เปรียบเทียบ “ความรัก” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับไทย

       
        บทความโดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
        Tokyo University of Foreign Studies

       
       ความรักเอย เจ้าลอยลมผ่านการเล่าขานมาไม่รู้จบในทุกชาติทุกภาษา และถึงแม้พูดกันคนละภาษา แต่อานุภาพของภาษารักก็ทำให้ชนะใจกันได้ ความรักเป็นสากลก็ตรงนี้เอง แต่บางครั้งวิธีการแสดงออกซึ่งความรักก็ไม่ได้เป็นสากลเสมอไป แง่มุมความรักของคนญี่ปุ่นมีจุดร่วมหรือจุดต่างกับของไทยอย่างไร มาสำรวจกันดู
       
       ความรักคงมีเส้นทางเฉพาะของมัน และคงเพราะ ‘รักคือสื่อภาษาสวรรค์’ คนบางคู่ที่ดูเหมือนไม่น่าจะลงเอยกันได้ ก็หากันจนเจอ หรือบางคู่ที่อยู่ไกลกัน ก็ยังได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ดังเช่นสาวไทยปีละประมาณพันคนที่แต่งงานกับชายญี่ปุ่น และชายไทยปีละหลายสิบคนที่แต่งงานกับสาวญี่ปุ่น

        หญิงไทยเป็นที่รักของชายญี่ปุ่นไม่น้อยหน้าใคร อยู่ในอันดับ 4 มาตลอด 2 ทศวรรษตั้งแต่ปี 1995 โดยมีหญิงจีน (และไต้หวัน) ครองอันดับ 1, ฟิลิปปินส์ 2 และเกาหลี (ทั้งเหนือและใต้) 3 มาโดยตลอดเช่นกัน ส่วนกรณีของชายไทย อยู่ในอันดับ 8 โดยอันดับ 1 ถึง 3 ได้แก่ เกาหลี จีน (และไต้หวัน) อเมริกา และจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2000 จำนวนหญิงไทยที่แต่งงานกับชายญี่ปุ่นลดลงเรื่อยมา นั่นไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นรักคนไทยน้อยลง แต่คาดว่าเป็นเพราะมีการตรวจสอบเข้มงวดขึ้นเรื่องการแต่งงานบังหน้าเพื่อหวังวีซ่า
       
           แม้การแต่งงานเริ่มจากความรักเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรักจะยั่งยืนตลอดไป และหากเป็นการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมด้วยแล้ว เงื่อนไขย่อมเพิ่มขึ้นอีก สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับคู่รักข้ามชาติของญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันก็คือ การไม่แสดงความรู้สึกของผู้ชายญี่ปุ่น
       
       ความรักคงเหมือนดอกพิกุล คนญี่ปุ่นจึงไม่ยอมเอ่ยคำว่า “รัก” สักเท่าไร จนดูเหมือนคำนี้ถูกสงวนไว้ใช้ในนิยาย เพลง หรือละครเท่านั้น สำหรับคู่รักญี่ปุ่นในชีวิตจริง นับตั้งแต่เป็นแฟนกันจนแต่งงาน กระทั่งลูกโตหมดแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยได้เอ่ยคำนี้ให้กัน ขนบแห่งความรักของคนญี่ปุ่นจึงมักถูกคนที่ไม่เข้าใจค่อนขอดว่าช่างเย็นชาจนน่าหวั่นใจสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงโลกตะวันตก
       
       คนญี่ปุ่นไม่บอกรักกันด้วยคำว่า “รัก”—ไอ ชิเตะ อิรุ (愛している;ai shite iru) แต่ใช้คำว่า “ชอบ”—ซุกิ (好き;suki) หรือ “ชอบมาก”—ได ซุกิ (大好き;daisuki) และไม่ใช่แค่ความรักของชายหนุ่มหญิงสาวเท่านั้น แต่ในกรณีอื่นอย่างที่คนไทยก็พูดกันทั่วไป เช่น ลูกรักแม่ เจ้านายรักลูกน้อง เพื่อนรักเพื่อน คนญี่ปุ่นก็มักพูดว่า ลูกชอบแม่ เจ้านายชอบลูกน้อง เพื่อนชอบเพื่อน โดยแทบไม่มีพื้นที่สำหรับคำว่า “ความรัก” ซึ่งคนญี่ปุ่นบอกว่าคำนี้ให้ความรู้สึกว่า ‘หนัก’ เมื่อจะเอ่ยก็อายอีก จึงไม่พูด และถึงแม้มีคำว่า “ชอบ” มารับหน้าที่แทน แต่การเอ่ยคำว่า “ชอบ” เพื่อแสดงความรักก็เป็นไปอย่างสงวนท่าที จนคนที่อยู่ด้วยกันก็เริ่มไม่แน่ใจว่ายังรักกันอยู่ไหม
       
       การไม่เอ่ยคำรักตรงๆ ไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นรักไม่เป็น เพียงแต่การแสดงความรักทางคำพูดอย่างตรงไปตรงมานั้นไม่ใช่ลักษณะของคนญี่ปุ่น สาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างทางความรู้สึก คือ คนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนเราเข้าใจกันได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด และสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ยำเกรงผู้ชายอย่างยิ่ง

        ภาษาญี่ปุ่นมีสำนวน “อิชิง เด็งชิง” (以心伝心;ishin denshin) แปลว่า สื่อใจถึงกันได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา กล่าวคือ สิ่งที่อาจารย์ประสงค์จะสื่อนั้นมิต้องใช้คำพูดหรือตัวอักษร ศิษย์ก็เข้าใจความหมายได้ จากแนวคิดเชิงศาสนา ต่อมาก็แพร่หลายในสังคม ถือเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งในกลุ่มคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน โดยเฉพาะคนรักและสามีภรรยา จึงกลายเป็นการสงวนคำพูดและความรู้สึก ไม่เผยออกมาง่ายๆ
       
       อีกประการหนึ่งคือการยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นกำลังพยายามยกระดับสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา สังคมญี่ปุ่นมีลักษณะที่เรียกว่า “ดันซง โจะฮิ” (男尊女卑;danson johi) คือ ให้ความสำคัญต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สำหรับการแสดงความรักนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำเพื่อให้อีกฝ่ายพอใจที่ตัวเองได้รับความสำคัญ ดังนั้น เมื่อสังคมให้ผู้ชายเป็นใหญ่อยู่แล้ว ผู้ชายญี่ปุ่นจึงไม่จำเป็นต้องพยายามเอาใจผู้หญิงด้วยการแสดงความรัก และจะไว้ตัวอย่างไรก็ไม่มีใครว่าได้ แต่เมื่อผู้หญิงมีสถานภาพใกล้เคียงกับผู้ชายกว่าเดิม อีกทั้งยังเกิดกระแสการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติมากขึ้น การตัดพ้อหรือเรียกร้องคำรักเพื่อย้ำความมั่นใจในความสัมพันธ์จึงกลายเป็นเรื่องที่ถกกันมากขึ้นในสังคมญี่ปุ่น
       
       นอกจากการไม่แสดงความรักทางคำพูดแล้ว อีกเรื่องที่ต่างจากคนไทยคือ การแยกแยะ “ความรัก” กับ “ความใคร่” และสำทับด้วยเรื่องความรักในเชิงศาสนา ในกรณีของไทย ผู้ใหญ่มักสอนเด็กรุ่นใหม่ๆ ว่า “ความรัก” กับ “ความใคร่” ไม่เหมือนกันนะลูก โดยที่ความรักมักถูกแต่งตั้งให้เป็นฝ่ายดี ส่วนความใคร่เป็นฝ่ายเสื่อม หากขยายความเพิ่มเติมตามฉบับโลกวิไล ความรักคือการให้ ส่วนความใคร่คือความปรารถนาที่จะครอบครองกาย ที่มักลงท้ายด้วยบทอัศจรรย์
       
       แต่คนญี่ปุ่นไม่ได้สอนกันแบบนั้น เพราะถ้าคิดตามครรลองของคนหนุ่มสาวญี่ปุ่น เมื่อรักแล้ว ก็ต้อง ‘ไว้เนื้อ’ และ ‘เชื่อใจ’ คือนอกจากให้ใจแล้วก็ต้องแถมเนื้อให้ด้วย เพราะ ‘เนื้อ’ คือสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของความรัก คนไทยคงตีความว่านั่นคือความใคร่ เพราะวัฒนธรรมไทยไม่ยอมรับการชิงสุกก่อนห่าม และยังเน้นด้วยว่าความรักที่จริงแท้และแน่นอนคือพรหมวิหารสี่ ผมเคยพยายามอธิบายแนวคิดแบบนี้ให้คนญี่ปุ่นฟัง ก็ดูเหมือนจะเข้าหัว แต่ไม่เข้าใจ แนวคิดที่ใกล้เคียงที่สุดคงถ่ายทอดออกมาได้ด้วยตัวอักษรคันจิ 2 ตัวของญี่ปุ่น คือ 愛 (ไอ ; ai) –ความรัก ซึ่งมีความหมายกว้าง กับ 恋 (โคะอิ; koi) –ความรักใคร่ ซึ่งหมายถึงความรักร้อนแรงแบบหนุ่มสาว

        และปิดท้ายด้วยสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนไทย คือ การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อตอบสนองความโหยหาซึ่งความรัก ขณะที่คนไทยนิยมไปไหว้พระตรีมูรติเพื่อขอให้สมหวังในรัก คนญี่ปุ่นก็นิยมไปไหว้ศาลเจ้า “โตเกียวไดจิงงู” (東京大神宮 ; Tōkyō Dai Jingū) วันวาเลนไทน์นี้ หากใครมีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นจะลองแวะดูก็ได้ อยู่ใกล้ ๆ สถานีอีดะบะชิ (飯田橋 ; Īdabashi) ในกรุงโตเกียว แต่มีเคล็ดอยู่ว่า ถ้าจะให้สมหวังต้องตั้งใจตรงไปที่นั่นเลย ห้ามแวะที่ไหนระหว่างทางเด็ดขาด มิฉะนั้นเทพอาจไม่แผลงฤทธิ์


โตเกียวไดจิงงู


โตเกียวไดจิงงู



ขอบคุณบทความจาก : MGR Online
http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000014894
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่