[CR] ๑ วันอันแสนพิเศษ กับสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า ณ บ้านสวนสมุทรสงคราม เรือนไทย ที่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ของเมืองสมุทรสงคราม

๑ วันอันแสนพิเศษกับสถานที่ที่เปี่ยมด้วยคุณค่า ณ บ้านสวนสมุทรสงคราม Baan Suan Samut Songkhram :  The Old Siam Life Museum  เรือนไทย ที่มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี ของเมืองสมุทรสงคราม เมืองแห่งวิถีไทยที่น่าสืบสาน ซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าวที่ร่มรื่น


    ใน ๑ วันนี้พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวดีๆของบ้านสวนสมุทรสงคราม Baan Suan Samut Songkhram :  The Old Siam Life Museum  ในรูปแบบต่างๆรวมทั้งคุณค่าและหน้าที่ของสิ่งต่างๆรอบบ้านเรือนไทย
             เริ่มต้นพวกเราทั้งหมดได้เดินทางออกจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ในช่วงเวลา ๐๘.๐๐ น. และถึงบ้านสวนสมุทรสงครามของ ดร.พจน์  ในเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. เมื่อเดินทางมาถึงยังบ้านสวนสมุทรสงคราม Baan Suan Samut Songkhram :  The Old Siam Life Museum  ดร.พจน์  ได้แนะนำ และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสมุทรสงคราม ว่า “ความสำคัญของจังหวัดสมุทรสงครามนั้นมีหลายประการ ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การดำรงชีวิตไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบไทยๆ และที่สำคัญเหนืออื่นใด คือ ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ของไทย จังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และเป็นเมืองของพระราชินีของไทยถึงสองพระองค์ คือ
              ๑. สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑  และ
              ๒. สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒
             เนื่องจากพื้นที่เมืองสมุทรสงครามส่วนใหญ่อยู่ ๒ ฟากแม่น้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนานาชนิด ขณะเดียวกันก็อยู่ติดอ่าวไทยทำให้ทำการประมง และได้ผลต่อเนื่องจากทะเลได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่ามีผลิตผลครบถ้วนทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม”
เมื่อทำการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของจังหวัดสมุทรสงครามเรียบร้อย  ดร.พจน์ ได้พาพวกเราเข้าเยี่ยมชมภายในเรือนไทย และบอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆในฐานะที่เป็นชาวสมุทรสงครามทั้งเชื้อสายของคุณพ่อและคุณแม่ ตั้งรกรากอยู่เมืองนี้มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอย่างยิ่ง

บ้านเรือนไทยเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทยที่สะท้อนภาพชีวิตแบบไทย ทั้งในด้านความเป็นอยู่ ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อ ลักษณะของสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนไทยหลังนี้บูรณะขึ้นจากเรือนไม้ที่มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี ในการสร้างขึ้นมา ชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ทั้งด้านการช่างที่ต่างมีอยู่ในสายเลือด  มีความสามารถในการออกแบบและสร้างบ้านที่ปลูกขึ้นเพื่อประโยชน์และความต้องการใช้สอย  ขณะเดียวกันก็เป็นบ้านในแบบที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การออกแบบให้เป็นบ้านไม้หลังคาทรงสูง เพื่อให้อากาศภายในลอยตัวอยู่ มีชานเปิดโล่ง ทำให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ใต้ถุนเรือนโปร่งสบาย ทั้งลมจากใต้ถุนสูงที่พัดขึ้นมาข้างบนก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สายลมเย็นจะพัดผ่านในบ้านตลอดเวลาผ่าน ฝีมือช่างไทยที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏในบ้านเรือนไทยในสมัยก่อนนั้น แบบดั้งเดิม คือ การไม่ใช้ตะปู แต่จะตรึงติดด้วยเข้าไม้ เข้าเดือย ลิ้นไม้ ตั้งแต่การตรึงติดของจั่วและคาน จนถึงการทำบันไดบ้าน ในการปลูกบ้านไทยยังแฝงคติความเชื่อของเรื่องการวางทิศทาง การให้ความสำคัญของไม้แต่ละชิ้นที่ใช้ มีชื่อเรียกที่ชัดเจนหลายสิบชนิด และแต่ละชิ้นส่วนต่างมีความสำคัญ เป็นองค์ประกอบของตัวเรือนที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

      ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเสาเอก ว่า “เสาเอกนั้นมีความสำคัญต่อการปลูกเรือน  ความสำคัญของเสาเอกต้องทำด้วยวิธีที่มีมงคล โดยมีความเชื่อว่าการทำพิธียกเสาเอกจะทำให้งานก่อสร้างมีความราบรื่นไม่มีปัญหาและอุปสรรค ขณะเมื่อได้เข้าอยู่บ้านหลังที่สร้างแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นความเชื่อและเป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่ยึดถือสืบทอดกันมา”

      เรือนไทยบ้านสวนสมุทรสงคราม ได้จำลองวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวสมุทรสงครามเอาไว้ ภายในเรือนไทยมีห้องโถงขนาดใหญ่ แสดงนิทรรศการพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในการเสด็จประพาสต้น เมืองสมุทรสงครามไว้ให้ชมด้วย
      

       หลังจากที่ได้ชมนิทรรศการเสด็จประพาสต้น  ดร.พจน์ก็ได้นำพวกเราไปที่ท่าน้ำริมคลองท่าคา บริเวณหน้าเรือน อธิบายเรื่องการสัญจรทางน้ำเพื่อไปมาของผู้คนในอดีต รวมถึงรัชกาลที่ ๕ ที่ท่านได้เคยเสด็จฯมายังหมู่บ้านแห่งนี้  ผ่านบริเวณหน้าเรือนเมื่อคราว ร.ศ. ๑๒๓ และลำคลองนี้สามารถไปที่ตลาดน้ำท่าคา ตลาดน้ำวิถีชาวสวนที่มีมาตั้งแต่อดีตอยู่ใกล้ๆกันได้ หรือจะเลือกเดินผ่านทางเดินริมคลองอันร่มรื่น ก็ได้  ระหว่างที่พวกเราอยู่ที่ท่าน้ำก็มีเรือชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าพายขายพืชผัก ผลไม้ ของกินต่างๆผ่านไปมาเป็นระยะ สะท้อนวิถีไทยกับสายน้ำของเมืองสมุทรสงครามที่มีคลองเป็นจำนวนมาก
      พวกเราได้ขึ้นเรือนเพื่อเยี่ยมชมเรือนในแต่ละหลังในหมู่เรือนไทยทั้ง ๕ หลังที่เป็นเรือนเดิมของชาวสมุทรสงครามทั้งสิ้น  แต่ละหลังเป็นรูปแบบเรือนไทยที่ไม่ซ้ำแบบกัน มีลานไม้ขนาดใหญ่เชื่อมถึงกัน ในลักษณะของเรือนชาวสวนผู้มีอันจะกิน  แต่ละเรือนจัดออกเป็นสัดส่วนตามลักษณะของการใช้งาน เช่น การอยู่อาศัย พักผ่อน รับแขก และหอพระ เป็นต้น เราได้เห็นฝาเรือนแต่ละแบบ การสลัก เข้าไม้ กรอบประตู หน้าต่าง ช่องลม และการประดับลายไทยในฝาและโครงสร้างสำคัญของเรือนที่ได้จำลองวิถีความเป็นอยู่ชีวิตแบบไทยที่เรียบง่าย แต่มีวัฒนธรรมที่งดงาม ควรค่าแห่งการรักษาไว้  ตู้เตียง ของใช้ เสื้อผ้า การแต่งกาย วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวสมุทรสงครามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน
        

มีต่อนะครับ
ชื่อสินค้า:   Baan Suan Samut Songkhram : The Old Siam Life Museum
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่