คิดค่าโทร.เป็นวินาที ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย / น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000002452


เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติเห็นชอบรายงานการศึกษาเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที และต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ในระยะแรกรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ผู้ให้บริการจัดทำโปรโมชันคิดค่าโทร.เป็นวินาทีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ในระยะที่สองต้องปรับแก้วิธีคิดค่าบริการให้เป็นวินาที โดยต้องทำให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน
       
       แม้ต่อมาผู้ให้บริการจะจัดทำโปรโมชันทางเลือกแบบคิดค่าบริการเป็นวินาที ซึ่งมีจำนวนน้อย และมีอัตราค่าบริการแพงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มีท่าทีที่จะดำเนินการต่อในระยะที่สองแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จึงได้มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ว่า ทางคณะกรรมาธิการได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรแก่เวลาที่ผู้ให้บริการจะคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเอง และเป็นไปตามที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ค่าโทร.บนคลื่น 900 และ 1800 MHz ที่จัดประมูลไปนั้นจะคิดตามจริงเป็นวินาที จึงขอให้เร่งรัดการคิดค่าโทร.เป็นวินาทีทั้งระบบโดยเร็ว
       
       ข้อเสนอเรื่องการคิดค่าโทร.ตามการใช้งานจริง จึงมีที่มาจากทั้ง สปช. และ สปท. โดยได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว มิใช่เป็นการเรียกร้องลอยๆ ของกลุ่มผู้บริโภคที่ขาดเหตุผลแต่อย่างใด
       
       ส่วนที่บางฝ่ายกังวลว่า ผู้ให้บริการจะได้ประโยชน์ และผู้บริโภคจะเสียประโยชน์หากคิดค่าโทร.เป็นวินาทีนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า หากผู้ให้บริการได้ประโยชน์จากการคิดค่าโทร.เป็นวินาทีจริงๆ คงแย่งกันทำเสียนานแล้วโดยภาครัฐไม่ต้องเสนอ เพราะเอกชนนั้นทำเพื่อประโยชน์หรือกำไรสูงสุดอยู่แล้ว แต่การที่เอกชนพากันคัดค้าน เพราะข้อเท็จจริงจากสหภาพยุโรปสรุปว่า ผู้ให้บริการได้ค่าบริการส่วนเกินจากการปัดเศษที่มากกว่าการใช้งานจริงไปถึง 24% การคิดค่าโทร.ตามจริงจะทำให้ผู้บริโภคได้เวลาคืนมาโดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หมายความว่าผู้ให้บริการจะขาดรายได้ที่ไม่เป็นธรรมจากที่เคยปัดเศษค่าโทร.นั่นเอง
       
       เรื่องการปัดเศษค่าโทร.นั้น ประเทศฝรั่งเศสได้บัญญัติห้ามในกฎหมายความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดิจิตอลตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และรัฐสภาสเปนได้บัญญัติห้ามในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2549 ส่วนโปรตุเกสได้บัญญัติห้ามไว้ในกฤษฎีกาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทางธุรกิจต่อผู้บริโภค
       
       จะเห็นได้ว่า การคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที หรือการห้ามปัดเศษค่าโทร. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิใช่ผู้ให้บริการ และการปัดเศษค่าโทร.นั้น กฎหมายในหลายประเทศถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
       
       ส่วนที่กังวลว่า ผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มโทร.สั้น ส่วนกลุ่มโทร.ยาวจะเสียประโยชน์นั้น คงจะเกิดจากความไม่เข้าใจวิธีการปัดเศษ ไม่ว่าจะโทร.สั้น หรือโทร.ยาว หากเกิดเศษวินาที ผู้ให้บริการจะปัดขึ้นทุกกรณี ดังนั้นทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์คือจ่ายน้อยลง หรือได้นาทีที่หายไปกลับคืนมา ผู้ที่โทร.บ่อยจะได้ประโยชน์มาก ส่วนผู้ที่โทร.น้อยก็จะได้ประโยชน์น้อยลงตามลำดับ เพราะจำนวนครั้งของการปัดเศษขึ้นกับจำนวนครั้งการโทร. ไม่ใช่จำนวนนาทีที่โทร.
       

       และที่บางฝ่ายเสนอว่า เป็นเรื่องล้าสมัย เพราะเราเข้าสู่ยุค 4G แล้ว คนใช้งาน Mobile Broadband มากขึ้น และได้โทร.ฟรีผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นั้น อาจจะเพราะมีฐานะดีและมีชีวิตในเมืองที่เจริญ แต่ลืมคำนึงถึงผู้บริโภคอีกหลายล้านคนที่ยังคงใช้การโทร.เป็นหลัก ดังเช่น ปรากฏการณ์ซิมดับภายหลังการประมูล ที่ผู้ให้บริการต้องแจกเครื่องฟรีหลายล้านเครื่องเพื่อให้ผู้บริโภคที่โทร.เพียงอย่างเดียวสามารถใช้งานต่อไปได้ ส่วนผู้ที่โทร.ผ่านแอปนั้น หากไปในต่างจังหวัดที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ก็จะไม่สามารถใช้งานลักษณะดังกล่าวได้เช่นกัน แต่การโทร.ผ่านระบบปกติยังใช้งานได้ดีอยู่ แม้แต่โปรโมชัน 3G หรือ 4G ของทุกค่าย ก็ยังผูกทั้งค่าโทร.และค่าเน็ตในโปรโมชันหลักของทุกค่าย เช่น โทร.ฟรี 500 นาที และเล่นเน็ตได้ 5 กิกะไบต์ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนาทีที่ให้โทร.ฟรีนั่นเองที่มีการปัดเศษ และทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากโทร.ได้ไม่ถึงจำนวนที่กำหนด โดยต้องจ่ายค่าโทร.เพิ่มนาทีละ 1.50 บาท ถูกเรียกเก็บเดือนละหลายร้อยบาท เพราะการปัดเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่โทร.บ่อยตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
       
       ดังนั้นหากผู้ที่มีชีวิตล้ำสมัยกว่าคนอื่นจะเข้าใจชีวิตของคนส่วนใหญ่ ก็คงจะเข้าใจความจำเป็นของแนวคิดการคิดค่าบริการตามจริง ที่ สปช. และ สปท. เสนอ
       
       และแนวคิดเรื่องการคิดค่าบริการตามจริงในหลายประเทศ เป็นไปตามหลักการว่า ผู้บริโภคไม่ต้องชำระค่าบริการในส่วนที่ไม่ได้ใช้บริการ ดังนั้นการปัดเศษอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วย หลายท่านที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ อาจไม่ทราบว่า ทุกครั้งที่เชื่อมต่อ ค่ายมือถือก็มีการปัดเศษจากกิโลไบต์เป็นเมกะไบต์เช่นกัน ซึ่งรุนแรงกว่าการปัดเศษวินาที เพราะการปัดเศษวินาที คือปัดให้เต็ม 60 วินาที อย่างเก่งคือปัดขึ้น 60 เท่า แต่การปัดเศษอินเทอร์เน็ตนั้น ปัดให้เต็ม 1,024 กิโลไบต์ คือปัดพันเท่า และเคยมีบางโปรโมชันที่ปัดเป็น 100 เมกะไบต์ด้วยซ้ำ นั่นคือปัดแสนเท่า
       
       ดังนั้น การคิดค่าบริการตามจริง จึงเป็นเรื่องของยุค 4G ด้วยเช่นกัน มิใช่เรื่องล้าสมัยแต่อย่างใด แต่เป็นหลักการสำหรับทุกยุคทุกสมัย คือ การไม่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่เป็นธรรมของสังคม การปัดเศษคือมรดกของยุคแอนะล็อก ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอลสามารถบันทึกการใช้งานได้แม้เสี้ยววินาที เราจะก้าวสู่ยุคดิจิตอล แต่ยอมถูกเก็บเงินแบบแอนะล็อกกันอยู่ทำไม
       
       แต่หากเกรงว่า จะกระทบรุนแรงต่อผู้ให้บริการ เราสามารถกำกับดูแลโดยให้เริ่มคิดค่าบริการโดยไม่ปัดเศษเฉพาะโปรใหม่ทุกโปร ส่วนโปรเก่าที่ปัดเศษนั้น เมื่อครบกำหนดก็เลิกไป ก็จะไม่ทำให้เกิดความโกลาหล เช่นเดียวกับที่เคยกำกับดูแลในกรณีการห้ามคิดค่าโทร.เกิน 99 สตางค์นั่นเอง และหากจำเป็น เราสามารถกำหนดอัตราค่าโทร.ขั้นต่ำได้ เช่นในสหภาพยุโรป กำหนดให้คิดเงินได้ 30 วินาทีแรกแม้จะใช้งานไม่ถึง เพื่อชดเชยต้นทุนคงที่ของการโทร. ส่วนที่เกิน 30 วินาทีให้คิดตามจริงเป็นวินาที หรือในบางประเทศมีการกำหนด interval ของการคิดค่าโทร.แทนวินาที เช่น หากใช้หลักการทศนิยม ก็จะคิดเงินทุก 6 วินาที (หนึ่งในสิบของนาที) แม้จะโทร.ไม่ถึง การปัดเศษจึงปัดได้ไม่เกิน 6 วินาที

       ในเรื่องนี้เราจึงหาทางออกได้ หากใช้เหตุผลเพื่อร่วมกันเดินไปข้างหน้าด้วยกัน แต่หากจะเหนี่ยวรั้งประเทศ หรือต่อต้านการปฏิรูป ต่อต้านข้อเสนอ ของ สปช. และ สปท. ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย
       
       อย่างไรก็ตาม ในประกาศประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz นั้น สำนักงาน กสทช. ได้แถลงอย่างชัดเจนว่า มีการกำหนดให้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง การพยายามบิดเบือนข้อความเพื่อให้คิดเป็นนาทีได้ จึงขัดกับประกาศประมูลซึ่งถือเป็นกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันจับตามองว่า อะไรที่จะมามีอิทธิพลเหนือกฎหมาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่