ซาราวักและศักดินาบรู๊ก

......

    

     ซาราวักเป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งอำนาจการปกครองในตอนนี้เป็นของสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ก่อนหน้านี้ดินแดนซาราวักตกเป็นอาณานิคมอย่างประหลาดๆให้กับ"ราชาผิวขาว" ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1841-1946 ดินแดนซาราวักตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของตระกูลบรู๊ก และมีการสืบทอดตำแหน่งปกครองดินแดนไปถึง 3 ชั่วคน


    เจมส์ บรู๊กเป็นนายทหารเก่าของอีสต์อินเดียกอมปะนี ซึ่งหลังจากออกจากราชการทหารก็ได้ผันตัวเองเป็นนักเดินทาง เขาได้ซื้อเรือส่วนตัว(เรือใบสคูนเนอร์-142 ตัน)และล่องจากสิงคโปร์มายังเกาะบอร์เนียวในปีค.ศ.1838 เทียบท่า ณ เมืองคุชิงทางตะวันตกสุดของซาราวัก


     เกาะบอร์เนียวนั้นในขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรบรูไนอันมีสุลต่านเป็นประมุข บรูไนนั้นครอบครองพื้นที่แบบ thalassocracy คือครอบครองเฉพาะบริเวณผืนน้ำและริมชายฝั่ง ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ข้างในบริเวณเกาะ ดังนั้นเกาะบอร์เนียวจึงอุดมสมบูรณ์มาถึงทุกวันนี้ การปกครองแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเส้นทางการค้าเป็นสำคัญ ไม่ได้สนใจที่ดินครอบครองสักเท่าไหร่นัก ซึ่งบรูไนมีรายได้หลักมาจากการเป็นเส้นทางการค้าของพ่อค้าจีนและอาหรับ จนนำไปสู่การเปลี่ยนไปนับถือมุสลิมด้วยนั่นเอง


     เจมส์ บรูกส์มาถึงก็เข้ามาในยุคของสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดินที่ 2 ผู้ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งสุลต่านได้ไม่ถึงปี ในช่วงนั้นบรูไนมีปัญหากับกลุ่มโจรสลัดซูลูที่เข้ามาก่อกวนเส้นทางการค้า ขณะที่อยู่ที่ซาราวัก บรู๊กได้พบกับลุงของสุลต่านนามว่าแพงเจรัน มูดา ฮาชิม ซึ่งได้ขอให้บรู๊กช่วยขจัดเหล่าโจรสลัดซูลูและช่วยสงครามกลางเมืองกับชนเผ่ามาเลย์พื้นเมือง ซึ่งบรู๊กก็ช่วยทำภารกิจนี้เป็นอย่างดี ในปีค.ศ.1842 บรู๊กได้รับมอบตำแหน่งราชาแห่งซาราวักจากสุลต่านจากความร่วมมือที่ดีของเขา ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของบรู๊กก็คือการขอความร่วมมือไปยังกองทัพเรืออังกฤษ ในเวลานั้นลูกเรือกองทัพเรืออังกฤษได้ค่าหัวตอบแทนเป็นครั้งๆในการจับโจรสลัด และได้รับสิทธิในการขายเรือโจรสลัดที่ยึดมาได้


     แต่กองทัพเรืออังกฤษไม่ได้มาช่วยบรูไน เป้าหมายที่แท้จริงคือการครอบครองดินแดน กองทัพเรืออังกฤษสังหารเจรัน มูดา ฮาชิมผู้ที่ช่วยให้บรู๊กได้ตำแหน่งราชาแห่งซาราวักและญาติสุลต่านคนอื่นๆ ที่สุดก็ควบคุมตัวสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดินที่ 2 ไว้ได้และบังคับสุลต่านให้ทำสนธิสัญญาลาบวนเพื่อมอบพื้นที่เกาะลาบวนให้แก่สหราชอาณาจักร ซึ่งเกาะลาบวนถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเส้นทางการค้าของบรูไน คือเป็นที่พักเดินเรือระหว่างบอร์เนียวและมะนิลา(เดิมเป็นพื้นที่ในครอบครองของบรูไนแต่ต้องยอมยกให้สหราชอาณาจักรไปก่อนหน้านี้)


     ส่วนบรู๊กได้ต่อรองกับทางสหราชอาณาจักรในสิทธิและข้อตกลงเกี่ยวการครอบครองซาราวัก จนในที่สุดก็ได้ผลมาว่าบรู๊กสามารถครอบครองซาราวักได้แบบเบ็ดเสร็จคือสามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้โดยไม่ขึ้นกับราชอาณาจักรอังกฤษโดยตรง แต่ในทางลับๆแล้วบรู๊กก็คือนายหัวเมืองผู้ปกครองเกาะบอร์เนียวในการรับรู้ของราชสำนักอังกฤษ ซึ่งบรู๊กได้เข้ารับตำแหน่งอัศวินในปี 1848 (Order of the bath,KCB)


     แต่ฉากหน้าซึ่งคือการดำรงตำแหน่งราชาแห่งซาราวัก บรู๊กได้ขยายเขตแดนซาราวักกินดินแดนของสุลต่านอย่างต่อเนื่อง ในปี 1855 เจ็ดเขตจากสามาระฮันถึงระยางตกเป็นของราชอาณาจักรบรู๊ก และบางส่วนอีกในปีค.ศ.1861


     เจมส์ บรู๊กเสียชีวิตในปีค.ศ.1868 และได้หลานชายของเขาชาร์ลส์ บรู๊กขึ้นมาสืบทอดอำนาจเป็นราชาแห่งซาราวักต่อไปอีกกว่าครึ่งศตวรรษ และได้ขยายดินแดนกินพื้นที่ราชอาณาจักรบรูไนในเกาะบอร์เนียวต่อไปเรื่อยๆ จากสาเหตุนี้เองที่ทำให้ประเทศบรูไนกลายเป็นประเทศเล็กๆไปในภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ส่วนชาร์ลส์ บรู๊กได้ตำแหน่งอัศวินในปีค.ศ.1888 (Order of St Michael and St George ,GCMG) ในฐานะนายประจำเมืองแห่งเกาะบอร์เนียวตามความรับรู้ของอังกฤษ แต่ซาราวักก็ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแต่อย่างใด หากแต่เป็นประเทศของบรู๊กเองเห็นได้จากการทำหนังสือพิมพ์ Sarawak Gazette เป็นหนังสือ พิมพ์บอกข่าวภายในพื้นที่ซาราวักเอง ซึ่งถ้าเป็นดินแดนในครอบครองของสหราชอาณาจักรจะไม่ทำแบบนี้


     หลังจากชาร์ลส์ บรู๊กลงจากตำแหน่งก็ได้รับการสืบทอดต่อโดยลูกชายของเขาชาร์ลส์ วีเนอร์ บรู๊กในปีค.ศ.1917 ซึ่งในยุคชาร์ลส์ วีเนอร์ได้มีจุดพลิกผันเกิดขึ้นคือสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าสู่เกาะบอร์เนียวในปีค.ศ.1941 และทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของราชอาณาจักรบรู๊กซึ่งเขาไม่มีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่จะซ่อมแซมไหว เขาจึงเลือกที่จะยกซาราวักให้เป็นเขตพื้นที่การปกครองของอังกฤษในปีค.ศ.1946 แต่น้องชายและหลานของเขาไม่เห็นด้วยจึงได้ปลุกระดมให้ชาวเมืองซาราวักต่อต้านการตัดสินใจครั้งนี้


     และเมื่ออังกฤษส่งคนของทางการอังกฤษเข้ามาปกครองคือนายดันแคน จอร์จ สจ๊วต ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่ถูกปลุกระดมจากน้องชายและหลานของชาร์ลส์ วีเนอร์ก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นคือนายดันแคนถูกลอบสังหารในขณะที่ปรากฎตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรก ทางการอังกฤษจึงเจรจากับน้องชายของวีเนอร์ให้วางมือเสีย ซึ่งเขาก็ยินยอมทำตามและยอมสลายม๊อบในปีค.ศ.1951


     เป็นการปิดฉากการปกครองในยุคของราชอาณาจักรบรู๊ก "ราชาผิวขาว" อย่างถาวร

________________________________

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ https://m.facebook.com/noktamraa/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่