เมืองเชียงใหม่(ล้านนา)เคยมีการต่อต้านการรวมประเทศกับสยามหรือไม่ ?

สงสัยว่า เมืองเชียงใหม่(ล้านนา)เคยมีการต่อต้านการรวมประเทศกับสยามหรือไม่ ตามความรู้ของผมซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกหรือไม่

ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 สยามยังปกครองล้านนาเชียงใหม่แบบประเทศราชอยู่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการรวมศูนย์อำนาจมาที่ส่วนกลางทั้งหมด

จะด้วยเพราะอะไรก็แล้วแต่ ทำไมคนเชียงใหม่ถึงยอมรวมกับสยาม ได้มีการต่อต้านหรือมีกองกำลังต่อต้านเพื่อจะแยกตัวหรือไม่ (เหมือนทางภาคใต้)

มีผู้นำหรือเจ้าเมืองที่ไม่ยอมรับหรือเปล่า

  จริงๆผมก็คนเหนือนะครับ อยากถามหาความรู้ซักหน่อยหาอ่านไม่ค่อยเจอ เท่าที่รู้มาสยามเคยยกทัพไปปราบกบฎเงี้ยว ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกันหรือไม่
ใครพอจะทราบหรือแหล่งข้อที่สามารถสืบค้นได้ช่วยบอกหน่อยยะครับ

ปล.พยามยามอย่าโยงสถาบันหรืออคติด้านการเมืองมากไปนะคับ เดี๋ยวกระทู้จะหาย
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 15
ข้อความข้างล่างนี้เป็นตอนหนึ่งของลายพระหัตถ์ที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เมื่อ ๘ กันยายน ๒๔๖๖  เมื่อคราวทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๖ ขอกู้ยืมเงินจากพระคลังจ้างที่เพื่อมาไถ่ถอนจำนองตลาดวโรรสจากผู้มีชื่อ  อ่านแล้วจะเห็นความขัดแย้งในวงญาติสกุล ณ เชียงใหม่  ลายพระหัตถ์นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ข้าราชการสยามขึ้นไปประจำที่เชียงใหม่  ต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยประสานประโยชน์ของ ณ เชียงใหม่เสมอๆ  ลายพระหัตถ์นี้จึงเป็นอีกตัวอย่างที่นักวิชาการล้านนามักจะไม่หยิบยกขึ้นกล่าวถึง

          "อีกประการหนึ่งพวกณะเชียงใหม่ของหม่อมฉัน  ก็ได้เคยเป็นข้าคู่พระบาระมีในพระบรมราชวงษ์มาแต่บรรพบุรุษย์  ได้รับพระมหากรุณาชุบเกล้า, ตลอดมาทุกๆ รัชการ  ให้รู้สึกเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง  ส่วนตัวของหม่อมฉัน  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  ก็ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อม  ยกย่องขึ้นไปยิ่งกว่าใครๆ ในสกุลนี้  ญาติพี่น้องแลผู้ขึ้นย่อมทราบกันได้ดี  เขาจึ่งได้ไปมาหาสู่หมายพึ่งพาอาศรัย  แลได้ตั้งใจอยู่เสมอที่จะบำรุงวงษ์ญาติตามความสามารถที่จะทำได้  จึ่งจำเป็นต้องทนรับภาระอันหนัก  หม่อมฉันจึ่งได้ไปรับรองกับขุนอนุสารไม่ให้เขาฟ้อง  เผอิญในเวลานั้นกรมกำแพง ก็อยู่ที่นี่ด้วย  หม่อมฉันจึ่งได้ทูลหาลือท่านว่า  อยากจะกู้เงินแบงก์  ท่านก็รับสั่งว่าเห็นจะได้  แลรับจะไปจัดการให้  แต่ท่านรับสั่งว่า  ที่ตลาดนี้ยังไม่มีโฉนดตราจอง  กลัวแบงก์จะไม่เชื่อ  ให้จัดการขอเสีย  หม่อมฉันจึ่งให้ราชบุตร์ทำคำร้อง  โดยได้หาลือเจ้าคุณอุปราช แล้ว (เพราะยังไม่เคยมีตัวอย่างขอพิเศษอย่างนี้เลย) ยื่นต่ออำเภอ  เขาก็ได้ตรวจทำแผนที่ออกประกาศ  จนเมื่อเจ้าพระยาพลเทพ ขึ้นมา  หม่อมฉันจึ่งได้พูดเตือนเจ้าคุณอุปราช  เพราะเป็นเวลาที่เจ้าคุณพลเทพอยู่ที่นี่  จะเป็นอย่างไรดีก็ให้รู้ไปเสีย  ประกาศมา ๒ เดือนกว่าแล้ว  ท่าเจ้าคุณอุปราชคงจะไปถามพระยาเพ็ชร์พิสัย   พระยาเพ็ชร์พิสัยจึ่งได้มาหาหม่อมฉันบอกว่า  เรื่องเจ้าราชบุตร์ขอใบจับรอง  อำเภอได้ยื่นต่อศาลารัฐบาลนานแล้ว  จนได้ทำเป็นใบบอกที่จะส่งไปยังกระทรวงเกษต  ตัวพระยาเพ็ชร์พิสัยก็ได้เซ็นแล้ว  แต่เดี๋ยวนี้ติดขัดเจ้าหลวงไม่ยอมเซ็น   หม่อมฉันจึ่งตกใจแลเสียใจมาก  ทำไมเจ้าหลวงจึ่งได้ชอบหลอกหรือพูดความเท็ดต่อหม่อมฉันเช่นนี้  เมื่อครั้งหม่อมฉันจะให้ในกรมกู้เงินแบงก์  ยังไม่กล้าทำไปโดยภาระตนเอง  ขณะนั้นท่านไม่อยู่เมือง  สู้อุส่าห์ไปบอกแม่เจ้า เพื่อเป็นพยาน  พอท่านกลับมาก็ไปหาท่านอีก  ได้นัดให้เจ้าราชภาคินัย  เจ้าราชภาติกวงษ์  เจ้าทักษิณ  พระนายกเสนี ไปด้วย  เพราะท่านพูดอะไรขี้มักลืมคำพูดเสมอ  ต้องหาคนไปเป็นพยาน  ๑ ได้ชวนให้ท่านเข้าหุ้น  ๒ อยากให้ท่านซื้อเอาไว้เสียเอง  ท่านก็ไม่ยอมทั้งสองอย่าง  ตอบแต่เพียงว่าอายุมากแล้ว  กู้เงินมากถึงสามแสน  กว่าจะใช้หมดก็ตายเสียแล้ว  จะเอามาเป็นประโยชน์อะไร  หม่อมฉันจึ่งย้อนว่า  ถึงไม่มีประโยชน์ส่วนตัว  ก็ยังมีประโยชน์ต่อวงษ์ญาติต่อไปภายน่า  ท่านก็เป็นประธานของสกุลณะเชียงใหม่  อ้อนวอนเท่าใดก็ไม่ยอมรับท่าเดียว  หม่อมฉันจึ่งถามท่านอีกว่า  ถ้าหม่อมฉันจะรับคนเดียวจะเป็นที่ติดขัดไหม  เพราะเมื่อกู้เงินหลวงคราวก่อน  ชั้นต้นท่านก็เห็นดีด้วยแล้ว  ครั้นภายหลังท่านกับพูดว่า มีท้องบัตร์ท้องตราอะไรต่ออะไรต่างต่าง  แต่คราวนี้ก็ต่อหน้าผู้คนหลายคน  ตามความจริงใจท่านมีอย่างไรขอให้ท่านพูดเสียให้ทราบ  ไม่ต้องเกรงใจหม่อมฉัน  ถ้าสิ่งไรท่านไม่เห็นดีแล้ว  หม่อมฉันไม่ฝ่าฝืนเลยเป็นอันขาด  ท่านก็ได้ตอบโดยอาการชุ่มชื่นว่า  ไม่ติดขัดอะไรทั้งหมด  จะทำอย่างไรก็ตามใจ  การกู้เงินแบงก์  กรมกำแพงรับเป็นธุระอยู่แล้ว  ท่านก็มีความยินดี  พวกที่ไปด้วยได้ยินกันอยู่ทุกคน  แต่เสียดายแท้ๆ ที่ไม่ได้บรรทึกไว้  โดยเหตุนี้  พอพระยาเพ็ชร์บอกว่าเจ้าหลวงไม่ยอมเซ็น  หม่อมฉันจึ่งได้เสียใจ  น้อยใจที่ท่านไม่พูดความจริงแก่หม่อมฉันเสีย  ถ้าท่านห้ามสักคำเดียวเท่านั้น  หม่อมฉันก็เลิกคิดการต้องไม่หลวมตัวเข้าไปถึงเพียงนี้  จะเว้นเสียจากการต่อว่าท่านไม่ได้  จะไปเองก็คงถึงวิวาทกันใหญ่โต  จึงให้นายน้อยบุญทวงษ์ไปถามท่านว่า  “จริงหรือที่ท่านไม่ยอมเซ็นใบจับจองที่เจ้าราชบุตร์ขออนุญาตไว้”  ท่านตอบว่า “จริง  เพราะท่านเห็นว่า  ที่ข่วงเมรุ์  จะเป็นมรฎกเจ้าราชบุตร์อย่างไรได้”  นายน้อยบุญทวงษ์จึ่งพูดอีก  “ก็เมื่อท่านเห็นว่าไม่เป็นมรฎกของเจ้าราชบุตร์แล้ว  ทำไมไม่บอกให้เจ้าในวัง เสียตามตรง”  ตอบว่า “ไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรกับเจ้าหน้อย ”  นายน้อยบุญทวงษ์จึ่งได้ตอบว่า “เจ้าในวังก็ได้สั่งมาว่า  ถ้าพ่อเจ้ายังมีความประสงค์อยากได้อยู่  ก็มีความยินดีอย่างที่สุด  เดี๋ยวนี้เจ้าในวังเกรงอย่างเดียวว่า  ถ้าเกิดฟ้องร้องกันขึ้นแล้ว  ก็จะต้องขายทอดตลาด  ลูกค้าทั้งหลายก็จะประมูลราคาต่ำที่สุด  เจ้าในวังไม่อยากให้ตกไปเป็นของคนอื่นเท่านั้น”  ตอบว่า  “ข้าไม่ต้องการแลไม่อยากเกี่ยวข้องเลย  จะตกไปเป็นของใครก็ตามเรื่อง  ได้พูดอยู่เสมอแล้วว่าไม่ต้องการ”  นายน้อยบุญทวงษ์จึ่งย้อนถามว่า  “ถ้าพ่อเจ้าไม่เซ็นเจ้าในวังจะได้อะไรไปเป็นประกันกู้เงินแบงก์”  ท่านตอบว่า “ข้อนั้นก็อาจเป็นได้  แต่ที่จะให้เซ็นนั้นไม่ยอม  ที่สุดเจ้าคุณสุรบดินทร์  หรือเจ้าคุณเสนาบดี จะมาบังคับ  ก็ไม่เซ็นเป็นอันขาด”  นายน้อยบุญทวงษ์เห็นหมดหนทางที่จะพูดกับท่านได้  จึ่งกลับมาบอกหม่อมฉัน  ขณะนั้นเจ้าพระยายมราช ก็ยังอยู่ที่นี่  หม่อมฉันถึงแม้จะน้อยใจแลโกรธท่านอยู่ก็ดี  ก็ไม่วายเป็นห่วง  เกรงว่าประเดี๋ยวจะไปขยายขี้เท่อโดยความเข้าใจผิดต่างๆ นาๆ แก่ใครๆ ต่อไปอีก

    จึ่งทนไปหาท่านเอง  ไปอธิบายถึงเหตุการณ์ที่ท่านทำไปโดยความเข้าใจผิดบ้าง  หลงลืมบ้าง  เชื่อคนอื่นบ้าง  ซึ่งทำให้เสียเกียรติยศของท่านเองหลายประการ  ๑ คือการที่ท่านหวังว่า  ตลาดรายนี้จะเป็นของเจ้าผู้ครองนคร  ก็เหตุใดท่านจึงไม่ร้องหรือเตือนไปยังกระทรวง  ๒. เมื่อเจ้าอินทร์ถึงแก่พิลาลัยใหม่ๆ  ราชบุตร์ก็ได้ไปขอคืนแก่ท่าน  เหตุใดท่านจึ่งไม่รับเสีย  แม้ว่าจะต้องเสียเงินเพียง ห้าหมื่นบาท ก็จะเป็นไรไป  นี่กลับไปทำเป็นหนังสือกู้  ตามธรรมดาการกู้เงินกัน  ถ้าผู้กู้มีเงินมาถ่ายก็ต้องยอมคืนให้เขา  ๓ เมื่อจวนสิ้นงวดนางใส  ท่านกลับมีจดหมายถึงราชบุตร์ว่า จะเอามาทำเอง  โดยอ้างท้องตราว่า  ที่รายนี้ควรจะเป็นของเจ้าผู้ครองนคร  จะเป็นความฝันของท่าน  หรือว่ามีท้องตราจริง  ท่านก็ไม่ได้นำท้องตราออกมาแสดงให้ใครเห็น  ๔ ข้อความที่ท่านพูดไว้แก่หม่อมฉันอย่างหนึ่ง  บัดนี้มากลับกลายอีกอย่างหนึ่ง  บรรดาผู้ที่ไปด้วยย่อมได้ยินได้กันหมดทุกคน  ท่านจะไม่มีความละอายแก่เขาบ้างเลยหรือ  ๕ ราชบุตร์ก็ได้ปกครองตลาดมาถึง ๑๔ ปี  ที่ท่านจะหวังว่าจะได้คืนมาโดยไม่ต้องเสียเงิน  มันพ้นสมัยจะเอาคืนได้เสียแล้ว  หม่อมฉันได้พูดอย่างจังๆ จนลืมว่าพูดกับพี่  นึกว่าจะถึงคราวต้องโกรธกันจนเข้าหน้ากันไม่ได้  แต่กลับตรงกันข้าม  พอหม่อมฉันอธิบายเหตุที่ท่านทำไปแล้ว  หน้าท่านก็สลดไปทันที  เลยยอมว่าท่านผิดจริง  เพราะมีคนมาพูดกับท่านมากนักจึ่งทำให้ใจเขว  หม่อมฉันจะว่าอย่างไรก็ยอมรับทั้งสิ้น  แต่ขออย่าให้โกรธเท่านั้น  แต่ที่จะที่ให้ท่านเซ็นหนังสือนั้น  ท่านเซ็นไม่ได้  เพราะท่านได้พูดกับพระยาเพ็ชร์พิสัยต่อหน้าคนทั้งหลายเสียแล้ว  กลับคืนไม่ได้  ให้เจ้าราชภาคินัยเซ็นแทน  ฝ่ายหม่อมฉันเมื่อได้เห็นหน้าท่านแลยอมรับผิดอย่างนี้แล้ว  เลยยกโทษ  หายโกรธทันที

    ที่หม่อมฉันพล่ามมามากมาย  แลเป็นความส่วนตัวระหว่างพี่น้องกันถวายมานี้  เพราะไม่ได้นึกอย่างหนึ่งอย่างใดเลย  ทั้งหม่อมฉันแลเจ้าหลวงก็ได้นับถือใต้ฝ่าพระบาทประดุจบิดา  ที่เล่าตามความจริง  เพื่อจะได้ทรงวินิจฉัย  ขอสาบาลถวาย  ต่อเกียรติยศพระพุทธเจ้าหลวงที่พระราชทานไว้  แลต่อสิ่งที่เคารพนับถือ  หม่อมฉันไม่ได้พูดโดยหวังดีใส่ตัวเอาชั่วให้ผู้อื่นเลย"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่