าของท่าน ว่ามีอย่างไร ท่านก็เรียนตอบว่า คงไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ท่านเห็นใจกองทัพที่สงครามกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว กองทัพก็ต้องยุบตัวเอง ผู้ที่ถูกปลดในรุ่นแรก ๆ ยังโชคดีที่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว ยังมีผู้ที่โชคร้ายยิ่งกว่าท่านอีกมาก ที่ถูกปลดตั้งแต่ยังอยู่ในสนามรบ เมื่อสงครามสงบลง พวกนี้เป็นพวกที่น่าสงสารและเวทนาเป็นอย่างยิ่ง กว่าจะรอนแรมมาถึงบ้านเกิดได้ แทบเอาตัวไม่รอด เงินไม่มีใช้ เสื้อแสงขาดวิ่น อด ๆ อยาก ๆ มาตลอดทาง
พันเอกหลวงโยธาณัติการ มีอายุยืนมาครบแปดรอบ ๙๖ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓
พล.ท.ชาญ อังศุโชติ ได้สดุดีไว้ว่า
ท่านได้ปรับปรุงกิจการของโรงงานสื่อสาร จนเป็นปึกแผ่นมั่นคง และท่านเป็นกำลังสำคัญในการผลิตแบบฝึก และตำราวิชาการทหารสื่อสารขึ้นใช้ราชการเป็นอันมาก
ทหารสื่อสารรุ่นคุณปู่ ๑๖ ก.พ.๖๐
ทหารสื่อสารรุ่นคุณปู่
“ วชิรพักตร์ “
การเล่าความหลังริมคลองเปรมของผม ตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ผมได้เอ่ยถึงนายทหารสื่อสารรุ่นโบราณหลายท่าน และโดยเฉพาะ พันเอก หลวงโยธาณัติการ ที่คืนบรรดาศักดิ์ เป็น พันเอก เทศ กิตติรัต นั้นก็หลายครั้ง ท่านเป็นนายทหารสื่อสารรุ่นแรก ที่เป็นผู้บังคับบัญชา ของทหารสื่อสาร ตั้งแต่ยังมีหน่วยแค่ระดับกองพันเท่านั้น ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานมามากมาย จึงมีเรื่องที่ควรจะเล่าให้รุ่นลูกรุ่นหลานฟัง เพื่อให้เห็นถึงความอุตสาหะวิริยะของท่าน ในการ ปฎิบัติหน้าที่อันยากลำบากของทหารสื่อสาร ก่อนที่จะมีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงบัดนี้
พ.อ.เทศ กิตติรัต เกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๓๖ เวลา ๐๘๐๐ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ร.ศ.๑๑๒ เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลที่ ๕
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ชั้นมัธยม ได้รับการบรรจุเป็นนักเรียนทำการนายร้อย ประจำกรมทหารช่างที่ ๑ สังกัดกองร้อยโทรเลขไม่มีสาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ และได้เลื่อนยศเป็น ร้อยตรี ร้อยโท ร้อยเอกตามลำดับ ขณะมียศร้อยเอก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโยธาณัติการ เมื่อ พฤษภาคม ๒๔๖๘ และได้เป็น ผู้บังคับกองพันทหาร สื่อสารที่ ๑ กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อ พฤษภาคม ๒๔๗๐ และได้เลื่อนยศเป็น พันตรี เมื่อ เมษายน ๒๔๗๒
พ.ต.หลวงโยธาณัติการ ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับทหารสื่อสารกองทัพบกสนาม กรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อ ธันวาคม ๒๔๘๓ และเป็นหัวหน้าแผนกที่ ๕ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น แผนกสื่อสาร กรมจเรทหารบก เมื่อ มีนาคม ๒๔๘๔ ภายหลังที่สงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงแล้ว ในกรณีพิพาทดังกล่าวท่านไม่ได้เล่ารายละเอียดไว้เลย แต่ พล.ท.ธีระเดช มุ่งทางธรรม ซึ่งเวลานั้นเป็นนายทหารคนสนิทของท่านได้เล่าไว้ว่า
พอดีเกิดสงครามอินโดจีน ท่านหัวหน้า ฯ ต้องเดินทางไปดูแลหน่วยสื่อสารและคลังสื่อสารที่อรัญประเทศอยู่บ่อย ๆ ผมก็ต้องติดตามท่านไปด้วย เพื่อช่วยทำบันทึกเหตุขัดข้องและคำขอ มีอยู่คราวหนึ่งเมื่อไปถึงอรัญประเทศในตอนเย็น พอตกกลางคืนเครื่องบินฝรั่งเศสก็บินมาต้อนรับเราถึงอรัญประเทศ ผมกับท่านหัวหน้า ฯ ต้องพากันลงไปหลบภัยอยู่ในหลุมเครื่องยนต์ทำไฟฟ้า ในคราวนี้ท่านพาผมไปดูการประหารคน เพราะเมื่อคืนก่อนที่เครื่องบินฝรั่งเศสมาโจมตีนั้น มีชาวญวนพ่อแม่และลูกสาวรวมสามคน ทำหน้าที่จารชนใช้ไฟฉายช่วยส่องแนวที่หมายให้ และถูกจับตัวได้ ศาลอาญาศึกจึงตัดสินให้ประหารชีวิต เขาทั้งสามถูกนำตัวไปมัดข้างทางรถไฟ โดยอาศัยทางรถไฟเป็นมูลดิน และถูกยิงในเวลาต่อมา
สงครามอินโดจีนยุติลงยังไม่ทันไร สงครามมหาเอเซียบูรพาก็เกิดขึ้นในปลายปี ๒๔๘๔ ท่านหัวหน้า ฯ ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นผู้บังคับทหารสื่อสาร ของกองทัพบกสนาม มีที่ตั้งอยู่ในหอประชุมวังสวนกุหลาบ ผมต้องไปเป็นนายทหารสื่อสาร ประจำแผนกสื่อสารของกองทัพบกสนาม ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของท่านหัวหน้า ฯ งานคราวนี้หนักหนาเอาการเพราะเป็นสงครามใหญ่
หลวงโยธาณัติการ ได้เล่าว่า ครั้นเมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ก็ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับทหารสื่อสารกองทัพบก และเป็นผู้อำนวยการคลังทหารสื่อสารกองทัพบก อีกวาระหนึ่ง วันเดียวกันนี้เองมีเครื่องบินข้าศึกเล็ดลอดเข้ามา และถูกยิงตกหนึ่งลำ แถว ๆ บางสะแกตลาดพลู ยิ่งในเดือนต่อมามีหวูดสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏมีเครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปเริ่มตระหนักถึงภัยจากอากาศ ได้มีการพรางไฟอย่างเข้มงวด ขุดหลุมหลบภัยไว้ในบ้าน รัฐบาลเองก็สร้างที่หลบภัยไว้ในที่ต่าง ๆ บางครอบครัวถึงกับอพยพลูกหลานออกไปอยู่ตามวัดวาอาราม หรืออาศัยญาติพี่น้องตามบ้านนอก
ในช่วงนี้ท่านคงทำงานอยู่และค้างคืนที่วังสวนกุหลาบเป็นประจำ นอกจากนั้นก็ได้เดินทางขึ้นไปที่กองทัพพายัพหลายครั้ง เพื่อตรวจและสั่งการปฏิบัติและแก้ไขข้อขัดข้องให้ลุล่วงไป ประมาณปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้ น้ำได้เริ่มท่วมกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะที่บ้านของท่านที่ซอยร่วมจิต ท่วมถึงห้องรับแขกแล้ว พอต้นเดือนตุลาคมก็ท่วมโดยทั่วไป การเดินทางระหว่างบ้านกับสวนกุหลาบ ต้องใช้เรือพายไป บางวันให้ทหารพายให้ บางวันลูกชายพายให้ และบางวันก็ต้องพายเอง
ในระหว่างนี้ท่านต้องยืนแช่น้ำทำงาน กลางคืนก็เอาโต๊ะทำงานเป็นที่นอน พวกนายทหารที่ร่วมทำงานแช่น้ำ ร่วมนอนกันอย่างทุลักทุเลก็มีอยู่ด้วยกันหลายคน เช่น พ.ต.แสง จุละจาริตต์ ร.อ.ทองคำ (ธีระเดช) มุ่งทางธรรม เป็นต้น
พ.อ.แสง จุละจาริตต์ ได้เล่าเรื่องตอนนี้ไว้ว่า
อังคาร ๖ ตุลาคม ๒๔๘๕ เวลาเช้าออกจากบ้านใกล้สะพานควาย จะไปทำงานที่ บก.ทหารสูงสุด คงบุกน้ำเพียงเอวไป พบเรือของ จ่านายสิบ หลีศรี อินคำ ประจำโรงเรียนทหารสื่อสาร ผ่านมาและรับขึ้นเรือข้ามคลองประปาซึ่งน้ำไหลแรงมาก ไปส่งขึ้นบนทางรถไฟแล้วเดินไปบนรางรถไฟ ผ่านสะพานข้ามคลองสามเสน ไปจนถึงถนนราชวิถี ลงเรือจ้างที่นั่นแต่ไปหมดระยะแค่มุมเขาดิน ตรงสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ข้างวัดเบญจมบพิตร จึงต้องลงเดินบุกน้ำแค่ขาอ่อน ระยะทางประมาณ ๑ ก.ม.ไปยัง บก.ทหารสูงสุด ณ ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ ใช้เวลาทั้งหมด ๓ ชั่วโมง
ที่ บก.ทหารสูงสุด ระดับน้ำสูงกว่าพื้นของอาคาร ๗๕ ซ.ม. การทำงานโต๊ะติดกันคราวนั้น ผมจำผู้บังคับกองพัน คุณหลวงโยธาณัติการ และ ร.อ.ทองคำ มุ่งทางธรรมได้ชัดเจน และมี ร.อ.สละ สุริพันธ์ (พล.ต.สุภชัย สุรวรรธนะ) ด้วยอีกคน ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ที่กำแพงวังข้างประตูออก มีอาคารไม้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุรับส่ง บก.ทบ.สนาม มีผู้กอง พันตรี หลวงกำจัดปัจจามิตร (เจือ สิงหเสนี) พอมีเาลาว่างผมมักออกไปคุยด้วย สำหรับผู้กองพัน หลวงโยธาณัติการเป็นผู้ใหญ่มาก ผมจึงสำรวมมากเวลาสนทนากับท่าน และมีความเคารพมากขึ้นทุก ๆ วัน ได้เห็นท่านขมักเขม้นเอาการเอางาน แม้จะเป็นเวลากลางคืน และท่านก็อายุมากแล้ว โดยเฉพาะในระหว่างอุทกภัย เริ่มปลายกันยายน ตลอดตุลาคม จนต้นพฤศจิกายน ๒๔๘๕ ระดับน้ำในท้องพระโรงสูงถึง ๘๕ ซ.ม.ท่านก็ทำงานอยู่ในน้ำท่วมเท่า ๆ กับพวกเรา
ประมาณปลายปี ๒๔๘๖ สงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ฝ่ายอักษะกำลังเสียเปรียบ และฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ชักจะถอยร่นในพื้นที่หลายแห่ง เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มออกรบกวนมาทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ ชักถี่ขึ้น รัฐบาลมีแผนที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ และจัดตั้งกองทัพที่ ๒ ขึ้นในหุบเขา ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย เพื่อสนองแผนการนี้ หลวงโยธาณัติการได้เดินทางไปตรวจภูมิประเทศระหว่าง สถานีตะพานหินกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ก.ม.ที่๘๘ - ๙๑ และวางการติดต่อทางวิทยุไว้บริเวณนี้ จนได้ฤกษ์เคลื่อนย้ายเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ เดินทางไปเพชรบูรณ์ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ พร้อมกับนายทหารอีกจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งกองทัพที่ ๒ และหน่วยต่าง ๆ เข้าที่เข้าทางเรียบร้อย จนถึง ๒๓ เมษายน ๒๔๘๗ ท่านจึงได้รับหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกคือ เป็นผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ
การปฏิบัติหน้าที่นั้น มันเป็นภารกิจที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะหนักหนาสักเพียงใด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ฝังใจและหลอกหลอนท่านอยู่ตลอดเวลาคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะสถานที่ตั้งของหน่วยและกองทัพ ซึ่งตั้งอยู่ในดงดิบแท้ ๆ ชีวิตทหารและคนงานเกณฑ์ ถูกนำมาทิ้งไว้ ณ ที่นี้นับไม่ถ้วน อันเนื่องมาจากไข้มาเลเรีย และแม้แต่ชีวิตของนักเรียนนายร้อยที่ป่าแดง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีค่าของกองทัพ และมีนายแพทย์ชั้นเยี่ยมประจำอยู่ ก็ยังไม่วายต้องพลีชีพให้กับโรคนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีโรคคุดทะราด โรคทางเดินอาหารเนื่องมาจากน้ำ การที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากทางการขาดยา ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา
ดังนั้นท่านจึงต้องหมั่นออกตรวจผู้ใต้บังคับบัญชา ตั้งแต่เช้า และตอนเข้านอน อย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อดูว่าเขาเหล่านั้นปฏิบัติตัวตามที่นายแพทย์ประจำกองทัพ ได้ออกคำสั่ง ชี้แจงไว้หรือเปล่า เช่นเมื่อรู้สึกซึม ๆ ตามเนื้อตัวก็อย่าได้นอนเป็นอันขาด หรือก่อนนอนต้องกางมุ้ง และดูให้เรียบร้อยอย่าให้ยุงเข้าได้ และเอาผ้าห่ม ๆ ไว้ที่อกให้ความอบอุ่น หากทหารผู้ใดเป็นไข้ไปอยู่เสนารักษ์แล้ว ก็ต้องตามไปดูว่าได้รับการรักษาหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ท่านทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งก็เกิดผลไม่เพียงแค่ลูกน้องเท่านั้น ยังมีผลดีกับตัวท่านเองด้วย เพราะท่านไม่เคยป่วยเลย ตลอดเวลาที่อยู่เพชรบูรณ์นี้
ในเรื่องนี้ พล.ต.สาคร วีระศักดิ์ ได้เล่าว่า
ในปลายปี ๒๔๘๖ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการแล้ว ได้ไปประจำแผนกสื่อสารของท่านหลวงโยธา ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านโตก จังหวัดเพชรบูรณ์ บ้านไม้ไผ่หลังคาจากในป่าของท่านกับของผมก็อยู่ตรงกัน ในโอกาสที่อยู่ในป่าดงพงพีของเพชรบูรณ์ ซึ่งกลืนชีวิตคนที่ไปอยู่มิใช่น้อยนั้น ท่านพันเอกหลวงโยธา ฯ ได้แสดงธาตุแท้ของชายชาติทหาร ให้คนหนุ่ม ๆ ได้เห็นเป็นขวัญตา ด้วยการบุกป่าฝ่าดงข้ามเขาลงห้วย โดยไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทิ้งพวกหนุ่ม ๆ ไว้ข้างหลัง และไปคอยอยู่ ณ ที่หมายตามขั้นที่กำหนดกันไว้ นอกจากนั้นพวกเราส่วนมากยังโดนไข้มาเลเรีย เล่นงานเสียล้มลุกคลุกคลานไปตาม ๆ กัน อย่างผมเป็นต้น แทบว่าจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ต่อมา แต่กับท่านหัวหน้าหลวงโยธา ฯ นั้นพูดได้อย่างเต็มปากว่าไข้มาเลเรียไม่ยอมเข้าใกล้และแตะต้อง พวกเราต้องยอมยกให้ว่าท่านหัวหน้าแผนกสื่อสาร เป็นบุรุษกระดูกเหล็กจริง ๆ
ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้มีคำสั่งย้ายกองทัพสนามเข้าสู่กรุงเทพ ฯ เข้าที่ตั้งวังสวนจิตรลดา เวลานั้นกรุงเทพ ฯ ถูกโจมตีอย่างหนักทั้งกลางวันกลางคืน ทางรถไฟขาด ถนนทรุดโทรมใช้การไม่ได้ หลวงโยธาณัติการได้รับคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่ ผู้บังคับทหารสื่อสารกองทัพบกสนาม และผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ จังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านจึงต้องกลับมารับราชการในกรุงเทพ ฯ โดยมีหน้าที่ควบคุมการขนย้ายหน่วยสื่อสารจากเพชรบูรณ์มาด้วย
การเคลื่อนย้ายทางเรือเต็มไปด้วยความทุลักทุเล ยากลำบากมากมาย ซึ่ง พล.ท. ธีระเดช มุ่งทางธรรม ได้เล่าไว้ว่า
กำลังส่วนใหญ่ต้องลำเลียงจากป่าเพชรบูรณ์ ลงไปที่ตะพานหิน เพื่อรอลำเลียงทางเรือไปขึ้นที่จังหวัดลพบุรี และเก็บสัมภาระส่วนใหญ่ไว้ในพระราชวังนารายณ์ ผมกับหน่วยสื่อสารของท่านหัวหน้า ฯ ต้องมาทางเรือ กว่าจะเกณฑ์เรือได้พร้อมก็เสียเวลาเกือบเดือน และได้แต่เรือเล็ก ๆ เพราะเรือขนาดใหญ่กินน้ำลึกใช้การไม่ได้ เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่านบางตอน ในเดือนเมษายนจะแห้งขอด จนบางแห่งเช่นแถวมโนรมย์และโกรกพระ เราต้องช่วยกันใช้พลั่วเซาะร่องทรายให้กว้างลึก แล้วใช้หลังหนุนเรือให้เลื่อนไหลไปได้ มันเท่ากับว่าเราต้องช่วยกันแบกเรือมาเป็นตอน ๆ บางทีเราต้องลุยอยู่ในน้ำวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จึงพอประคับประคองเรือบันทุกสัมภาระมาได้ตลอดรอดฝั่ง ทางด้านหัวหน้า ฯ ของผมก็ต้องตกระกำลำบากเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่หน่วยของท่านมีกำลังพลมาก แต่เนื่องจากท่านเป็นคนไม่ยอมดูดาย และไม่ใช่คนเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัว ท่านก็ได้ลงมาลุยน้ำเพื่อช่วยเหลือหน่วยของท่านเหมือนกัน
พันเอกหลวงโยธาณัติการ ได้นำหน่วยเคลื่อนย้ายเสร็จสิ้นใน เดือนมกราคม ๒๔๘๘ และเมื่อถึง เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ ท่านก็ได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการ หลวงวิชิตสงคราม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจที่ต้องจากกัน หลังจากได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่ยังเป็นร้อยตรี เมื่อถามถึงโครงการข้างหน้าของท่าน ว่ามีอย่างไร ท่านก็เรียนตอบว่า คงไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ท่านเห็นใจกองทัพที่สงครามกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว กองทัพก็ต้องยุบตัวเอง ผู้ที่ถูกปลดในรุ่นแรก ๆ ยังโชคดีที่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว ยังมีผู้ที่โชคร้ายยิ่งกว่าท่านอีกมาก ที่ถูกปลดตั้งแต่ยังอยู่ในสนามรบ เมื่อสงครามสงบลง พวกนี้เป็นพวกที่น่าสงสารและเวทนาเป็นอย่างยิ่ง กว่าจะรอนแรมมาถึงบ้านเกิดได้ แทบเอาตัวไม่รอด เงินไม่มีใช้ เสื้อแสงขาดวิ่น อด ๆ อยาก ๆ มาตลอดทาง
พันเอกหลวงโยธาณัติการ มีอายุยืนมาครบแปดรอบ ๙๖ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓
พล.ท.ชาญ อังศุโชติ ได้สดุดีไว้ว่า
ท่านได้ปรับปรุงกิจการของโรงงานสื่อสาร จนเป็นปึกแผ่นมั่นคง และท่านเป็นกำลังสำคัญในการผลิตแบบฝึก และตำราวิชาการทหารสื่อสารขึ้นใช้ราชการเป็นอันมาก