((มาลาริน)) ^_^ ความเข้าใจผิดเรื่อง “เงินคงคลัง” 💱💱💱

เงินคงคลัง....มาทำความเข้าใจกันต่อ....จากบทความของนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กันค่ะ  เม่าอ่านเม่าอ่านเม่าอ่านเม่าชอปปิ้งเม่าชอปปิ้ง

มีความเข้าใจผิดในเรื่องเงินคงคลัง อันเกิดจากนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์บางคนว่ารัฐบาลบริหารประเทศจนเงินคงคลังร่อยหรอ เป็นผลงานยอดแย่ ทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนที่เงินคงคลังของประเทศไทยร่อยหรอจนเหลือเพียงเจ็ดหมื่นจากเกือบสี่แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริง ประเทศไทย ได้ดุลการค้า ได้ดุลเดินสะพัด และดุลบริการ ดุลการค้าคือส่งออกและนำเข้า เราส่งออกมากกว่านำเข้า ดุลบริการเราได้ดุลมาโดยตลอดเพราะการท่องเที่ยวไทยนั้นดีมาก แม้ขจัดทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนไปแล้วก็ยังดีอยู่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนดุลเดินสะพัดคือยอมเงินรวมจากทุกดุล เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่คนตื่นกลัวและมีผู้นำไปเผยแพร่โจมตีแต่อย่างใด

ถ้าถามว่าเงินคงคลังคืออะไร เงินคงคลังก็คือเงินสดที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังถือเอาไว้ในระยะเวลานั้นๆ ที่มีขึ้นและมีลง เปลี่ยนแปลงได้ทุกวันตามเงินได้ที่เก็บเข้ามาได้และเงินที่จ่ายออกไปดังสมการ

เงินคงคลังปลายงวด = เงินคงคลังต้นงวด + รายได้ที่จัดเก็บได้ของรัฐบาลระหว่างงวด
- รายจ่ายของรัฐบาลระหว่างงวด 
+ เงินกู้ของรัฐบาลระหว่างงวด 
– ยอดเงินกู้ที่จ่ายคืน 
- ดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลระหว่างงวด

ดังที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า 

“เงินคงคลังคือปริมาณเงินสดที่รัฐถืออยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มันไม่ได้สะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศแต่อย่างใด เพราะเงินคงคลังไม่ได้หมายถึงรายได้ หรือกำไรที่เป็นส่วนเกินของประเทศ เงินที่กู้ยืมมาก็ถือว่าเป็นเงินคงคลังได้เช่นกัน สมมติว่าอยากให้มีเงินคงคลังเยอะๆ ก็ไปกู้มาเยอะๆ ได้ ถามว่านั่นคือเรื่องที่ดีไหม ก็ไม่ใช่"

“นึกภาพง่ายๆ ว่าสมมติเรามีธุรกิจร้านค้าเล็กๆ เราก็ต้องประเมินว่าวันๆ หนึ่งเราจะต้องใช้เงินสดเท่าไร เราก็เก็บเงินสดไว้ในลิ้นชักให้เพียงพอ มากเกินไปก็ไม่ดี เพราะแทนที่เงินนั้นจะอยู่ในบัญชีธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยก็กลับมาอยู่ในลิ้นชักเฉยๆ ซึ่งถือว่าเสียโอกาส แต่น้อยไปก็ไม่ดี เผื่อว่าวันดีคืนดีมีเรื่องต้องจ่ายเงินมากกว่าที่คิด ถ้าเงินสดหรือเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอก็คงแย่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องของการบริหารเงินสดในมือ ไม่ได้สะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศแต่อย่างใด”

ในทางการเงินการบริหารเงินคงคลังก็ไม่ได้แตกต่างจากการที่เราถือเงินสดเอาไว้ในมือ การถือเงินสดเก็บไว้มากๆ นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะมีอัตราผลตอบแทนต่ำ มีต้นทุนค่าเสียโอกาส หากมีการกู้เงินอยู่แล้วยิ่งต้องรีบนำเงินสดที่เราได้มาไปชำระหนี้ดีกว่าที่เราจะเสียดอกเบี้ยจ่ายสูงๆ การเก็บเงินคงคลังไว้มากๆ จึงไม่ได้แตกต่างจากการฝังเงินใส่ตุ่มไว้หลังบ้านมากนัก ถ้าเช่นนั้นทำไมเราจึงต้องมีเงินสดไว้ในมือ สาเหตุคือเราต้องการสภาพคล่อง (Liquidity) เช่นเมื่อเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินสด หากไม่มีเงินสดเลย เมื่อเราถูกเรียกชำระหนี้เราก็จะมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินได้ ทำให้เสียเครดิตและยังต้องเสียค่าปรับด้วยเช่นกัน ในสมัยหนึ่งเช่น เมื่อเกิดวิกฤติพลังงานในช่วงปลายปี 70 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยเคยขาดสภาพคล่อง แทบไม่มีเงินคงคลังเหลือจนกระทั่งต้อง freeze การรับข้าราชการใหม่ไปหลายปีมาก แต่เราก็บริหารประเทศจนรอดมาได้ มีเงินคงคลังเหลือเป็นแสนๆ ล้าน 

ในทางการเงิน เราต้องบริหารทุนหมุนเวียน (Working capital management) ให้เหมาะสมที่สุดให้มีต้นทุนเงินหมุนเวียนเฉลี่ย (Weighted average cost of capital: WACC) ที่เหมาะสม การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มากไปก็ไม่ดี เงินกู้คือหนี้สินนั้นก็มีต้นทุนคือดอกเบี้ยจ่าย ส่วนเงินกูหรือส่วนของเจ้าของก็มีต้นทุนเช่นกันคือการจ่ายเงินปันผล หากกู้เงินมาแล้วหารายได้เข้ามาได้มากเพียงพอก็ไม่เป็นปัญหา หากมีแต่เงินสดไว้มากมายไปด้วยเงินสด เงินสดเหล่านั้นได้ดอกเบี้ยต่ำมากก็ไม่งอกเงยเท่าไหร่นัก ทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน เพราะจะทำให้ปันผลลดลงเนื่องจากกิจการไม่ขยายตัว และไม่มีรายได้มาเพียงพอ ในบางครั้งจำเป็นที่จะต้อง leverage โดยกู้เงินบ้างเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเช่นกัน 

แล้วเงินคงคลังลดลงไปไหน เพราะเหตุใด?

ประการแรก รัฐบาลอาจจะมีเงินได้ลดลง เก็บภาษีได้ลดลง อันอาจจะเกิดจากปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ที่มีผลกระทบกับ GDP และการจัดเก็บรายได้อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายได้ในปี 59 กับ ปี 60 นั้นลดลงเพียงสามหมื่นล้าน ซึ่งไม่มากพอที่จะทำให้ระดับเงินคงคลังหายไปถึงสามแสนล้านได้แต่ประการใด


ประการที่สอง รัฐบาลอาจจะมีรายจ่ายมากเกินไป ใช้จ่ายมากเกินไป ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณเจ็ดหมื่นล้าน ซึ่งอาจจะมาจากการจ่ายเงินชดเชยการขาดดุลโครงการรับจำนำข้าวนับแสนล้าน หรือ การสำรองงบประมาณไว้ซื้อเรือดำนำตามที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลออกมาโจมตีก็ได้ เรื่องนี้รัฐบาลคงต้องชี้แจง ซึ่งในปี 2560 มีการตั้งงบประมาณแผ่นดินขาดดุลเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนล้าน

ประการที่สาม รัฐบาลตัดสินใจกู้เงินลดลง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลไว้อย่างชัดเจนมาก โดยตัดสินใจถือเงินสดให้ลดลง ไม่ไปกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และลดการกู้เงินลดไปกว่าหนึ่งแสนหกหมื่นล้านเมื่อเทียบกับปี 2559 ทั้งนี้กระทรวงการคลังคงวิเคราะห์แล้วว่าการถือเงินสดไว้มากไม่ได้ดอกเบี้ยเพิ่มมากแต่อย่างใด และไม่มีเหตุอันสมควรจะไปกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล เพราะจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าโดยเหตุอันไม่สมควร 
อ่านรายละเอียดค่ะ
http://m.manager.co.th/Daily/detail/9600000013680
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่