ภูมิปัญญาชุมชนแห่งธรรมชาติ “บ้านคีรีวง”



“จังหวัดนครศรีธรรมราช” เมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา หลายคนคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแสความนิยมจตุคามรามเทพของจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้นได้รับความนิยมมากแค่ไหน และคงไม่มีคนไหนกล้าปฏิเสธความศรัทธาของประชาชนคนไทยที่มีที่พึ่งทางใจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในช่วงขาลง แต่ทว่าของดีในจังหวัดนครฯ ไม่ได้มีกลิ่นอายแห่งความศรัษธาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอย่างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่าวัดพระมหาธาตุเพียงเท่านั้น

หากใครได้มีโอกาสมาเยือนเมืองทางวัฒนธรรม ซึ่งกำลังเข้าสู่การเป็นแหล่งมรดกโลก การได้มาสัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 300 ปี อย่าง “บ้านคีรีวง” หลายคนคงอาจเคยได้ยินชื่อบ้านคีรีวงจากข่าวที่หมู่บ้านแห่งนี้ประสบอุทกภัยใหญ่ 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2505 จากวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก ต่อมาในปี 2518 อีกครั้งกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2531ที่หมู่บ้านคีรีวงถูกน้ำพัดหายจนราบคาบไปกว่า 100 หลังคาเรือน เหลือแต่เพียงพระอุโบสถของวัดคีรีวงที่ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ถูกน้ำพัดพาไป จนปัจจุบันได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว



เดิมบ้านคีรีวงเมื่อก่อนหน้านี้ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านขุนน้ำ” เพราะเป็นชุมชนที่อยู่ต้นน้ำในอดีตมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า คนที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นทหารกลุ่มหนึ่งที่หนีจากการไปรบที่เมืองชัยบุรี ซึ่งก็คือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน เมื่อก่อนตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ให้ทหารในเมืองนครศรีธรรมราชไปรบที่เมืองชัยบุรี แต่มีทหารกลุ่มหนึ่งได้หนีทัพเดินลัดเลาะตามลำคลองมาจนถึงทางขึ้นเขาหลวง จนมาตั้งรกราก และใช้ชีวิตความเป็นอยู่ด้วยการทำสวน ซึ่งเป็นสวนที่ปลูกเลียนแบบธรรมชาติ รวมรวบเอาผลไม้ทุกชนิดไว้ในสวนเดียวกันอย่าง ทุเรียน มังคุด ลางสาด จำปา หมาก สะตอ และพืชสมุนไพร ฯลฯ ชาวบ้านเรียกการทำสวนแบบนี้ว่า “สวนสมรม”

“สวนสมรม” มีเอกลักษณ์พิเศษที่แตกต่างจากสวนผลไม้อื่นๆ ทั่วไป ด้วยแนวความคิดของชาวบ้านคีรีวงที่นำเอาพืชไม้ผลหลากหลายสายพันธุ์มาปลูกรวมไว้ภายในสวนแห่งเดียว ด้วยความแตกต่างและวิธีการปลูกพืชพรรณที่ไม่เหมือนใคร หากเข้าไปในสวนสมรมมองถ้าดูเผินๆ แทบแยกไม่ออกระหว่างสวนกับป่านั้นไม่มีความแตกต่างกันเลย ยิ่งถ้าไม่มีความรู้ทางกายภาพต้นผลไม้ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรก็อาจจะไม่รู้เลยว่าบริเวณนี้เป็นสวนผลไม้ สาเหตุที่ชาวบ้านทำสวนสมรมแบบนี้เพราะคนต้องการที่จะอยู่กับธรรมชาติ ด้วยการทำสวนผลไม้ผสมผสานกับผืนป่าเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ จึงไม่ถางป่าออก โดยเลือกปลูกพันธุ์พืชต่างๆ แซมไปกับต้นไม้ที่มีอยู่เดิมจึงมองเหมือนสวนในป่าใหญ่



นอกเหนือจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชาวบ้านคีรีวงยังคงยึดถือปฎิบัติในการดำรงชีวิตจากการปลูกสวนสมรมแล้ว จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Thailand Tourism Awards)ประเภทเมืองและชุมชน ประจำปี 2541 นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวแบบเชิงนิเวศตั้งแต่การเดินป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สู่ยอดเขาหลวงบนความสูง 1,835 เมตร หรือเลือกชมความงามของน้ำตกรอบอุทยาน ซึ่งจะได้สัมผัสวิถีชาวบ้านอย่างใกล้ชิดพร้อมที่พักแบบโฮมเสตย์ที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ  

แต่สิ่งที่เชิดหน้าชูตาคงจะเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว อย่างหัตถกรรมจากกลุ่มมัดย้อม โดยเป็นการรวมตัวของคนในชุมชนร่วมทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งกลายเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝาก อาทิ สมุนไพร เครื่องจักสานกะลามะพร้าว น้ำผลไม้ ไวน์ ทุเรียนกวน เป็นต้น



เส้นทางไปบ้านคีรีวงจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4016 เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 4015 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 9 เลี้ยวขวาเดินทางอีกประมาณ 9 กิโลเมตร หากเห็นป้ายทางเข้าออกที่ออกแบบเป็นเสาแท่งปูนสูงหลายต้น พร้อมมีอักษรที่เขียนว่า ยินดีต้อนรับ หมู่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงว่าคุณได้ไปถึงที่หมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่