123Change - เผยความลับสวรรค์ รู้แล้วลดความอ้วนได้ไม่โยโย่

รู้ต้นเหตุของปัญหา เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกต้อง

คลิปจาก live on fanpage 123change วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 60
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ชอบกด like ใช่กด share ไม่อยากพลาดข้อมูลดีๆ กด sub-scribe กันไว้นะครับ

บทความ เรียบเรียงจากคลิป

ผมคนนึงนี่แหละที่มีประสบการณ์ลดความอ้วนแบบลดได้สักพักก็กลับมาอ้วนยิ่งกว่าเดิม แล้วก็ลดใหม่ อ้วนใหม่ ซ้ำๆ วนไปมาหลายต่อหลายรอบ เพราะเชื่อการลดความอ้วนตามทฤษฎีดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นจำกัดแคลต่ำๆ โหมใช้พลังงานเยอะๆ เบิร์นให้มากเข้าไว้แล้วจะดีเอง จนพอได้เข้าใจกลไกของร่างกายเรื่องนี้เข้า จึงทำให้ปริศนาทุกอย่างไขกระจ่าง แล้วพอปรับวิธีการก็กลายเป็นลดความอ้วนได้แล้วหุ่นไม่ดีดกลับขึ้นมา แต่มีแนวโน้มที่จะเฟิร์มขึ้นเรื่อยๆ

ตัวการที่ทำให้คนเข้าใจและลงมือลดความอ้วนแบบผิดๆ หรือความลับสวรรค์ที่จะเปิดเผยคือ คำว่า “ลดน้ำหนัก”

ซึ่งเกิดจากการชั่งวัดแบบเก่าๆ ใช้การชั่งน้ำหนักโดยรวมเป็นหลัก เลยทำให้เรายึดติดกับคำว่า “ลดน้ำหนัก” แทนที่จะเป็น “ลดความอ้วน” หรือ "ลดไขมัน" ทั้งๆ ที่เวลาคนทักเราว่าอ้วน นั่นคือ ขนาดรูปร่าง ไม่ใช่ว่าเค้าจับเราไปชั่งน้ำหนัก บางคนอาจรู้สึกว่า ทำไมผมถึงเน้นเรื่องนี้บ่อยจัง ทั้งๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย ก็สิ่งที่ไม่มีอะไรนี่แหละครับ ที่มันมีอะไรเยอะทีเดียว มันเหมือนกับกับดักที่เราไม่ทันมองเห็นน่ะแหละครับ

การติดกับดักคำว่า “ลดน้ำหนัก” มันเป็นปัญหายังไงหรอ???

เมื่อเราติดกับดัก “ลดน้ำหนัก” เราจะโฟกัสผิดประเด็นแล้วลงมือทำสิ่งต่างๆ ผิดทาง บางครั้งเหมือนจะถูกแต่ก็โดนสับขาหลอกให้เสียเวลาเหมือนจะลดได้แล้วดันกลับมาอ้วนใหม่ยิ่งกว่าเดิมก็มี

เพื่อให้เข้าใจว่า “ลดน้ำหนัก” เป็นปัญหายังไง ผมจำลองให้เห็นภาพ แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า ร่างกายของเราประกอบไปด้วย กระดูก กล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ (น้ำนี้นอกจากจะเป็นเลือด น้ำเหลือ เหงื่อ ปัสสาวะแล้ว ยังเป็นน้ำภายในเซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์กล้ามเนื้อด้วย) ปริมาตรต่อน้ำหนักขององค์ประกอบในร่างกายเรามีสัดส่วนที่ไม่เท่ากันนะครับ

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ด้วยน้ำหนักที่เท่ากันไขมันจะมีลักษณะนุ่มย้วยดึ๋งดั๋งและมีขนาดใหญ่กว่ากล้ามเนื้อที่แข็งกระชับ 2-3 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้กล้ามเนื้อยังมีหน้าที่ที่สำคัญคือเป็นตัวเผาผลาญพลังงาน ยิ่งมีกล้ามเนื้อเยอะก็แปลว่าเรายิ่งมีตัวเผาผลาญพลังงานเยอะนั่นเอง

ภาพจำลองนี้เป็นองค์ประกอบของร่างกายโดยสมมติที่น้ำหนักตัว 50 ก.ก. ซึ่งผมใช้แต่ละไอคอนแทนขนาด(ปริมาตร) ของแต่ละองค์ประกอบที่ 1 ก.ก. เท่ากัน (หมายเหตุ เป็นการประมาณการแบบคร่าวๆ เพื่อความเข้าใจ ไม่เหมาะนำไปอ้างอิงทำรายงานส่งอาจารย์ และขนาดของน้ำกับกระดูกก็ไม่ได้สัดส่วนตามจริงเนื่องจากไม่ใช่ส่วนที่จะนำมาพูดถึง) ถ้าเราดูภาพเผินๆ เราจะนึกว่ามีน้ำหนักของไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ แต่ถ้าลองนับดีๆ จริงๆ เรามีกล้ามเนื้อมากกว่าไขมันนะครับ ในภาพนี้แทนน้ำหนักตัว 50 ก.ก. โดยมีกระดูก 3 ก.ก. น้ำ 27 ก.ก. กล้ามเนื้อ 12 ก.ก. ไขมัน 8 ก.ก. ส่วนคนที่อ้วนมากๆ ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นส่วนของไขมันล้วนๆ เพราะกระดูกเราก็ไม่ได้จะใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อก็ไม่ได้สร้างขึ้นตาม

ในวันที่เราคิดว่าอยากลดความอ้วน แต่เราไปโฟกัสที่คำว่าน้ำหนักเป็นหลัก และเราใจร้อนอยากลดเร็วๆ ทั้งที่ตอนที่อ้วนก็ค่อยๆ อ้วนขึ้นมาใช้เวลาสะสมไขมันกันมาเป็นปีๆ ดังนั้นเราก็จะใช้วิธีการเหล่านี้

1. ลดน้ำหนักโดยการลดน้ำในร่างกาย
เราสามารถเอาน้ำออกไป 10 ก.ก. ได้อย่างรวดเร็ว เช่นทำให้เหงื่อออกหรือปัสสาวะเยอะๆ ท้องเสีย กินยาขับปัสสาวะ ซึ่งแน่นอนว่าน้ำหนักหายไปเร็ว แต่ก็เพิ่มกลับมาได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะโครงสร้างอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิม วิธีนี้มักพบในนักมวยที่ต้องกายลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือผลจากการกินอาหารเสริมที่แอบแฝงยาขับปัสสาวะ เพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ล่อลวงให้คนกินหลงเชื่อว่าลดน้ำหนักได้ผลจริงๆ ด้วย แต่รูปร่างก็จะยังคงอ้วนอยู่แต่เหี่ยวและโทรม เพราะน้ำในเซลล์หายไป เหมือนลูกโป่งใส่น้ำที่ถูกปล่อยน้ำออกนั่นเองครับ

2.ลดน้ำหนักด้วยการกินน้อยแล้วโหมออกกำลังกายหนัก

แบบอดอาหาร จำกัดแคลลอรี่ต่ำ เน้นออกกำลังกายเน้นแบบเบิร์นอย่างเดียว เป็นวิธีสุดคลาสสิคที่เข้ามาในความคิดของทุกคนแน่ๆ เพราะทฤษฎีใช้พลังงานออกให้มากกว่าพลังงานเข้า เป็นที่นิยมและแพร่หลาย ฟังดูแล้วสมเหตุสมผล ดูบวกลบเป็นคณิตศาสตร์ง่ายๆ

แต่ทฤษฎีนี้ถูกเพียงส่วนเดียว ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด และหากโฟกัสที่แคลลอรี่เป็นสำคัญจะเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ ตามมา

เพราะว่าร่างกายของเรามีกลไกที่ซับซ้อนในการเก็บพลังงานและใช้พลังงาน โดยร่างกายจะใช้พลังงานทั้งจากน้ำตาลในกระแสเลือด ไกลโคเจนจากกล้ามเนื้อ ไขมันสะสม

ถ้าให้เทียบรูปแบบการใช้พลังงานให้เข้าใจง่าย ให้เทียบกับการก่อกองไฟที่ใช้ฟาง กิ่งไม้ และท่อนฟืน โดยฟางที่เผาไหม้ได้ง่ายนั้นเหมือนน้ำตาลในกระแสเลือดที่นำมาใช้อย่างรวดเร็ว ส่วนกิ่งไม้ที่เผาไหม้ได้เมื่อมีการโหมไฟมากขึ้นก็คือไกลโคเจนจากกล้ามเนื้อที่จะถูกดึงเอามาใช้งานเวลาร่างกายมีการโหมใช้พลังงานสูงอย่างรวดเร็ว ส่วนท่อนฟืนที่เผาไหม้ยากต้องใช้เวลาสุมไฟนาน แต่เมื่อติดแล้วก็จะติดนานคือไขมันสะสมในร่างกาย ที่มีการใช้งานลำดับสุดท้าย แต่ก็ค่อยๆ เผาไหม้ในช่วงแรกๆ เช่นกัน ไม่ใช่ว่าใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหมดแล้วเปิดก็อกถัดๆ ไปนะครับ

ดังนั้นเมื่อเรารับพลังงานเข้าน้อยแต่โหมใช้พลังงานมาก จะทำให้องค์ประกอบในร่างกายเป็นอย่างในภาพคือ ไขมันหายไป กล้ามเนื้อหายไป และน้ำหายไปด้วย คนที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็จะกระหยิ่มยิ้มย่องดีใจว่ามาถูกทาง เพราะลดน้ำหนักได้แล้วแถมสัดส่วนยังลดลงด้วย แต่ในความเป็นจริงเรากำลังติดกับดัก

กับดักนั้นคือ กล้ามเนื้อที่หายไปหมายถึงตัวเผาผลาญพลังงานที่หายไป

เพราะถ้าเราอยากจะลดลงไปอีกเรื่อยๆ พลังงานที่กินเข้าไปต่อวันก็จำเป็นต้องลดตามลงไปเรื่อยๆ ตามที่ตัวเผาผลาญหายไปด้วยเช่นกัน นั่นเป็นสาเหตุว่า ถ้าเรากินเท่าวันแรกที่เริ่มลดความอ้วน สักพักร่างกายจะเข้าสู่สภาวะน้ำหนักคงที่ และเมื่อเรากลับมากินเท่าก่อนลดน้ำหนัก (ซึ่งมันจะเกินกว่าที่ควรได้รับสำหรับร่างกายที่ปรับตัวลงแล้ว) ก็จะทำให้อ้วนขึ้นใหม่ได้เร็ว โดยการอ้วนขึ้นใหม่นี้จะเป็นไขมันที่สะสมเพิ่มขึ้นมาแต่กล้ามเนื้อกลับไม่ได้คืนกลับมาด้วย เหมือนภาพประกอบข้างล่างนี้

และโดยธรรมชาติ คนเราก็ยากที่จะควบคุมจิตใจให้ทนทรมานต่อความหิวได้นาน รวมถึงยังติดความสนุกสนานในการกิน ก็จะทำได้น้ำหนักดีดกลับมารวดเร็วเหมือนภาพด้านล่าง

ทั้งๆ ที่น้ำหนักกลับมา 50 ก.ก. ตามเดิมแต่ที่เพิ่มเติมคือขนาดตัวที่อ้วนขึ้นจากขนาดไขมันล้วนๆ กล้ามเนื้อกับน้ำ (ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเซลล์กล้ามเนื้อ) จะกลับมาหน่อยเดียวและจริงๆ แล้วกล้ามเนื้ออาจจะไม่กลับมาเลยด้วยซ้ำ พอเป็นอย่างนี้ทำไงล่ะ ก็กลับไปใช้วิธีเดิม เพราะมันเคยทำสำเร็จมาแล้วหนิ ครั้งนี้ก็ต้องสำเร็จอีก พอทำแล้วก็เข้ากลไกตามเดิมคือไขมันหายแต่กล้ามเนื้อและน้ำก็หายด้วย จนได้ผลดังนี้

ปรับภาพใหม่ให้ดูง่ายเพื่อเทียบขนาดรูปร่าง จะเห็นว่ารูปร่างหรือขนาดตัวไม่ได้ลดลงมากจากช่วงแรก ทั้งๆ ที่น้ำหนักกลับลดลงเหลือ 40 ก.ก.

เนื่องจากกล้ามเนื้อหายไปมากขึ้นต้องยิ่งคุมอาหารมากขึ้นอีก ต้องเบิร์นเพื่อใช้พลังงานมากขึ้นอีก จนทำระดับนึงแล้วก็จะรู้สึกเหนื่อยยากมากกว่าครั้งก่อนหน้า คิดว่าทำไม่ได้ แก่แล้ว สังขารไม่เหมือนเมื่อก่อน ระบบเผาผลาญก็คงเสื่อมถอยแล้ว ไม่ดีเท่าตอนวัยรุ่น ก็ปล่อยน้ำหนักกลับมา 50 ตามเดิม แต่มันจะกลายเป็นน้ำหนักที่ขึ้นมาจากไขมันเหมือนรูปนี้ครับ

จะเห็นว่าถึงน้ำหนักดีดกลับมาที่ 50 ก.ก. แต่ร่างกายกลับขยายตัวอ้วนขึ้นจากไขมันที่ล้นทะลักและกล้ามเนื้อที่หายไป

ถ้าเรายังโฟกัสที่น้ำหนักก็จะไม่รู้สึกว่าผิดปกติอะไร เพราะยังน้ำหนักเหมือนตอนเริ่มต้นที่ 50 ก.ก. ถึงคนทักว่าอ้วนขึ้นเสื้อผ้าเก่าๆใส่ไม่ได้ แต่ก็จะบอกว่าไม่นะ น้ำหนักก็ยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าอยากจะลดน้ำหนักใหม่อีกรอบก็ลดลงยากกว่าเดิมมาก เพราะกล้ามเนื้อที่เป็นตัวช่วยเผาผลาญน้อยลง ไขมันสะสมก็ดันมีมากขึ้น แล้วก็ปล่อยให้ไขมันมันสะสมเพิ่มไปเรื่อยๆ จาก 50 ก.ก. ก็กลายเป็น 60 ก.ก. แบบมีแต่ไขมันสะสมเต็มตัว กล้ามเนื้อล่อยหลอจนมีสัดส่วนกล้ามเนื้อต่ำในที่สุด

3.แบบโฟกัสการลดไขมัน

แบบโฟกัสเอาไขมันออกและเน้นสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เป็นแบบที่ต้องใช้กำลังใจสูงแต่ลดความอ้วนได้ยั่งยืน เพราะในช่วงแรกไขมันหายไปบางส่วน กล้ามเนื้ออาจจะยังสร้างเพิ่มไม่ได้นักแต่ก็ไม่ได้หดหายไป รูปร่างก็จะยังไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงมากนักเช่นกัน ซึ่งหลายคนมักจะท้อแท้และรู้สึกว่าทำทุกอย่างมาเป็นเดือน น้ำหนักก็ไม่ลด รูปร่างก็ไม่ลดและอาจล้มเลิกไป
แต่ถ้าบางคนทำไปอีกสักพัก กินเวลาสัก 1-2 เดือน ผลก็จะค่อยๆ เป็นดังรูป คือน้ำหนักยังนิ่งๆ รูปร่างเล็กลงเล็กน้อย บางคนที่ไม่เข้าใจ ก็จะท้อแท้และล้มเลิกไปอีก แต่คนเข้าใจจะทำต่อเพราะรู้ว่าเกิดจากการที่ไขมันหายไป และมีการสร้างกล้ามเนื้อจากการเวทอย่างต่อเนื่อง

คนที่ทำต่อก็จะค่อยๆ สร้างกล้ามเนื้อเพื่อสะสมตัวช่วยเผาผลาญเพิ่มขึ้น และค่อยๆ ลดไขมันลดไปเรื่อยๆ ซึ่งกล้ามเนื้อจะสร้างได้ ก็เมื่อได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงย้ำว่าต้องกินให้อิ่ม ห้ามอด และกินครบทุกหมวดหมู่แต่เน้นโปรตีนมากเป็นพิเศษ กินคาร์โบไฮเดรทที่ดีเพื่อเป็นพลังงานในการสร้างกล้ามเนื้อ ไม่ได้ให้เน้นกินผักกินหญ้า เพราะผักหญ้าแต่เป็นตัวกากใยหลอกกระเพาะให้เต็มแต่ไม่ได้มาช่วยสร้างกล้ามเนื้อนั่นเอง (แต่ยังต้องกินผักนะครับ แค่บอกว่าไม่ใช่มัวกินแต่ผัก) และเมื่อทำไปเรื่อยๆ จะเกิดภาพนี้

ภายใต้น้ำหนัก 47 ก.ก. ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่รูปร่างจะเล็กลงและเฟิร์มขึ้น ซึ่งเกิดจากไขมันที่ลดลงแต่กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น นั่นคือเรามีตัวช่วยเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เมื่อเรายังคงกินแบบวันแรกที่เริ่มควบคุมอาหาร แต่ร่างกายจะยังคงลดไขมันอย่างต่อเนื่องได้ บางทีเมื่อเราหลุดในบางมื้อก็จะไม่กระทบกระเทือนให้เกิดโยโย่ตามมา

และถ้าเราสร้างกล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ เราจะได้น้ำหนักที่เพิ่มกว่าในตอนแรก (50 ก.ก.) แต่รูปร่างที่เฟิร์มด้วยอย่างเช่นรูปข้างล่างนี้ ขนาดรวมของร่างกายน้อยกว่า แต่น้ำหนักรวมมากกว่าตอนเริ่มต้นดังภาพด้านล่างนี้

นั่นเป็นที่มาของภาพยอดนิยมที่แสดงผลความไม่สัมพันธ์ระหว่างขนาดตัวและน้ำหนักที่เกิดจากปริมาณไขมันกับกล้ามเนื้อภาพนี้นั่นเอง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผมว่าถ้าเราเข้าใจกลไกต่างๆ จะทำให้เราหนักแน่นในสิ่งที่ทำแล้วทำให้รักษาระดับกำลังใจตลอดเส้นทางลดความอ้วนได้
และน่าจะช่วยตอบคำถามยอดนิยมอย่างเช่น อ้วนมากๆ ขอเบิร์นอย่างเดียวก่อนได้มั้ย ได้ด้วยนะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคนนะครับ สู้ๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่